โบรกฯเชียร์ ซื้อ CPN เล็งผลงานทยอยฟื้นหลังคลายล็อกดาวน์-รับผลดีจากซื้อ SF

โบรกฯต่างเชียร์”ซื้อ”หุ้น บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา (CPN) เล็งผลดำเนินงานทยอยฟื้นตัวขึ้นหลังคลายล็อกดาวน์ เปิดให้บริการห้างสรรพสินค้าได้ เริ่มวันที่ 1 ก.ย.นี้ เป็นต้นไป ส่งผลดีต่อผลประกอบการที่จะค่อย ๆ ฟื้นตัวดีขึ้น โดยมองระยะแรกผู้ใช้บริการ หรือ Traffic จะยังไม่มาก เนื่องจากยังมีหลายพื้นที่ที่ยังไม่สามารถเปิดให้บริการได้ แต่จะทยอยเพิ่มขึ้นและเห็นได้ชัดเจนในไตรมาส 4/64 จากการฉีดวัคซีนเข็ม 2 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่คาดจะครบทุกคนได้ในปลายปีนี้ และตามต่างจังหวัดก็จะฉีดได้มากขึ้นเช่นกัน ทำให้สามารถสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภคได้

อีกทั้งการเข้าซื้อหุ้นใน SF ก็คาดว่าจะเป็นผลดีในระยะยาว ที่อาจเห็นการพัฒนาทรัพย์สิน ที่ดิน ในอนาคต และยังทำให้ธุรกิจศูนย์การค้าของ CPN นั้นมีความหลากหลายมากขึ้น

หุ้น CPN ปิดเช้าที่ 53 บาท ลดลง 1.00 บาท (-1.85%) ขณะที่ดัชนี SET ปิดเช้าบวก 5.99 จุด

โบรกเกอร์ คำแนะนำ ราคาเป้าหมาย (บาท/หุ้น)
กสิกรไทย ซื้อ 58.50
หยวนต้า ทยอยซื้อ 59.00
ฟิลลิป ซื้อ 56.00
เอสบีไอ ไทยออนไลน์  ซื้อ 60.00
เมย์แบงก์ กิมเอ็ง ซื้อ 60.00

นายสรพงษ์ จักรธีรังกูร ผู้อำนวยการอาวุโส บล.กสิกรไทย เปิดเผยว่า หลังจากรัฐบาลปลดล็อกเฟสแรก ให้ห้างสรรพสินค้าสามารถเปิดดำเนินการได้ ก็มั่นใจว่าห้างสรรพสินค้าของ CPN ที่ปิดอยู่ จะกลับมาเปิดให้บริการได้ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.นี้เป็นต้นไป ทำให้ส่งผลดีต่อการรับรู้รายได้ เนื่องด้วยในช่วงที่ผ่านมามีการปิดให้บริการห้างสรรพสินค้า จำนวน 19 แห่ง ที่อยู่ใน 29 จังหวัดที่เป็นพื้นที่สีแดง โดยในส่วนนี้มีพื้นที่เช่าคิดเป็น 62% ซึ่งมีการเปิดพื้นที่เช่าอยู่เพียง 10-15% เช่น ซุปเปอร์มาร์เก็ต, ร้านยา และสถาบันการเงิน เป็นต้น ทำให้ปัจจุบัน CPN มีผลขาดทุนในระดับพันล้านบาท แม้ว่าจะมีห้างสรรพสินค้าอีก 14 แห่งที่เปิดให้บริการได้ แต่การออกมาจับจ่ายใช้สอยก็ไม่ได้ดีมาก และไม่ได้ชดเชยในส่วนของผลขาดทุนที่เกิดขึ้นได้

