โชติวัฒน์อุตฯ เตรียมพร้อมขายหุ้น IPO 187.50 ล้านหุ้นหลัง ก.ล.ต.อนุมัติไฟลิ่ง

นายสมนึก โชติวัฒนะพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.โชติวัฒน์อุตสาหกรรมการผลิต (CMCF) เปิดเผยว่า บริษัทเตรียมพร้อมเสนอขายหุ้นสามัญแก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวนไม่เกิน 187,500,000 หุ้น หรือคิดเป็น 30% ของจำนวนหุ้นที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดภายหลังการเสนอขายหุ้น IPO หลังจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้อนุมัติแบบคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์และแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ (Filing) แล้ว

สำหรับหุ้นที่จะเสนอขายในครั้งนี้ ประกอบด้วย หุ้นสามัญเพิ่มทุนที่เสนอขายโดยบริษัทจำนวนไม่เกิน 125,000,000 หุ้น และหุ้นสามัญเดิมที่เสนอขายโดย CH Group Capital Limited จำนวนไม่เกิน 62,500,000 หุ้น

CMCF ดำเนินธุรกิจมากว่า 4 ทศวรรษ โดยเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารทะเลแปรรูปบรรจุกระป๋องและถุงสูญญากาศ ผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยงสำเร็จรูป (Pet Food) ผลิตภัณฑ์อื่นๆ และผลิตภัณฑ์พลอยได้จากการแปรรูปอาหารทะเล (By Product) เพื่อจำหน่ายแก่ลูกค้าทั่วโลก ภายใต้วิสัยทัศน์ที่จะเป็นผู้ผลิตสินค้าที่มีคุณภาพและน่าเชื่อถือ ในการพัฒนาและผลิตอาหารด้วยนวัตกรรมและมีความปลอดภัยให้กับสังคมโลก

ธุรกิจหลักแบ่งเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ 1.ธุรกิจผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารทะเลแปรรูปบรรจุกระป๋องและถุงสูญญากาศ ซึ่งเป็นสัดส่วนรายได้หลักกว่า 80% ของรายได้จากการขายรวม ประกอบด้วย ผลิตภัณฑ์แปรรูปจาก ปลาทูน่าและปลาทะเลอื่นๆ พร้อมรับประทาน (Standard Product) และผลิตภัณฑ์อาหารทะเลแปรรูปจากปลาทูน่าและปลาทะเลอื่นๆ แบบปรุงรสชาติพร้อมรับประทาน (Value-Added Product) 2.ธุรกิจผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยงสำเร็จรูป (Pet Food) 3.ธุรกิจผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์อื่นๆ และ 4.ธุรกิจผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์พลอยได้จากการแปรรูปอาหารทะเล (By Product) ได้แก่ ปลาป่นเพื่อเป็นอาหารปศุสัตว์

“ปัจจุบันเราถือได้ว่าเป็นผู้ผลิตและแปรรูปปลาทูน่าแบบครบวงจรรายใหญ่ของประเทศ โดยมีกำลังการผลิตอาหารทะเลแปรรูปบรรจุกระป๋องและถุงสูญญากาศ และผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยงสำเร็จรูปรวม 87,900 ตันน้ำหนักสุทธิ (Net Weight) ต่อปี สามารถผลิตสินค้าจำนวนมากและมีความหลากหลายด้วยต้นทุนการผลิตต่อหน่วยต่ำ โดยเราให้ความสำคัญกับการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ และการส่งมอบสินค้าที่ตรงต่อเวลาในราคาที่แข่งขันได้” นายสมนึก กล่าว

ทั้งนี้ ในปี 63 บริษัทฯ ได้รุกขยายฐานการผลิตในอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นแหล่งจับปลาทูน่าขนาดใหญ่ของโลกและเป็นแหล่งการประมงอย่างยั่งยืน (Sustainable Fishing) ที่สำคัญของโลก โดยเข้าถือหุ้น 49% ใน PT Lautindo Synergy Sejahtera หรือ LSS ซึ่งประกอบธุรกิจแปรรูปและจำหน่ายปลาทูน่าตัดแต่งแช่แข็ง มีกำลังการผลิต 12,700 ตันน้ำหนักสุทธิ (Net Weight) ต่อปี เพื่อนำมาใช้เป็นผลิตภัณฑ์ตั้งต้นในการผลิตปลาทูน่าแปรรูปของบริษัทฯ ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงในการจัดหาปลาและความเสี่ยงจากการขาดแคลนแรงงาน รวมถึงรองรับแผนงานรุกขยายตลาดในภูมิภาคเอเชีย ยุโรปและอเมริกาเหนือ

