BAY คาดกรอบเงินบาทสัปดาห์นี้ 32.75-33.10 ตลาดรอผลประชุมเฟด-GDP สหรัฐ

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) เผยมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 32.75-33.10 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิดอ่อนค่าที่ 32.92 บาท/ ดอลลาร์ หลังซื้อขายในกรอบ 32.78-32.94 บาท/ดอลลาร์ โดยระหว่างสัปดาห์เงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบกว่า 15 เดือน เงินดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินสำคัญส่วนใหญ่ในสัปดาห์ที่ผ่านมาท่ามกลางบรรยากาศการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงซึ่งเป็นไปอย่างผันผวน โดยเงินยูโรแตะระดับต่ำสุดในรอบ 3 เดือนครึ่ง

ขณะที่ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) มีมติคงนโยบายแต่ให้คำมั่นว่าจะตรึงดอกเบี้ยไว้ที่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์นานขึ้น ถึงแม้อีซีบีมองว่าความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจอยู่ในภาวะสมดุล แต่มีปัจจัยเสี่ยงจากการแพร่ระบาดรอบใหม่ ทางด้านอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปี ของสหรัฐฯแตะจุดต่ำสุดตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ขณะตลาดกังวลกับแรงส่งของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯหลายรายการในระยะนี้ออกมาอ่อนแอกว่าที่ตลาดคาดไว้ ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้นไทย 6,203 ล้านบาท แต่ซื้อพันธบัตรมูลค่า 8,719 ล้านบาท

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ฯ มองว่า จุดสนใจหลักของตลาดการเงินโลกจะอยู่ที่การประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ในวันที่ 27-28 ก.ค.64 ซึ่งคาดว่าจะคงนโยบายและส่งสัญญาณเกี่ยวกับแนวทางการลดขนาดโครงการซื้อสินทรัพย์ในระยะถัดไป โดย BAY คาดว่าการประชุมครั้งนี้และเวที Jackson Hole Symposium ในเดือน ส.ค.64 เฟดจะปูทางอย่างชัดเจนมากขึ้นสู่การเริ่มปรับนโยบายเข้าสู่ภาวะปกติจากระดับที่ผ่อนคลายมากเป็นพิเศษในการประชุมเดือน ก.ย.64 หรือ พ.ย.64

นอกจากนี้ นักลงทุนจะติดตามการเปิดเผยข้อมูลจีดีพีไตรมาส 2 ของสหรัฐฯและค่าใช้จ่ายส่วนบุคคล เพื่อประเมินทิศทางเศรษฐกิจและภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งจะกระทบการคาดการณ์นโยบายของเฟดต่อไป อนึ่ง ค่าเงินดอลลาร์อาจย่ำฐานในกรอบที่แข็งค่าในช่วงนี้จากท่าทีของเฟดและการระบาดของสายพันธุ์เดลต้าในหลายภูมิภาคของโลกโดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีอัตราการฉีดวัคซีนต่ำ

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ กระทรวงพาณิชย์รายงานยอดส่งออกเดือนมิถุนายนว่าเติบโตสูงสุดในรอบ 11 ปี ด้วยอัตรา 43.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนการนำเข้าขยายตัว 53.8% ส่งผลให้ไทยเกินดุลการค้า 945 ล้านดอลลาร์ โดยภาคส่งออกจะยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลัง ทั้งนี้ BAY มองว่าอุปสงค์และความเชื่อมั่นในประเทศยังคงถูกบั่นทอนจากวิกฤตโควิด-19 ที่ยังไม่มีแนวโน้มคลี่คลายลง ขณะที่ภาคส่งออกและระบบขนส่งอาจประสบปัญหาชั่วคราวจากการปิดโรงงานและการแพร่ระบาดเช่นกัน

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 ก.ค. 64)

Tags: , , , ,