MBKET มองเฟด-ECB ส่งสัญญาณเริ่มดึงสภาพคล่องกลับส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทยจำกัด

นายธีรเศรษฐ์ พรหมพงษ์ นักกลยุทธ์เศรษฐศาสตร์มหภาค บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) ให้ความเห็นว่า จากบทสรุปการคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) ในเดือน ก.ย.ช่วงวันที่ 21-22 ก.ย.ที่ผ่านมา แม้ว่านาย Jerome Powell ประธานเฟดจะยังไม่ระบุจุดเริ่มต้นการลดขนาด QE (QE Tapering) แต่ในทางกลับกันมีการส่งสัญญาณว่าการลดขนาด QE จะสิ้นสุดลงประมาณกลางปี 66

หากพิจารณาจากวงเงินการซื้อสินทรัพย์ที่ระดับ 1.2 แสนล้านเหรียญฯ (แบ่งเป็นพันธบัตรรัฐบาล 8 หมื่นล้านเหรียญฯ และ MBS 4 หมื่นล้านเหรียญฯ) อัตราการลดขนาดซื้อสินทรัพย์ที่เป็นไปได้มากที่สุดคือ ลดลง 1.5 หมื่นล้านเหรียญฯต่อเดือน (แบ่งเป็น พันธบัตรรัฐบาล 1 หมื่นล้านเหรียญฯ และ MBS 0.5 หมื่นล้านเหรียญฯ) ดังนั้น จึงประเมินว่าจุดเริ่มต้น QE Tapering จะเป็น พ.ย.64 และเฟดจะประกาศจบโครงการ QE อย่างเป็นทางการในการประชุม FOMC เดือน มิ.ย.65

นอกจากนี้ เฟดยังส่งสัญญาณต่อมุมมองเศรษฐกิจสหรัฐฯที่ดีขึ้น สอดคล้องกับ Dot Plot ซึ่งบ่งชี้โอกาสการปรับขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าเดิม โดยสมาชิกเฟด 9 รายให้น้ำหนักการขึ้นดอกเบี้ยอย่างน้อย 1 ครั้งในปี 65 ซึ่งเป็นจำนวนที่เพิ่มขึ้นจาก 7 ราย ในการประชุมเดือน มิ.ย. นอกจากนี้หากประเมินลงในรายละเอียดจะพบว่า 3 ใน 9 รายให้น้ำหนักการปรับขึ้นดอกเบี้ย 2 ครั้ง นั่นหมายความว่า หากโครงการ QE สิ้นสุดในเดือน มิ.ย.65

และจากสมมติฐานที่ว่า การปรับขึ้นดอกเบี้ยจะเกิดขึ้นในการประชุม FOMC ครั้งใหญ่ในเดือนสุดท้ายของแต่ละไตรมาส นั่นคือเฟดมีโอกาสที่จะปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกในการประชุมเดือน ก.ย.65 แต่ยังเป็นมุมมองของสมาชิกส่วนน้อยของเฟด 3 ราย จากสมาชิกที่ลงมติทั้งหมด 18 ราย

จุดเริ่มต้นเข้าสู่การปรับเปลี่ยนนโยบายกลับสู่ภาวะปกติที่กำลังจะเกิดขึ้น ทั้งจากทางฝั่งเฟด ถือเป็นธนาคารกลางชาติมหาอำนาจประเทศแรกที่ส่งสัญญาณอย่างเป็นทางการ และน่าจะตามมาด้วย ECB ซึ่งในการประชุมครั้งล่าสุด (9 ก.ย.) มีการส่งสัญญาณอย่างชัดเจนว่าขนาดการซื้อคืนสินทรัพย์ในโครงการ PEPP ในไตรมาส Q4/64 จะต่ำกว่าในช่วงสองไตรมาสที่ผ่านมา แม้ว่าการลดขนาดการกระตุ้นด้านการเงินทั่วโลก จะบ่งชี้ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวกลับมาจากภาวะวิกฤติได้อย่างเต็มรูปแบบ แต่ในทางกลับกันก็ทำให้สภาพคล่องในระบบจากการกระตุ้นเศรษฐกิจค่อยๆ ลดลง กดดันบรรยากาศการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง ซึ่งหากย้อนไปมองถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการลดขนาดการกระตุ้นเศรษฐกิจในครั้งที่ผ่านมา (QE Tapering Tantrum 2556) พบว่าหลังการประกาศอย่างเป็นทางการตลาดหุ้นทั่วโลกจะเข้าสู่ช่วงการปรับสมดุล

สำหรับผลกระทบเชิงลบต่อตลาดหุ้นไทยน่าจะจำกัด เนื่องจากภาพรวมตลาดหุ้นไทยในปัจจุบันแตกต่างจากหุ้นไทยในช่วง QE Tapering ปี 56 อยู่หลายประการ เช่น 1) ตลาดหุ้นไทยอยู่ในกลุ่มที่ Underperform หากเทียบกับตลาดสหรัฐฯ และยุโรป เมื่อเทียบกับช่วงการส่งสัญญาณ QE Tapering ปี 56 ที่ตลาดหุ้นไทย Outperform ตลาดอื่นๆ อย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้นสภาพคล่องที่อาจลดลงคาดจะกระทบตลาดหุ้นไทยจำกัด 2) ตลาดหุ้นไทยไม่ได้ประโยชน์จากสภาพคล่องการทำ QE4 และ โครงการ PEPP สะท้อนจากนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิสูงถึงระดับ 2.65 แสนล้านบาท ต่างจากในช่วง 52-56 ที่นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิสูงถึง 1.96 แสนล้านบาท ดังนั้นจึงคาดผลกระทบรอบนี้ต่อ SET จึงน่าจะจำกัดเช่นกัน

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 ก.ย. 64)

Tags: , , , ,