ILM คาดยอดขาย Q2/64 โตเลข 2 หลัก YoY แต่ชะลอลงจาก Q1/64 หวังครึ่งปีหลังฟื้น

นางกนกวรรณรัตน์ ศรีมณีศิริ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส สายงานบัญชีและการเงิน บมจ.อินเด็กซ์ ลิฟวิ่งมอลล์ (ILM) เปิดเผยว่า แนวโน้มของยอดขายสาขาเดิม (SSSG) ในช่วงไตรมาส 2/64 หากเทียบกับช่วงเดียวกับช่วงเดียวกันของปีก่อนมั่นใจว่าจะเติบโตขึ้นในระดับตัวเลข 2 หลัก เนื่องจากไตรมาส 2/64 สาขาอินเด็กซ์ ลิฟวิ่งมอลล์ ยังสามารถเปิดให้บริการได้ และยังมีลูกค้าที่เข้ามาซื้อสินค้าในสาขาได้ตามปกติ แม้ว่าจะมีการลดระยะเวลาการให้บริการของสาขาลงก็ตาม แตกต่างจากไตรมาส 2/63 ที่มีมาตรการควบคุมโควิด-19 โดยการล็อกดาวน์ไป 2 เดือน ทำให้สาขาของอินเด็กซ์ ลิฟวิ่งมอลล์ ปิดให้บริการไปในช่วงนั้น ซึ่งหากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนทำให้บริษัทมั่นใจว่ายอดขายสาขาเดิมในไตรมาส 2/64 จะเติบโตขึ้นอย่างแน่นอน

อย่างไรก็ตาม หากเทียบกับไตรมาส 1/64 ยอดขายอาจจะลดลง เนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ระลอก 3 รุนแรงมากกว่าในระลอกที่ 2 ทำให้การเข้ามาซื้อสินค้าในสาขาชะลอตัวไปค่อนข้างมาก ซึ่งในช่วงไตรมาสแรกยอดขายสาขาเดิมของบริษัทติดลบ 7.9% ซึ่งในไตรมาส 2/64 ผลกระทบยังต้องติดตามในช่วงเดือน มิ.ย. 64 ที่เหลืออีก 1 เดือน ว่า หากภาครัฐทยอยเร่งการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กับประชาชนได้มาก ภาวะของการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนจะเริ่มทยอยฟื้นกลับมาไหม รวมถึงมาตรการควบคุมการแพร่รบาดโควิด-19 จะเริ่มทยอยผ่อนคลายได้มากขึ้นหรือไม่

“Performance ในไตรมาส 2/64 ยังคงได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ค่อนข้างมากอยู่ แต่ไม่หนักเท่ากับปีที่แล้วที่เราต้องปิดสาขาไปเลย แต่ขอดูเดือนมิ.ย.นี้ก่อนว่า การเริ่มทยอยฉีดวัคซีนแล้ว ภาพของตลาดจะกลับมาอย่างไร ถ้าเทียบกับไตรมาสแรกที่ผ่านมาก็ยังขอดูอีกเดือนก่อน แต่ถ้าเทียบกับไตรมาส 2/64 ก็มั่นใจว่าเติบโตขึ้น Double Digits แน่นอน”นางกนกวรรณรัตน์ กล่าว

โดยเป้าหมายของยอดขายสาขาเดิม (SSSG) ในปี 64 บริษัทยังคงเป้าหมายเติบโตในตัวเลขหลักเดียว แม้ว่าในไตรมาส 1/64 จะยังติดลบอยู่ก็ตาม แต่บริษัทมองว่าหากการฉีดวัคซีนโควิด-19 เร่งตัวขึ้นในเดือนมิ.ย. 64 ที่จะถึงนี้ จะช่วยให้สถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ระลอก 3 ในปัจจุบัน สามารถเริ่มควบคุมได้ และทำให้คนเริ่มมีความมั่นใจในการออกมาจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ซึ่งคาดว่าภาพการฟื้นตัวขึ้นจะเริ่มเห็นในช่วงครึ่งปีหลังนี้ ทำให้บริษัทมองว่าในช่วงครึ่งปีหลังยอดขายสาเดิมจะสามารถเป็นบวกได้ทั้งไตรมาส 3/64 และไตรมาส 4/64 ทำให้บริษัทสามารถทำได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้

ขณะเดียวกันบริษัทยังคงมีการควบคุมต้นทุนและค่าใช้จ่ายอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับการพยายามระบายสต็อกสินค้าให้สามารถออกไปได้เร็วที่สุด เพื่อทำให้บริษัท่มีต้นทุนในการเก็บรักษาลดลง และมีรายได้เข้ามาในบริษัท รวมถึงการจัดพื้นที่หรือโปรโมชั่นสำหรับสินค้าที่ลูกค้ามีความต้องการและให้มาร์จิ้นดีในบางช่วงเวลา เช่น ในไตรมาส 2/64 สินค้ากลุ่มที่นอนและฟูก ซึ่งเป็นสินค้าที่มีมาร์จิ้นดี และลูกค้ามีความต้องการซื้อในช่วงนี้ค่อนข้างมาก บริษัทได้มีการนำพื้นที่ของสินค้าบางกลุ่มเปลี่ยนเป็นสินค้าในกลุ่มที่นอนและฟูกเข้ามาวางขายแทน เพื่อทำให้ลูกค้าเห็นและตัดสินใจซื้อได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงการทำ Cross selling กับสินค้าอื่นๆ เช่นลูกค้าเข้ามาซื้อเฟอร์นิเจอร์ ก็จะมีการจัดโปรโมชั่นร่วมกับสินค้าอื่นๆ เพื่อเพิ่มโอกาสในการขายได้มากขึ้น เป็นต้น

อย่างไรก็ตามการแพร่พระบาดโควิด-19 ระลอก 3 ที่เกิดขึ้น ทำให้บริษัทตัดสินใจชะลอแผนการลงทุนก่อสร้างสาขาใหม่ย่านลาดกระบังออกไปชั่วคราว เพื่อรอดูสถานการณ์ของการแพร่ระบาดโควิด-19 ภาวะเศรษฐกิจ และภาวะการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนว่าจะดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังหรือไม่ หากสถานการณ์ต่างๆในช่วงครึ่งปีหลังดีขึ้นค่อนข้างมากจากครึ่งปีแรก บริษัทจะกลับมาพิจารณาเริ่มลงทุนก่อสร้างสาขาใหม่ที่จะลงทุนในปีนี้อีกครั้งในช่วงปลายปี 64 แต่หากสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้นก็มีโอกาสที่เลื่อนการลงทุนไปเป็นปี 65 แทน

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (31 พ.ค. 64)

Tags: , , ,