บริษัทวางกลยุทธ์การเติบโต โดยปัจจุบันเน้นการปรับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ไปยังกลุ่มอาหารสัตว์ระดับพรีเมี่ยมที่มีการแข่งขันด้านตลาดน้อยกว่าตลาดอื่นๆ ที่มีวัตถุดิบหลัก อาทิ อกไก่ เนื้อปลาแซลม่อน เนื้อปลาทูน่า น่องไก่ เพื่อผลิตอาหารสัตว์ประเภทแมวและสุนัข เป็นต้น โดยปัจจุบันผู้เลี้ยงสัตว์ให้ความสำคัญกับคุณภาพอาหารค่อนข้างมาก ในประเทศสหรัฐ ตะวันออกกลาง และสหภาพยุโรป

บริษัทมีแผนจะเพิ่มสัดส่วนรายได้จากผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์ และรายได้จากอาหารที่มีมูลค่าเพิ่มให้มากยิ่งขึ้น โดยคาดว่าสัดส่วนรายได้จะเพิ่มขึ้นเป็นไม่ต่ำกว่า 30% จากปัจจุบันที่ราว 20% เพื่อทำให้อัตราการทำกำไรมีทิศทางที่ปรับตัวสูงขึ้น พร้อมกันนี้ยังเป็นการลดการแข่งขันในผลิตภัณฑ์จากปลาทูน่าอื่นๆที่มีอัตราการเติบโตราว 5% ต่อปี แต่การแข่งขันอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูงมาก

นอกจากนี้ บริษัทจะสร้างรายได้เพิ่มขึ้นจากการผลิตและจำหน่ายสินค้าภายใต้แบรนด์ของบริษัทฯ ได้แก่ “เอ็มโปร” ผลิตภัณฑ์อาหารเหลวที่มีวัตถุประสงค์เฉพาะ (Functional Food) และมีคุณค่าทางโภชนาการ เจาะกลุ่มผู้ดูแลสุขภาพและผู้สูงวัย โดยเริ่มจำหน่ายแก่โรงพยาบาลในปีที่ผ่านมา และ ‘อีซี่ ควิก’ ผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปผลิตจากเนื้อสัตว์ ผัก และธัญพืชพร้อมรับประทาน เจาะกลุ่มลูกค้าองค์กรที่ต้องการอาหารสำเร็จรูปพร้อมทานเพื่อให้บริการหรือ จัดงานต่างๆ

ด้านนายสมบูรณ์ โชติวัฒนะพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน CMCF กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทมีโรงงานผลิตในประเทศ 2 แห่ง ที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ประกอบด้วย โรงงานผลิตอาหารทะเลแปรรูปบรรจุกระป๋องและถุงสูญญากาศ อาหารสัตว์เลี้ยงสำเร็จรูปและผลิตภัณฑ์อื่นๆ และโรงงานผลิตปลาป่นเพื่อเป็นอาหารปศุสัตว์ภายใต้การดำเนินงานของบริษัทย่อย รวมถึง โรงงานแปรรูปและจำหน่ายปลาทูน่าตัดแต่งแช่แข็งในอินโดนีเซียภายใต้การดำเนินงานของ LSS

ทั้งนี้ บริษัทให้ความสำคัญกับการพัฒนากระบวนการผลิตสินค้าภายในโรงงาน จนได้รับการรับรองมาตรฐานระดับสากลต่างๆ อาทิ ใบรับรองห่วงโซ่การคุ้มครอง (Chain of Custody) ตามมาตรฐานการรับรองอาหารทะเลจากการประมงธรรมชาติอย่างยั่งยืน (Marine Stewardship Council หรือ MSC), มาตรฐานโคเชอร์ (Kosher) รองรับตลาดในกลุ่มผู้บริโภคชาวยิวที่นับถือศาสนาจูดาย ฯลฯ และให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าว จึงเกิดเทรนด์การบริโภคอาหารทะเลแปรรูปบรรจุกระป๋องและถุงสูญญากาศ ที่ใช้วัตถุดิบจากการทำประมงอย่างยั่งยืน (Sustainable Seafood) การทำประมงที่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรมแปรรูปปลาทูน่า โดย Grand View Research องค์กรด้านการวิจัยระดับโลกประเมินว่าในปี 62 อุตสาหกรรมปลาทูน่าแปรรูปทั่วโลกมียอดขายรวม 11,721 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และจะเพิ่มขึ้นเป็น 17,331.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 70 หรือเติบโตเฉลี่ย 5% ต่อปี

“เราเป็นบริษัทที่ให้ความสำคัญกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากกระบวนการผลิต เช่น การบำบัดน้ำเสียและกำจัดสิ่งปฏิกูล โดยติดตั้งระบบบำบัดน้ำเสีย Anaerobic Fixed Film Reactor ที่ทันสมัยและประหยัดพลังงาน การนำก๊าซชีวภาพที่เกิดจากปฏิกิริยาย่อยสลายสารอินทรีย์ในน้ำเสียมาใช้ประโยชน์ในการอุ่นน้ำป้อนก่อนเข้าบอยเลอร์ ช่วยประหยัดเชื้อเพลิงในการผลิตไอน้ำ เพื่อสร้างการเติบโตไปพร้อมกับการดูแลสิ่งแวดล้อม” นายสมบูรณ์ กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 ก.ย. 64)

Tags: , , , , ,