PTT เดินหน้าสู่ Future energy and Beyond วางงบลงทุน 5 ปี 8.65 แสนลบ.

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท. (PTT) เปิดเผยในงานเสวนา “BOOST UP THAILAND 2022” โดยได้บรรยายพิเศษเรื่อง “พลิกธุรกิจ สู้เศรษฐกิจหลังโควิด” ว่า ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ปตท.ได้ปรับเปลี่ยนวิสัยทัศน์ครั้งใหญ่ โดยใช้คำว่า “Powering life with Future energy and Beyond” ขับเคลื่อนทุกชีวิตด้วยพลังแห่งอนาคต เพื่อให้สอดรับกับการดำเนินงานในอนาคต

ทั้งนี้ บริษัทได้วางงบลงทุนในช่วง 5 ปี (64-68) ของกลุ่มปตท.ในด้าน Future energy and Beyond ไว้ที่ 8.65 แสนล้านบาท โดยในในปี 65 จะใช้งบลงมุนราว 4.3 แสนล้านบาท เพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานและขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

ขณะที่พันธกิจหลักของ ปตท.ยังคงไม่เปลี่ยน โดยจะมุ่งมั่นเป็นบริษัทที่สร้างความมั่นคงด้านพลังงาน ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทก็ได้มีการจัดหาพลังงานให้กับประเทศใช้อย่างเพียงพอ ตั้งแต่การพัฒนา การลงทุน สร้างโรงกลั่น พัฒนาก๊าซธรรมชาติในประเทศ หรือการสร้างท่าเรือ LNG รองรับก๊าซธรรมชาติจากทั่วโลก

ขณะเดียวกันก็ได้มองทิศทางการเติบโตในอนาคต Future energy ที่จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ซึ่งบริษัทเล็งเห็นความสำคัญ และได้วางกลยุทธ์การดำเนินงานให้สอดรับกับทิศทางดังกล่าว โดยจะมุ่งสู่ธุรกิจพลังงานอนาคต ได้แก่ Renewable, Energy storage&system related, EV Value Chain, Hydrogen

รวมถึงยังมองโอกาสการเติบโตในธุรกิจใหม่ที่ไกลกว่าพลังงาน (Beyond) เช่น ธุรกิจ Life Science ที่ประกอบไปด้วย ธุรกิจยา (Pharmaceutical) ธุรกิจอุปกรณ์ทางการแพทย์ (Medical device) ธุรกิจผลิตภัณฑ์อาหารเสริม ( Nutrition) อีกทั้งยังมีธุรกิจอื่นๆ ได้แก่ High Value Business ซึ่งเป็นการต่อยอดจากธุรกิจปิโตรเคมี, Mobility & Lifestyle, Logistics & Infrastructure จะเป็นพื้นฐานให้กับประเทศ เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจไปอีกขั้น และ AI, Robotics digitalization เป็นต้น

“เมื่อมองไปในอนาคต Future energy จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น และด้วยพันธกิจของบริษัทฯ ก็ต้องมุ่งไปสู่พลังงานในอนาคตเหล่านั้นด้วย ส่วนคำว่า Beyond จะสอดคล้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจไปอีกขั้นของประเทศ หรือ New S-curve ที่ต้องได้รับการสนับสนุน การลงทุนจากหลายภาคส่วน ทั้งภาคเอกชน และภาครัฐ ตรงนี้จึงเป็นที่มาของคำว่า Beyond ของ ปตท. เช่นเดียวกัน”นายอรรถพล กล่าว

ที่ผ่านมาบริษัทได้เริ่มดำเนินธุรกิจดังกล่าวไปบ้างแล้ว โดยในส่วนของพลังงานทดแทนจะอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของบมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) ซึ่งได้มีการลงทุนในธุรกิจพลังงานทดแทนไปแล้วหลายโครงการ เช่น โรงไฟฟ้าพลังงานลมนอกชายฝั่ง จาก Copenhagen Infrastructure Partners (CIP) ในไต้หวัน, โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ จาก Sheng yang Energy ในไต้หวัน และการซื้อหุ้นเพิ่มทุน บริษัทพลังงานหมุนเวียน Aveada Energy ในอินเดีย เป็นต้น

