โบรกฯเชียร์ ซื้อ CPALL ราคาหุ้น underperform นานแล้ว-เล็งผลงานฟื้นใน H2/64

โบรกเกอร์ต่างเชียร์”ซื้อ”หุ้นบมจ.ซีพี ออลล์ (CPALL) ราคาหุ้น underperform มานานแล้ว ทั้งที่ปัจจัยพื้นฐานมั่นคง และเป็นเบอร์ 1 ของร้านสะดวกซื้อ แม้จะได้รับผลกระทบจากการล็อกดาวน์หลังโควิดในประเทศระบาดหนัก แต่สุดท้ายก็เชื่อว่าจะควบคุมการแพร่ระบาดได้ ซึ่งก็ได้ให้น้ำหนักในช่วงปลายปีที่สถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 คลี่คลายลงได้ และมีความคาดหวังมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงปลายปีด้วย รวมถึงน่าจะได้แรงหนุนจากพ.ร.บ.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท

ส่วนผลดำเนินงานงวดไตรมาส 2/64 คาดว่าจะมีกำไรสุทธิในช่วง 1,829-2,117 ล้านบาท ลดลงทั้ง QoQ และลดลง YoY รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ในประเทศทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคไม่ดี และมีผลกระทบจากภาระต้นทุนดอกเบี้ยที่สูงขึ้นจากการปรับแหล่งที่มาของเงินทุนจากการซื้อโลตัส

อย่างไรก็ดี ผลประกอบการในช่วงครึ่งปีหลัง (H2/64) จะฟื้นตัวขึ้นจากครึ่งปีแรก (H1/64) หลังจากการฉีดวัคซีนได้มากขึ้น ประกอบกับมาตรการกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยและเพิ่มกำลังซื้อ การลดลงของลูกค้าเข้าร้านถูกชดเชยส่วนหนึ่งจากการขาย Delivery ของร้านเซเว่นฯ นอกจากนั้น การรีไฟแนนซ์คาดว่าจะประหยัดดอกเบี้ยจ่ายเกือบ 300 ล้านบาท/ไตรมาส ตั้งแต่ไตรมาส 3/64 เป็นต้นไป ขณะที่ส่วนแบ่งกำไรจากโลตัสคาดว่าจะค่อยๆ เร่งตัวดีขึ้นเช่นกันเมื่อการระบาดของโควิด-19 คลี่คลาย

พร้อมคาดปีนี้ (2564) จะมีกำไรสุทธิอยู่ในช่วง 11,843-14,000 ล้านบาท แต่คาดว่าจะกลับมาเติบโตดีในปี 2565 หลังจากที่เปิดประเทศได้ทำใหยอดขายกลับมา ซึ่งปีนี้คงจะเป็น Bottom แล้ว

หุ้น CPALL ปิดเช้าที่ 57.50 บาท ลดลง 1.50 บาท (-2.54%) ขณะที่ดัชนี SET ลบ 0.43 จุด

โบรกเกอร์ คำแนะนำ ราคาเป้าหมาย (บาท/หุ้น)
ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี ซื้อ 75.50
ธนชาต ซื้อ 75.00
เคทีบีเอสที  ซื้อ 74.00
ทิสโก้ ซื้อ 72.00
หยวนต้า ซื้อ 71.00
โนมูระ พัฒนสิน ซื้อ 68.00
เมย์แบงก์ กิมเอ็ง ซื้อ 67.00
 เอเชีย เวลท์  ซื้อ 67.00

นายอภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ บล.ทิสโก้ กล่าวว่า แม้ CPALL จะได้รับผลกระทบจากการล็อกดาวน์หลังโควิดในประเทศระบาดหนัก แต่สุดท้ายก็เชื่อว่าจะควบคุมการแพร่ระบาดได้ ซึ่งก็ได้ให้น้ำหนักในช่วงปลายปีที่สถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 คลี่คลายลงได้ และมีความคาดหวังมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงปลายปีด้วย รวมถึงน่าจะได้แรงหนุนจากพ.ร.บ.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท

ส่วนผลดำเนินงานงวดไตรมาส 2/64 คาดว่าจะมีกำไรสุทธิ 1,862 ล้านบาท ลดลง 28% QoQ และลดลง 36% YoY รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ในประเทศทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคไม่ดี และบางสาขาก็ปิดไปด้วย

อย่างไรก็ดี ปีนี้ (2564) คาดว่าจะมีกำไรสุทธิ 14,000 ล้านบาท ลดลง 13% YoY แต่คาดว่าจะกลับมาเติบโต 18% ในปี 2565 หลังจากที่เปิดประเทศได้ทำใหยอดขายกลับมา ซึ่งปีนี้คงจะเป็น Bottom แล้ว โดยมอง 6-12 เดือนข้างหน้าสถานการณ์น่าจะดีขึ้น

นอกจากนี้ ราคาหุ้น CPALL ก็ underperform มานานแล้ว ทั้งที่ปัจจัยพื้นฐานมั่นคง และเป็นเบอร์ 1 ของร้านสะดวกซื้อ

บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ฯคาดไตรมาส 2/64 CPALL จะมีกำไรราว 2 พันล้านบาท (-18%QoQ,-28%YoY) มีผลกระทบจากภาระต้นทุนดอกเบี้ยที่สูงขึ้นจากการปรับแหล่งที่มาของเงินทุนจากการซื้อโลตัส

จึงแนะนำ “ทยอยซื้อ” คาดผลประกอบการไตรมาส 2/64 ผ่านจุดต่ำสุด และคาดช่วงครึ่งปีหลัง (H2/64) แรงกดดันจากดอกเบี้ยจ่ายลด และคาดหวังการแพร่ระบาดโควิด-19 คลี่คลาย พร้อมมองปัจจัยเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังควบคุมไม่ได้ภาครัฐเพิ่มมาตรการเข้มข้นขึ้น