ทั้งนี้ มองการกลับมาเปิดห้างสรรพสินค้าในครั้งนี้ อย่างน้อยผลขาดทุนก็จะหายไป แต่การเปิดรอบนี้ แม้จะมองเป็นบวก แต่ก็มีความกังวลต่อตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ยังอยู่ในระดับสูง หากเปิดแล้วกลับมาระบาดเพิ่มอีก ก็มีความเสี่ยงที่จะกลับมาล็อกดาวน์อีกรอบ ขณะเดียวกันก็ยังกังวลในเรื่องของ Traffic จากหลายๆ ร้านก็ยังคงปิดอยู่ เช่น โรงภาพยนตร์, สถาบันกวดวิชา, Convention center และฟิตเนส เป็นต้น ทำให้จะมีพื้นที่ที่กลับมาเปิดคิดเป็น 90% ของพื้นที่ทั้งหมดเท่านั้น

พร้อมกันนี้คาดว่า Traffic ในช่วงแรกคงไม่ได้อยู่ในระดับที่สูงมาก เนื่องจากจะค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้นมามากกว่า ซึ่งในส่วนนี้ก็จะขึ้นอยู่กับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่จะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ โดยคาดว่าจะมีการฉีดวัคซีนเข็มที่สองของคนในกรุงเทพฯ ได้ครบทั้งหมดในช่วงไตรมาส 4/64 และทั่วประเทศจะได้ทั้งหมดประมาณ 26% ทำให้จะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคมากขึ้น รวมถึงจำนวนผู้ติดเชื้อก็อาจจะลดลง

ขณะที่คาดผลประกอบการไตรมาส 3/64 น่าจะถึงจุดต่ำสุดแล้ว หรืออยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับไตรมาส 2/63 ก่อนที่ในไตรมาส 4/64 จะพลิกฟื้นกลับขึ้นไป หรืออยู่ในระดับที่ใกล้เคียงระดับปกติได้ เนื่องด้วยโดยปกติไตรมาส 4 จะลดลงจากไตรมาส 3 จากมีการจัดงานต่างๆ แต่ปีนี้คงไม่น่าจะจัดงานได้มากเมื่อเทียบกับปีก่อนๆ ทำให้ Bottom line น่าจะดูดีพอสมควร

“เราคาดว่าไตรมาส 3/64 น่าจะใกล้เคียงกับไตรมาส 2/63 เนื่องจากมีการปิดห้างสรรพสินค้าที่ใกล้เคียงกันราว 2 เดือน และการเปิดห้างในเดือนก.ย.นี้ เต็มเดือน ก็จะสามารถไปกลบในส่วนที่ขาดทุนในช่วง 2 เดือนแรกได้ รวมถึงในเดือนแรกก็ไม่ได้ปิดทั้งหมดด้วย เพิ่งจะมาปิดวันที่ 10 ก.ค.64 ทำให้ก้ำกึ่งอยู่ในระดับ บวก/ลบ Break event และด้วยการที่ CPN มี Accounting Income เข้ามา ที่เกี่ยวกับเรื่องพระราม 2 ราว 300 กว่าล้านบาท จึงหนุน Bottom line ให้ใกล้เคียงกับปีก่อน จึงทำให้คาดว่าไตรมาส 3 นี้ CPN จะไม่ขาดทุน”นายสรพงษ์ กล่าว

นายสรพงษ์ กล่าว

อย่างไรก็ตามยังมีมุมมองบวกกับประเด็นการกลับมาเปิดห้างสรรพสินค้า แม้อาจจะมีความกังวลเล็กน้อย แต่เชื่อว่าการปิดอีกครั้งก็ไม่ได้เป็นเรื่องที่ง่าย เพราะมีการเปิดๆ ปิดๆ ก็อาจกระทบต่อความมั่นใจผู้บริโภค ทำให้มั่นใจว่าโอกาสที่จะปิดใหม่อีกรอบ ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ ก็คงไม่เกิดขึ้น รวมถึง CPN ก็มีการบริหารจัดการได้ดี

