โบรกฯเชียร์ ซื้อ ICHI เล็งกำไร Q2/64 โตดี จากออกสินค้าใหม่-ธุรกิจ OEM หนุน

โบรกเกอร์ต่างเชียร์”ซื้อ”หุ้น บมจ.อิชิตัน กรุ๊ป (ICHI) เล็งกำไรไตรมาส 2/64 โตสวนกระแสโควิด-19 จากการออกสินค้าใหม่เครื่องดื่มผสมเทอร์ปีน (Greenlab) ซึ่งจะรับรู้รายได้เป็นไตรมาสแรก และธุรกิจ OEM เริ่มรับรู้รายได้จาก Vitmores+ เป็นไตรมาสแรกเช่นกัน รวมไปถึงช่องทาง Traditional Trade ยอดขายชาเขียวไซส์เล็กในประเทศยังเติบโตได้ดี

แนวโน้มช่วงครึ่งหลังปี 64 (H2/64) คาดเติบโตต่อเนื่อง จากรับรู้รายได้ลูกค้า OEM และยังมีออเดอร์ OEM จากลูกค้าต่างประเทศอย่าง Asahi เข้ามาอีกด้วย และในไตรมาส 4/64 จะเริ่มเห็นผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับพืชกัญชง โดยพาร์ทเนอร์ของ ICHI ที่เป็นโรงสกัดรายใหญ่ในประเทศก็ได้รับใบอนุญาตเรียบร้อยแล้ว

รวมไปถึงจุดแข็งด้าน Capacity ที่ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 50-60% และเหลืออีก 40% ทำให้มีโอกาสในการผลิตสินค้าแบรนด์ตัวเองหรือจะรับจ้าง OEM เพิ่ม โดยไม่ต้องลงทุนอีก ซึ่งจะส่งผลดีต่อทั้งกำไรสุทธิและกำไรขั้นต้น

หุ้น ICHI ปิดเช้าที่ 12.00 บาท เพิ่มขึ้น 0.10 บาท (+0.84%) ขณะที่ดัชนี SET ปิดเช้าลบ 0.19%

โบรกเกอร์ คำแนะนำ ราคาเป้าหมาย (บาท/หุ้น)
หยวนต้า ซื้อ 17.00 
เมย์แบงก์ กิมเอ็ง ซื้อ 16.60
ทิสโก้ ซื้อ 16.60
เอสบีไอ ไทย ออนไลน์ ซื้อ 16.80

นายธีร์ธนัตถ์ จินดารัตน์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล. หยวนต้า (ประเทศไทย) กล่าวว่า แนวโน้มผลประกอบการไตรมาส 2/64 จะเติบโตสวนกระแสโควิดได้ โดยคาดกำไรปกติที่ 149 ล้านบาท (+23.9%QoQ, +2.5%YoY) เป็นผลมาจากการออกสินค้าใหม่เครื่องดื่มผสมเทอร์ปีน (Greenlab) ซึ่งจะรับรู้รายได้เป็นไตรมาสแรก ช่วยหนุนรายได้กลุ่ม Non Tea เพิ่มเป็นราว 120 ล้านบาท

ขณะที่ธุรกิจ OEM เริ่มรับรู้รายได้จาก Vitmores+ เป็นไตรมาสแรกเช่นกันราว 25 ล้านบาท และแม้ช่องทางจำหน่าย Modern trade จะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 รอบใหม่ แต่ช่องทาง Traditional Trade ยอดขายชาเขียวไซส์เล็กในประเทศยังคงเติบโตได้ดี

ด้านผลประกอบการไตรมาส 3/64 แม้จะเป็นช่วง Low Season แต่จะสามารถรับรู้รายได้เต็มไตรมาสจากลูกค้า OEM ที่เริ่มเข้ามาในไตรมาสก่อน และยังมีออเดอร์ OEM จากลูกค้าต่างประเทศอย่าง Asahi เข้ามาอีกด้วย และในไตรมาส 4/64 จะเริ่มเห็นผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับพืชกัญชง โดยพาร์ทเนอร์ของ ICHI ที่เป็นโรงสกัดรายใหญ่ในประเทศก็ได้รับใบอนุญาตเรียบร้อยแล้ว รวมไปถึงจุดแข็งด้าน Capacity ที่ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 50-60% และเหลืออีก 40% ทำให้มีโอกาสในการผลิตสินค้าแบรนด์ตัวเองหรือจะรับจ้าง OEM เพิ่ม โดยไม่ต้องลงทุนอีก ซึ่งจะส่งผลดีต่อทั้งกำไรสุทธิและกำไรขั้นต้น

อย่างไรก็ตาม ยังคงมีประเด็นกดดันจากการระบาดโควิด-19 ในประเทศและในอินโดนีเซีย ซึ่งอาจจะกระทบ Sentiment ในการบริโภคได้ แต่จากการที่บริษัทมีรายได้จากการ OEM รวมไปถึงการลดค่าใช้จ่ายด้านการตลาดลง และราคาน้ำมันที่คาดว่าจะปรับลดลงในไตรมาส4/64 ทำให้ต้นทุนขวดพลาสติกลดลงตาม น่าจะช่วยให้ทาง ICHI ยังสามารถรักษากำไรได้อยู่

