โรแยล พลัส ยื่นไฟลิ่งขาย IPO 170 ล้านหุ้น ใช้ลงทุนขยายโรงงาน-เครื่องจักร

นายพลแสง แซ่เบ๊ กรรมการผู้อำนวยการ บมจ.โรแยล พลัส (PLUS) เปิดเผยว่า บริษัทได้ยื่นแบบคำขอเพื่อเสนอขายหลักทรัพย์ (Filing) เพื่อเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยมี บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน โดยกำหนดจะเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้กับประชาชนครั้งแรก (IPO) จำนวน 170 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 0.50 บาท สนับสนุนให้ทุนจดทะเบียนเพิ่มขึ้นเป็น 335 ล้านบาท จากเดิม 250 ล้านบาท เพื่อเสริมศักยภาพการผลิตในฐานะผู้ส่งออกเครื่องดื่มที่ได้รับการยอมรับจากหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งในปัจจุบัน PLUS มี 4 สายการผลิต สามารถรองรับการผลิตสูงสุดได้ 158.2 ล้านขวดต่อปี

วัตถุประสงค์หลักในการระดมทุนครั้งนี้ เพื่อลงทุนในโครงการขยายโรงงานและลงทุนเครื่องจักรเพิ่มเติม รวมทั้งจ่ายคืนหนี้สินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการประกอบธุรกิจ รองรับการเติบโตของ PLUS ในอนาคต อีกทั้งเป็นการยกระดับมาตรฐานของ PLUS สู่ระดับสากล เพิ่มความน่าเชื่อถือในด้านภาพลักษณ์ ให้เป็นที่ยอมรับของลูกค้าและคู่ค้า รวมถึงเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน

PLUS เป็นหนึ่งในผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มรายใหญ่ โดยมีการผลิตและขายสินค้าใน 2 ลักษณะ ทั้งการรับจ้างผลิต (OEM) และภายใต้แบรนด์ที่ PLUS พัฒนาเอง (Company Brand) เพื่อขยายตลาด และตอบโจทย์ธุรกิจตามแผนการเติบโตในระยะยาว

สินค้าแบ่งเป็น 2 กลุ่มหลัก คือ กลุ่มน้ำผลไม้ มีสัดส่วนประมาณ 98% ของรายได้จากการขายทั้งหมด โดยเครื่องดื่มกลุ่มน้ำมะพร้าวเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการตอบรับสูงสุด ได้แก่ เครื่องดื่มน้ำมะพร้าวและเครื่องดื่มน้ำนมมะพร้าว ภายใต้แบรนด์ Coco Royal เครื่องดื่มน้ำผลไม้ผสมเม็ดแมงลักและเครื่องดื่มน้ำผลไม้ผสมเมล็ดเชีย แบรนด์ Nita และเครื่องดื่มน้ำผลไม้ผสมอื่น ๆ ภายใต้แบรนด์ Coco Royal และ Mabu นอกจากนี้ กลุ่มเครื่องดื่มทั่วไป ได้แก่ ชานม แบรนด์ Mabu เครื่องดื่มวิตามิน แบรนด์ C-Boom และเครื่องดื่มอื่นๆ เช่น นมถั่วเหลือง เครื่องดื่มกาแฟผสมน้ำนมมะพร้าว แบรนด์ Coco Coff

อย่างไรก็ดี จากกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจส่งออกสินค้าไปทั่วโลก ส่งผลให้ PLUS มีรายได้จากการขายอยู่ในรูปสกุลเงินต่างประเทศในสัดส่วนสูง ซึ่งแม้ว่าค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าตั้งแต่ปี 61 แต่รายได้ของ PLUS ระหว่างปี 61-63 ยังสามารถเติบโตต่อเนื่องเฉลี่ยต่อปี (CAGR) ที่ 11.9% สาเหตุมาจากความสามารถในการตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้รวดเร็ว รวมถึงการขยายฐานลูกค้าสำหรับตลาดใหม่ สินค้าของ PLUS มีรสชาติที่ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค

โดย PLUS มีสัดส่วนรายได้จากการส่งออกเป็นหลักในปี 63 และในช่วงครึ่งปีแรกของปี 64 อยู่ที่ 98.9% และ 98.7% ตามลำดับ ประเทศคู่ค้าหลักอยู่ในทวีปต่างๆ ได้แก่ ทวีปอเมริกา ทวีปเอเชีย และทวีปยุโรป ทั้งนี้ PLUS ได้รับการรับรองคุณภาพที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากลหลายรายการ ได้แก่ ISO 22000, FSSC 22000, GMP, HACCP และ FDA Standard

ด้านภาพรวมผลการดำเนินงานในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา มีรายได้จากการขาย 786.4 ล้านบาท 891.4 ล้านบาท และ 1,102.8 ล้านบาทตามลำดับ เนื่องจากการเติบโตของผลิตภัณฑ์กลุ่มน้ำมะพร้าว และคำสั่งซื้อของลูกค้าทวีปอเมริกาเพิ่มขึ้น ขณะที่มีกำไรสุทธิ 1.3 ล้านบาท 11.7 ล้านบาท และ 57.2 ล้านบาท ตามลำดับ สาเหตุหลักมาจากการควบคุมต้นทุนและค่าใช้จ่ายที่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งมุ่งเน้นการบริหารจัดการภายในที่ดี การขายสินค้าที่มีอัตรากำไรขั้นต้นสูงเพิ่มขึ้น และค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยที่ลดลงจากภาระหนี้เงินกู้สถาบันการเงินที่ลดลง ส่งผลให้มีทิศทางกำไรเติบโตโดดเด่น

ขณะที่ผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งปีแรก 64 มีรายได้จากการขายอยู่ที่ 486.1 ล้านบาท และกำไรสุทธิเติบโตต่อเนื่องอยู่ที่ 38.4 ล้านบาท มีอัตรากำไรขั้นต้น 26.0% และอัตรากำไรสุทธิ 7.8%

ภายหลังการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ PLUS คาดว่าจะนำเงินที่ได้จากการระดมทุนไปใช้เพิ่มศักยภาพในการผลิต นำเสนอผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ และแผนการขยายตลาดให้ครอบคลุม ยกระดับ PLUS สู่มาตรฐานสากล เพิ่มความน่าเชื่อถือ และภาพลักษณ์ให้เป็นที่ยอมรับของลูกค้าและคู่ค้า เพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน ในฐานะบริษัทจดทะเบียนที่ดำเนินกิจการภายใต้หลักบรรษัทภิบาล มีความโปร่งใส รวมทั้งการต่อยอดด้านการพัฒนาบุคลากร เพื่อเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 ต.ค. 64)

Tags: , , , , ,