ด้านน.ส.วิชชุดา ปลั่งมณี ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) มองแนวโน้มการดำเนินงานของ CPN ในครึ่งปีหลังนี้ โดยการล็อกดาวน์ในช่วงไตรมาส 3/64 คงจะมีผลกระทบกับ CPN เนื่องจากมีการลดค่าเช่า แต่จะกลับมาฟื้นตัวดีขึ้นในไตรมาส 4/64 จากปัจจุบันเริ่มเห็นการปลดล็อกดาวน์ โดยให้ห้างสรรพสินค้ากลับมาเปิดให้บริการได้ ก็น่าจะเป็นผลดีต่อ CPN โดยคาด Traffic หรือผู้ที่เข้ามาให้บริการในห้างสรรพสินค้าจะทยอยเพิ่มขึ้น และถ้าไม่มีการปรับมาตรการใหม่ หลังจากปลดล็อกดาวน์ไปแล้ว ยอดผู้ติดเชื้อปรับตัวลดลง และการฉีดวัคซีนมีความคืบหน้ามากขึ้น ก็น่าจะเห็นตัวเลขผลประกอบการในไตรมาส 4/64 ฟื้นตัวขึ้น

“การที่มีการผ่อนปรนมาตรการ ก็ถือว่า CPN อยู่ในโซนที่ดีกว่าตอนแรก ที่ไม่รู้ว่าจะผ่อนปรนเมื่อไหร่ ซึ่งอาจจะไปปลายปีเลย แต่ปัจจุบันคือเดือนก.ย. ก็ถือว่า CPN มีภาพที่ดีขึ้น แต่ก็ยังคงต้องติดตามสถานการณ์โควิด-19 อย่างต่อเนื่อง” น.ส.วิชชุดา กล่าว

น.ส.วิชชุดา กล่าว

จึงแนะนำให้ทยอยซื้อสะสม หาก Traffic ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง มีการฉีดวัคซีนได้มากขึ้น คาดว่าในปี 65 น่าจะเห็นการฟื้นตัวกลับมามากขึ้น และหากสายการบินเริ่มเปิดให้บริการ มีการเดินทางโดยเฉพาะการเดินทางเข้ามาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่เข้ามาท่องเที่ยวในบางจังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว ก็น่าจะเป็นบวกต่อ CPN ในปลายปีนี้ และปี 65

ส่วนการเข้าซื้อหุ้นใน บมจ.สยามฟิวเจอร์ดีเวลอปเมนท์ (SF) จากบมจ.เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ๊ป (MAJOR) ในสัดส่วน 30.36% มองว่าจะส่งผลดีต่อ CPN ในระยะยาว จากมีโอกาสในการพัฒนาที่ดิน และทรัพย์สินทั้งในส่วนที่เป็นเมกาบางนา หรือที่อื่นๆ เพิ่มเติม

สำหรับประมาณการกำไรสุทธิปี 64 จะอยู่ที่ 8.3 พันล้านบาท และปี 65 อยู่ที่ 8.1 พันล้านบาท ตามลำดับ ซึ่งได้แรงหนุนจากธุรกิจศูนย์การค้าที่สามารถเปิดทำการได้ดีขึ้นภายหลังการกระจายวัคซีนอย่างต่อเนื่องทำให้สถานการณ์ โควิด-19 คลี่คลาย และการจับจ่ายใช้สอยเริ่มกลับมาได้บ้าง โดยคาดหวังมีโอกาสเกิดขึ้นในไตรมาส 4/64 อย่างไรก็ตามประมาณการดังกล่าวยังไม่ได้รวมการลงทุนใน SF

ส่วนบล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ฯว่า CPN ระยะยาวยังดี จากการบังคับใช้มาตรการที่เข้มข้นขึ้นใน 29 จังหวัดพื้นที่สีแดงเข้ม แม้ทางฝ่ายกังวลผลดำเนินงานไตรมาส 3/64 อาจอ่อนตัว แต่ด้วยความหวังบวกต่อสถานการณ์โควิด-19 ที่คาดดีขึ้นในไตรมาส 4/64 จากวัคซีนโควิดที่ทยอยเข้ามา บวกกับพื้นฐานธุรกิจของ CPN ที่พร้อมฟื้นตัวได้ทันทีหลังสถานการณ์คลี่คลาย ตลอดจนการเป็นผู้นำธุรกิจศูนย์การค้าที่มีความหลากหลายขึ้นหลังการเข้าซื้อ SF

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (31 ส.ค. 64)

Tags: , , , , ,