LEO จับมือแบงก์จัดสินเชื่อฟื้นฟูช่วยลูกค้าผ่านโควิด, มั่นใจปีนี้รายได้นิวไฮ

นายเกตติวิทย์ สิทธิสุนทรวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ลีโอ โกลบอล โลจิสติกส์ (LEO) เปิดเผยว่า ในช่วงที่สถานการณ์ยังไม่คลี่คลาย และการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ที่ค่อนข้างรุนแรงและยาวนาน ส่งผลกระทบต่อลูกค้าของ LEO ในหลายๆส่วน ทั้งในส่วนของสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจของลูกค้าเอง หรือการเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องของราคาค่าขนส่ง

ทั้งการขนส่งทางเรือและทางอากาศ ซึ่งในบางเส้นทาง ราคาค่าขนส่งเพิ่มสูงขึ้นเกือบ 10 เท่าเมื่อเทียบกับค่าระวางก่อนที่เชื้อโควิด-19 ระบาด เมื่อลูกค้าของบริษัทได้รับความเดือดร้อนจากผลกระทบที่เกิดขึ้น บริษัทในฐานะองค์กรที่ให้ความสำคัญกับลูกค้า จึงได้เร่งระดมกำลังช่วยหาทางออกให้กับผู้ประกอบการ ได้เสริมสภาพคล่องทางการเงิน รวมถึงแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายและรักษาการจ้างงาน และทำให้กิจการสามารถเติบโตต่อไปได้

โดยบริษัทได้ร่วมกับธนาคารพันธมิตรที่เข้ามาช่วยเหลือลูกค้า โดยได้ร่วมกับธนาคารกรุงเทพ (BBL) ธนาคารกรุงไทย (KTB) ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) และธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) มาร่วมประสานพลัง ออกมาตรการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจ (สินเชื่อฟื้นฟู) เพื่อเพิ่มศักยภาพและเสริมสภาพคล่องทางการเงินให้ผู้ประกอบการที่เป็นลูกค้าของบริษัท รวมถึงแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายและรักษาการจ้างงาน เพื่อให้กิจการสามารถเติบโตต่อไปได้อย่างยั่งยืน

บริษัทจะเป็นตัวกลางที่รวบรวมข้อมูลเบื้องต้นของลูกค้าที่ต้องการเข้าถึงสินเชื่อฟื้นฟูให้กับแต่ละธนาคาร เพื่อรับทราบมาตรการ ข้อมูลและรายละเอียด ให้ได้รับการพิจารณาวงเงินได้อย่างรวดเร็ว และเข้าสู่กระบวนการขั้นตอนการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อของแต่ละธนาคาร รวมถึงบริษัทฯ มีการพิจารณาเพิ่มวงเงิน Credit term และ Credit line ให้กับลูกค้าของบริษัทฯ เพิ่มขึ้นผ่านการช่วยเหลือของธนาคารที่เป็นพันธมิตร

“ถือเป็นอีกแนวทางที่ LEO จะผลักดันและช่วยเหลือให้ลูกค้าและผู้ประกอบการไทย รอดจากวิกฤตการณ์ที่รุนแรงที่สุดในครั้งนี้ไปได้ อย่างน้อยก็เป็นความหวังให้ผู้ประกอบธุรกิจที่ยังพอมีกำลังที่ลุกขึ้นสู้ ประคับประคองเอาตัวรอดและผ่านสถานการณ์ความยากลำบากไปด้วยกัน อีกทั้งยังเป็นการเปิดโอกาสให้บริษัทฯ สามารถขยายโอกาสทางการขายให้กับลูกค้าของบริษัทได้เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย”นายเกตติวิทย์ กล่าว

นายเกติวิทย์ กล่าวอีกว่า สำหรับภาพรวมของบริษัทคาดว่าจะยังเห็นการเติบโตขึ้นต่อเนื่องจากครึ่งปีแรก รับอานิสงส์การค้าระหว่างประเทศที่ฟื้นตัวกลับมาได้เป็นอย่างดี จะเห็นได้จากภาคการส่งออกของไทยที่ขยายตัวได้มากในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งเป็นปัจจัยหนุนให้กับการเติบโตของบริษัท อีกทั้งอัตราค่าบริการขนส่งที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นทำให้บริษัทสามารถมีรายได้จากการให้บริการขนส่งเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน

