MTL ปรับลดระยะเวลาที่ไม่คุ้มครองเจ็บป่วยจากโควิดเหลือ 14 วัน จาก 30 วัน

นายสาระ ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. เมืองไทยประกันชีวิต (MTL) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) บริษัทฯ ได้ทำการปรับลดระยะเวลาที่ไม่คุ้มครอง (Waiting Period) กรณีการเจ็บป่วยที่เป็นผลมาจากการติดเชื้อโควิด-19 จากเดิม 30 วัน เหลือเพียง 14 วัน นับตั้งแต่วันเริ่มมีผลคุ้มครองตามสัญญาเพิ่มเติม สำหรับความคุ้มครองกลุ่มค่ารักษาพยาบาล และค่าชดเชยรายวัน ที่มีวันเริ่มมีผลคุ้มครองตั้งแต่วันที่ 28 พฤษภาคม -31 ธันวาคม 2564

โดยการปรับลดระยะเวลาที่ไม่คุ้มครอง (Waiting Period) ดังกล่าว จะครอบคลุมลูกค้ารายบุคคลที่มีความคุ้มครองกลุ่มค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยใน กลุ่มค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยนอก และกลุ่มชดเชยรายวัน ที่แนบท้ายกรมธรรม์ประกันชีวิตประเภทสามัญ และประเภทควบการลงทุน

ทั้งนี้ บริษัทฯ จะให้ความคุ้มครองสำหรับการเจ็บป่วยจากโรคโควิด-19 ที่เกิดขึ้นหลังจากระยะเวลา 14 วัน นับตั้งแต่วันเริ่มมีผลคุ้มครองตามสัญญาเพิ่มเติม หรือหากมีการต่ออายุสัญญาเพิ่มเติม ให้นับตั้งแต่วันเริ่มมีผลคุ้มครองตามการต่ออายุนั้นครั้งสุดท้ายแล้วแต่กรณีใดจะเกิดขึ้นหลังสุด

สำหรับแบบประกันภัยที่ได้รับความคุ้มครองพิเศษเพิ่มเติม ประกอบด้วย ความคุ้มครองกลุ่มค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยใน กลุ่มค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยนอก และกลุ่มชดเชยรายวัน เช่น สัญญาเพิ่มเติมสุขภาพแบบ อีลิท เฮลท์, สัญญาเพิ่มเติมสุขภาพแบบ ดี เฮลท์, สัญญาเพิ่มเติมสุขภาพแบบ เอ็กซ์ตร้า แคร์, สัญญาเพิ่มเติมสุขภาพแบบ สมาร์ทเฮลท์, สัญญาเพิ่มเติมสุขภาพแบบ ไดมอนด์แคร์, สัญญาเพิ่มเติมสุขภาพแบบ แยกค่าใช้จ่าย (H&S), สัญญาเพิ่มเติมสุขภาพแบบ วีไอพี

สัญญาเพิ่มเติมสุขภาพแบบ เหมาจ่าย, สัญญาเพิ่มเติมสุขภาพแบบ พรีเมี่ยม เฮลท์ แคร์, สัญญาเพิ่มเติม การรักษาพยาบาลผู้ป่วยนอก (OPD), สัญญาเพิ่มเติม สุขภาพวงเงินแน่นอน (HB), สัญญาเพิ่มเติมสุขภาพข้าราชการสุขสันต์, สัญญาเพิ่มเติม สุขภาพเด็กเล็ก (0-5 ปี),สัญญาเพิ่มเติม สุขภาพเอชไอพี (HIP), สัญญาเพิ่มเติม คุ้มครองค่าใช้จ่ายในการศัลยกรรม, ตะกาฟุลสุขภาพแบบแยกค่าใช้จ่าย, และตะกาฟุลสุขภาพแบบวงเงินแน่นอน เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ จะยกเว้นความคุ้มครอง กรณีที่ผู้เอาประกันภัยเจ็บป่วยจากการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่ยังไม่ได้รักษาให้หาย ก่อนวันที่เริ่มมีผลคุ้มครองตามสัญญาเพิ่มเติมการประกันภัยสุขภาพ หรือบันทึกสลักหลังการรักษาพยาบาลผู้ป่วยนอก โดยพิจารณาตามเงื่อนไขสภาพที่เป็นมาก่อนการเอาประกันภัย (Pre-existing Condition)

“การปรับลดระยะเวลาที่ไม่คุ้มครอง (Waiting Period) นี้ถือเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่เมืองไทยประกันชีวิต ได้นำออกมาเพื่อสร้างความมั่นใจ และอุ่นใจให้กับลูกค้าอย่างต่อเนื่องในสถานการณ์ที่โรคโควิด 19 ยังแพร่ระบาดในหลายพื้นที่ หลังจากที่ได้มอบความคุ้มครองพิเศษ ด้วยการขยายความคุ้มครองผลกระทบหลังจากการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19”

นายสาระ กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (31 พ.ค. 64)

Tags: , , , , , ,