ด้านบล.เอเชีย เวลท์ ระบุคาดกำไรสุทธิไตรมาส 2/64 อยู่ที่ 1,829 ล้านบาท ลดลง 37%YoY และ 30%QoQ กำไรที่ลดลงเป็นผลมาจากค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยที่สูงขึ้นราว 1,000 ล้านบาท จากค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยที่เป็นค่าใช้จ่ายครั้งเดียวเกี่ยวกับ Bridging Loan ของดีลโลตัส ทำให้คาดค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยอยู่ที่ 3,901 ล้านบาท เป็นปัจจัยกดดันกำไรสุทธิไตรมาส 2/64 ขณะที่คาด SSSG ในช่วงไตรมาส 2/64 อยู่ที่ -1% เทียบกับไตรมาส 2/63 และไตรมาส 1/64 ที่ -20.2% และ -17.1% ตามลำดับ ทำให้คาดรายได้รวมอยู่ที่ 126,620 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3%YoY แต่ลดลง 2%QoQ

CPALL ยังได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และการแพร่ระบาดที่รุนแรงขึ้นหลังเทศกาลสงกรานต์ ส่งผลให้มีการ Work from Home การเรียนการสอนแบบออนไลน์ รวมถึงมาตรการช่วยเหลือผู้บริโภคของรัฐบาล (เราชนะ และ ม.33 เรารักกัน) เป็นปัจจัยกดดันผลประกอบการ คาดอัตรากำไรขั้นต้นไตรมาส 2/64 ทรงตัว YoY และ QoQ โดยคาดอัตรากำไรขั้นต้นไตรมาส 2/64 อยู่ที่ 21.5% ใกล้เคียงกับไตรมาส 2/63 และไตรมาส 1/64 ที่ 21.5% และ 21.2% ตามลำดับ จากโปรโมชั่นกระตุ้นยอดขายกดดันอัตรากำไรและสัดส่วนยอดขายของ MAKRO ที่เพิ่มขึ้น (อัตรากำไรต่ำ)

พร้อมปรับประมาณการกำไรสุทธิปี 2564-2565 ลง 19% และ 9% เป็น 11,843 ล้านบาท และ 16,268 ล้านบาท ตามลำดับ จากการปรับประมาณการรายได้รวมปี 2564-2565 ลง 5% และ 6% เป็น 520,254 ล้านบาท และ 545,183 ล้านบาท ตามลำดับ เพื่อสะท้อนกำลังซื้อที่ยังชะลอตัว จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่

ทั้งนี้ ยังแนะนำ “ซื้อ” เนื่องจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่รุนแรงและรวดเร็ว ส่งผลให้มีมาตรการควบคุมโรคระบาดในช่วง ก.ค. 64 อีกครั้ง อย่างไรก็ตามการกระจายวัคซีนที่เพิ่มขึ้น คาดจะทำให้ผลประกอบการในช่วงครึ่งปีหลัง (H2/64) ฟื้นตัว ทั้งนี้คาดว่ากำไรสุทธิปี 2564 จะหดตัว 26%YoY และฟื้นตัว 33%YoY ในปี 2565 พร้อมปรับไปใช้ราคาเป้าหมายปี 2565 ได้มูลค่าเหมาะสมที่ 67.00 บาท อิง PER ที่ 37 เท่า

ส่วนบล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) ระบุคาดไตรมาส 2/64 อัตรากำไรขั้นต้นลดลง 12 bps YoY เป็น 21.4% เนื่องจากสัดส่วนสินค้าที่มีอัตรากำไรต่ำเพิ่มขึ้นจากการขายสินค้าแพคใหญ่ และสัดส่วนยอดขายของ MAKRO เพิ่มขึ้น ค่าใช้จ่ายทางการเงินคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 79% YoY เป็น 3,532 ล้านบาท จากการที่หนี้สินเพิ่มขึ้นจาก Bridging loan ที่ใช้ในการซื้อโลตัส อีกทั้งการรีไฟแนนซ์ Bridging loan ดังกล่าวเป็นหุ้นกู้ซึ่งทำให้มีค่าใช้จ่ายพิเศษในไตรมาส 2/64 ขณะที่ส่วนแบ่งกำไรจากโลตัสยังน้อยเนื่องจากยอดขายชะลอลง อีกทั้งมีค่าใช้จ่ายการ Rebranding และการปรับระบบบริหาร จึงคาดกำไร CPALL ในไตรมาส 2/64 ลดลง 17% QoQ และ 27% YoY เป็น 2,117 ล้านบาท

อย่างไรก็ดี ผลประกอบการในช่วงครึ่งปีหลัง (H2/64) จะฟื้นตัวขึ้นจากครึ่งปีแรก (H1/64) หลังจากการฉีดวัคซีนได้มากขึ้น ประกอบกับมาตรการกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยและเพิ่มกำลังซื้อ การลดลงของลูกค้าเข้าร้านถูกชดเชยส่วนหนึ่งจากการขาย Delivery ของร้านเซเว่นฯ ซึ่งเพิ่มจาก 1% เป็น 10% ของยอดขาย นอกจากนั้น การรีไฟแนนซ์คาดว่าจะประหยัดดอกเบี้ยจ่ายเกือบ 300 ล้านบาท/ไตรมาส ตั้งแต่ไตรมาส 3/64 เป็นต้นไป ขณะที่ส่วนแบ่งกำไรจากโลตัสคาดว่าจะค่อยๆ เร่งตัวดีขึ้นเช่นกันเมื่อการระบาดของโควิด-19 คลี่คลาย

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (02 ส.ค. 64)

Tags: , , , ,