ประกอบกับ ในไตรมาส 3/64 ของธุรกิจขนส่ง โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าของกลุ่มธุรกิจอีคอมเมิร์ชที่จะใช้บริการกันเป็นจำนวนมาก ทำให้ผลการดำเนินงานไตรมาสนี้จะโดดเด่นที่สุดของปี ซึ่งบริษัทได้ปรับเพิ่มเป้ารายได้ปี 64 เติบโตไม่ต่ำว่า 40-45% จากเดิมที่ตั้งเป้าเติบโต 20-25% คาดว่ารายได้ของบริษัทในปีนี้ทำสถิติสูงสุดใหม่ (New high)

ส่วนปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ในปัจจุบัน มองว่าปัญหาดังกล่าวจะยังมีอยู่ไปจนถึงปลายปี 64 จากความต้องการใช้บริการขนส่งที่กลับมามาก แต่บริษัทสามารถจัดหาตู้คอนเทนเนอร์รองรับการขนส่งสินค้าให้กับลูกค้าได้ โดยที่บริษัทมีพันธมิตรในการจัดหาตู้คอนเทนเนอร์เป็นจำนวนมาก ทำให้มีบริษัทสามารถเจรจานำตู้คอนเทนเนอร์มาให้บริการกับลูกค้าได้เพิ่มเติม รองรับกับความต้องการของลูกค้า และทำให้ลูกค้าสามารถใช้บริการขนส่งสินค้าได้อย่างสะดวก

ด้านภาพรวมอุตสาหกรรมการขนส่งและโลจิสติกส์ โดยเฉพาะการขนส่งทางเรือและทางอากาศ ในช่วงครึ่งปีหลังยังมีแนวโน้มที่ดีต่อเนื่องจากครึ่งปีแรก ซึ่งมองว่าปริมาณความต้องการขนส่งสินค้าทั่วโลกยังปรับตัวสูงขึ้น จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการเปิดเมือง โดยเฉพาะในสหรัฐฯ ยุโรป และจีน แม้ว่าปัจจุบันอาจจะมีการแพร่ระบาดโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาแพร่ระบาดมากขึ้น แต่มองว่าในประเทศใหญ่หลายๆประเทศสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้อย่างดี ทำให้ไม่กระทบต่อการค้าระหว่างประเทศ อีกทั้งอัตราค่าระวางเรือ และค่าขนส่งทางอากาศยังอยู่ในระดับที่สูงต่อในช่วงครึ่งปีหลังนี้

“การแพร่ระบาดโควิด-19 ในประเทศที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน สิ่งที่เราติดตามคือมาตรการควบคุมที่เรากังวลเกี่ยวกับเรื่องการล็อกดาวน์ทั้งหมด 24 ชั่วโมง ซึ่งทำให้เรายังไม่มั่นใจว่าจะกระทบต่อการขนส่งและการส่งออกนำเข้าหรือเปล่า ซึ่งต้องดูอีกทีว่ากิจกรรมใดจะได้รับการยกเว้นมาก ถ้ามีการล็อกดาวน์ 24 ชั่วโมงทางเราก็ได้เตรียมระบบการทำงานรองรับการให้บริการลูกค้าไว้ทั้งหมดแล้ว ซึ่งปัจจุบันพนักงานของเราก็ทำงานที่บ้านแล้วไปกว่า 60% ซึ่งเราก็พยายามเตรียมความพร้อมไว้ล่วงหน้าเพื่อให้บริการลูกค้า”นายเกตติวิทย์ กล่าว

ส่วนบริษัทย่อยในเมียนมา ซึ่งบริษัทได้ชะลอการใส่เงินเพิ่มทุนเข้าไปหลังจากเกิดการรัฐประหารในเมียนมา บริษัทยังยืนยันว่าหากสถานการณ์กลับมาดีขึ้น ก็จะเดินหน้าใส่เงินเพิ่มทุนให้กับบริษัทย่อยเพื่อรองรับการขยายบริการขนส่งสินค้า แต่ในปัจจุบันจากสถานการณ์ในเมียนมาที่ยังไม่กลับมาปกติ ทำให้บริษัทได้ปรับแผนการดำเนินงานให้บริการกับลูกค้าให้มาใช้บริการขนส่งผ่านทางประเทศไทยแทน

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 ก.ค. 64)

Tags: , , ,