HARN ตั้งเป้ารายได้ปี 64 โต 20% คาดยอดขายครึ่งหลังฟื้น ตุน backlog 404 ลบ.

นายธรรมนูญ ตรีเพ็ชร กรรมการผู้จัดการ บมจ.หาญ เอ็นจิเนียริ่ง โซลูชั่นส์ (HARN) เปิดเผยว่าบริษัทตั้งเป้ารายได้ปีนี้ที่ 1,382 ล้านบาท โต 20% จากปีก่อนที่ 1,152 ล้านบาท คาดสถานการณ์ครึ่งปีหลังมีแนวโน้มที่ดีขึ้นจากนโยบายของรัฐบาลที่เร่งกระจายวัคซีนให้ประชาชนในวงกว้าง ทำให้ธุรกิจในภาพรวมจะฟื้นตัวชัดเจน ส่งผลให้ยอดขายครึ่งปีหลังจะปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น รวมไปถึงทางบริษัทยังมีฐานลูกค้าจำนวนมาก มีลูกค้าในหลายกลุ่มอุตสาหกรรม ทำให้ยอดขายในปีนี้จะเติบโตได้ตามแผน

ปัจจุบันบริษัทมี Backlog ในมือจำนวน 404 ล้านบาทจะทยอยรับรู้ใน 3-6 เดือน โดยส่วนมากจะเป็นของผลิตภัณฑ์ระบบดับเพลิงฯ รองลงมาคือ ผลิตภัณฑ์ระบบปรับอากาศฯ ผลิตภัณฑ์ระบบทำความเย็น และ ผลิตภัณฑ์ระบบการพิมพ์ดิจิตัล ตามลำดับ

ด้านธุรกิจผลิตภัณฑ์ระบบดับเพลิงฯ คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 40% ของบริษัท ซึ่งโครงการส่วนมากจะเป็นโครงการระยะยาวที่รับออเดอร์ไว้ล่วงหน้าและทยอยส่งมอบตามแผน ถึงแม้ว่าการแพร่ระบาดโควิด-19 อาจทำให้บางโครงการชะลอตัวไปบ้าง แต่อย่างไรก็ตามระบบดับเพลิงยังคงเป็นสิ่งที่จำเป็นในการก่อสร้างอาคาร ทำให้รายได้จากกลุ่มธุรกิจนี้ยังสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง

ส่วนการร่วมทุนจัดตั้งบริษัท ไอยราหาญ ร่วมกับบริษัท ไอยราฟันส์ ซึ่งเป็นบริษัทที่เชี่ยวชาญด้านการทำระบบ Internet of Thing (IOT) นั้น ปัจจุบันมีโครงการเข้ามาพอสมควร โดยการร่วมทุนดังกล่าวเป็นการนำจุดแข็งด้านเทคโนโลยีของไอยราฟันส์และจุดแข็งด้านฐานลูกค้าของ HARN มารวมกัน ซึ่งจะสามารถสร้างการเติบโตในอนาคตได้

ด้านธุรกิจระบบการพิมพ์ดิจิตัลซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 30% ของรายได้ทั้งหมด แม้จะได้รับผลกระทบจากโควิด-19ทำให้การลงทุนซื้อเครื่องพิมพ์ดิจิตัลลดลง แต่ในปีนี้คาดว่าจะมียอดขายที่ดีกว่าปีก่อน และด้านโรงงานที่ผลิตสินค้า ยังดำเนินการผลิตสินค้าได้ตามปกติ ทำให้การจำหน่ายวัสดุการพิมพ์ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก

และสถานการณ์ในประเทศเวียดนามที่มีการเข้าไปจดทะเบียนตั้งบริษัทและขยายธุรกิจการพิมพ์ดิจิตัล ทางบริษัทวางแผนให้ตลาดดังกล่าวมีความมั่นคงในระดับหนึ่งก่อน จากนั้นค่อยขยายไปสู่ธุรกิจและสินค้าอื่น ๆ เนื่องจากตลาดเวียดนามมีศักยภาพในการเติบโตสูง แต่อย่างไรก็ตามยังมีข้อจำกัดบางประการ คือสินค้าหลายชนิดที่ทางบริษัทเป็นผู้แทนจำหน่าย มักจะมีผู้แทนจำหน่ายในเวียดนามอยู่แล้ว ดังนั้นหากต้องการขยายตลาดในเวียดนาม ทางบริษัทต้องมองหาสินค้าและ Supplier ใหม่ ๆ ที่ยังไม่มีผู้แทนจำหน่ายในประเทศเวียดนาม

ในส่วนของเทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติ สัดส่วนรายได้ปัจจุบันยังไม่สูงมากนัก เนื่องมาจากเทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติจะเน้นไปในการสนับสนุนภาคการศึกษา โดยรายได้จะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1) การให้บริการพิมพ์ 3 มิติ ซึ่งจะให้ราคาพิเศษสำหรับภาคการศึกษาแก่นิสิตและอาจารย์ เพื่อสนับสนุนการเรียนรู้และสร้างตลาดใหม่ในวงการแพทย์ และ 2) การจำหน่ายเครื่องพิมพ์ 3 มิติ และซอฟแวร์ที่ใช้ในการออกแบบที่ได้มาจาก MRI และ CT SACN

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (01 มิ.ย. 64)

Tags: , , ,