ด้านบล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ฯคาดกำไรปกติของ ICHI ไตรมาส 2/64 ที่ 155 ล้านบาท (+7%YoY, +29%QoQ) หลังยอดขายยังเติบโตได้ดีแม้เจอโควิด-19 ด้วยปัจจัยเฉพาะตัว ทั้งการออกสินค้าใหม่ และการรับรู้รายได้ OEM เป็นไตรมาสแรก รวมไปถึงช่องทาง Traditional trade ที่เติบโตดีจากมาตรการคนละครึ่งของภาครัฐ อีกทั้งตลาดส่งออกหลักอย่างกัมพูชาเริ่มฟื้นตัว +25%QoQ จากการร่วมทำโปรโมชั่นกับ Distributor และในกัมพูชามีอัตราการฉีดวัคซีนได้ไวกว่าไทยที่ 32% ของประชากร ทำให้ภาพรวมคาดเห็นอัตราการใช้กำลังผลิตสูงขึ้น หนุน GPM ขยายตัว

สำหรับแนวโน้มช่วงที่เหลือของปีแม้จะเจอผลกระทบโควิด-19 แต่คาดเห็นการเติบโต YoY ทุกไตรมาสทั้งจากการรับรู้รายได้ OEM จาก Asahi ในไตรมาส 3/64 และด้านตลาดอินโดนีเซีย ยังมั่นใจเป้าส่วนแบ่งกำไรปีนี้อย่างน้อย 30 ล้านบาท จากล่าสุดได้ Product Champion ตัวที่สองคือ Brown Sugar Milk ซึ่งกำลังอยู่ในเฟสขยายช่องทางจัดจำหน่ายเพิ่ม รวมไปถึง Upside ในสินค้ากัญชงจากทั้งของบริษัทเองและของลูกค้า OEM ที่จะเข้ามาเสริมช่วงไตรมาส 4/64

ส่วนบล.ทิสโก้ ระบุในบทวิเคราะห์ฯคาดกำไรสุทธิไตรมาส 2/64 จะอยู่ที่ 169 ล้านบาท (+7%YoY, +37%QoQ) ซึ่งเติบโตมากสุดในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ด้านรายได้อยู่ที่ 1,493 ล้านบาท (+9%YoY, +16%QoQ) จาก ยอดขายในประเทศที่เพิ่มขึ้น ในกลุ่มสินค้าขนาดเล็ก 10 บาท ผ่านช่องทาง Traditional Trade ซึ่งได้ผลดีจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ เช่น โครงการเราชนะ โครงการม.33 เรารักกัน และโครงการคนละครึ่ง

ด้านยอดส่งออกกลุ่ม CLMV ลดลง -32%YoY จากปีที่ผ่านมาฐานสูง แต่เพิ่มขึ้น 22%QoQ เนื่องจากการระบาดโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย คาดอัตรามาร์จิ้นอยู่ที่ 22% เพิ่มขึ้นจาก 21.5%YoY และ 17.3%QoQ ตามกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นคาด 60% จากไตรมาส 1/64 อยู่ที่ 50% และค่าใช้จ่ายการขายและบริหารต่อยอดขายอยู่ที่ 9% เพิ่มขึ้นจาก 8.3%YoY,7.5%QoQ จากการทำการตลาดสินค้าใหม่เพิ่มขึ้น คาดบริษัทรับรู้กำไรจากบริษัทร่วมทุนในอินโดนีเซียจำนวน 1 ล้านบาท จาก 14 ล้านบาท QoQ เนื่องจากการทำตลาดสินค้าใหม่ “Ichitan Brown Sugar Milk” ในอินโดนีเซีย

แนวโน้มช่วงครึ่งหลังปี 64 (H2/64) คาดเติบโตต่อเนื่องจากการเตรียมออกสินค้าใหม่ การรับจ้างผลิต OEM อีก 1 ราย จากกลุ่ม Asahi ที่เลื่อนมาในช่วงครึ่งปีหลังและสินค้ากลุ่มเครื่องดื่มผสมกัญชง โดยยังคงประมาณการเดิม คาดกำไรสุทธิปี 64-65 อยู่ที่ 697 ล้านบาท (+35%YoY) และ 848 ล้านบาท (+22%YoY) จากการคาดยอดขายเครื่องดื่มชาเขียวเพิ่มขึ้นปีละ 3% และธุรกิจ OEM คาดรายได้ 300 ล้านบาท จากลูกค้า OEM รายใหญ่ 2 ราย ในเครือ King Power และ กลุ่ม Asahi และปีถัดไปเพิ่มปีละ 10% รวมไปถึงยอดขายเครื่องดื่มผสมน้ำวิตามินปี 64 รับรู้เต็มปีที่ 800 ล้านบาท และปีถัดไปเพิ่มขึ้นปีละ 10% อีกทั้งเครื่องดื่มผสมเทอร์ปีนและเครื่องดื่มผสมสาร CBD คาดรายได้ปีนี้ที่ 500 ล้านบาท และปีถัดไปรับรู้รายได้เต็มปีคาด 1,000 ล้านบาท

ด้านอัตรามาร์จิ้นปี 64-65 คาดอยู่ที่ 21.5-22% จากปี 63 ที่ 19.7% จากกำลังผลิตที่เพิ่มขึ้นจากกลุ่มสินค้าใหม่และการรับจ้าง OEM คาดค่าใช้จ่ายการขายเพิ่มขึ้นจากการทำตลาดสินค้าใหม่อยู่ที่ 9% จาก 8%YoY

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 ก.ค. 64)

Tags: , , , , , ,