จากปัจจัยข้างต้น ส่งผลให้ปัจจุบันกลุ่ม ปตท.มีการลงทุนในพลังงานทดแทนแล้วราว 2 กิกะวัตต์ หรือ 2,000 เมกะวัตต์ และยังมีการตั้งเป้าหมายการลงทุนในพลังงานทดแทน เพิ่มเป็น 12 กิกะวัตต์ หรือ 12,000 เมกะวัตต์ ให้ได้ภายในปี 73 จากปีก่อนที่มีการลงทุนในพลังงานทดแทน ราว 400 เมกะวัตต์ หรือ 0.4 กิกะวัตต์ เพื่อเป็นการสนับสนุนเรื่อง GREEN

นอกจากนี้ยังมีการลงทุนในเรื่องของ Energy storage & system related โดยได้มีการเปิดตัว G-box ระบบกักเก็บพลังงาน เพื่อเสถียรภาพในการบริหารจัดการพลังงาน ซึ่งเป็นการทดลองทำ โดยมีการไปตั้งในที่สถานีบริการน้ำมัน เพื่อจ่ายไฟให้กับรถยนตร์ไฟฟ้า, เปิดตัวโรงงานแบตเตอรี่ Semi Solid แห่งแรกใน South East Asia รวมถึงร่วมกับ WHAUP & SERTIS พัฒนาระบบ Smart Energy Platfrom เพื่อซื้อขายไฟฟ้าพลังงานในพื้นที่นิคมฯ และเปิดตัว ReACC ธุรกิจให้บริการซื้อ-ขายใบรับรองพลังงานหมุนเวียนอย่างครบวงจร

ส่วน EV Value Chain บริษัทได้ร่วมกับ Foxconn จากไต้หวันเพื่อพัฒนาแพลตฟอร์มผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าครบวงจรในประเทศ คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างโรงงานได้ในปี 65 และอยู่ระหว่างศึกษาการทำ M&A สตาร์ทอัพสำหรับรถจักรยานยนต์และรถบัส ด้านแบตเตอรี่ ได้พัฒนาอุปกรณ์กักเก็บพลังงานต้นแบบขนาดเล็ก โดยใช้วัสดุ Core-shell cathode ขณะที่ Charger ได้สร้าง Ecosytem ในประเทศ โดยตั้งเป้าติดตั้ง 200 จุด ในปีนี้ และปีหน้า 300 จุด, Swapping Station แพลทฟอร์มสลับแบตเตอรี่แนวใหม่ เพื่อมอเตอร์ไซต์ไฟฟ้า โดยมีการติดตั้งแล้ว 22 แห่ง, พัฒนา EV Service platform หรือแอพพิเคชั่น EVME เพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ

นายอรรถพล กล่าวว่า สำหรับ Beyond หรือการส่งเสริม New S-curve ให้กับประเทศ ผ่านการมุ่งเน้นในธุรกิจ Life Science นั้น ได้ลงทุนร่วมกับพันธมิตรที่เชี่ยวชาญเรื่องยาที่ไต้หวัน ร่วมกับองค์การเภสัช และสวทช. ต่อยอดการวิจัยและพัฒนาวัตถุดิบทางยา เช่น สารตั้งต้นสำหรับการผลิตยาฟาวิพิราเวียร์, ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรไทย

ขณะเดียวกันผลิตภัณฑ์อาหารเสริม ได้ร่วมกับ Nove Foods ดำเนินธุรกิจ Plant-Based Food เพิ่มทางเลือกอาหารเพื่อสุขภาพ โดยจะมีการตั้งโรงงานระดับโลกในประเทศไทย และอุปกรณ์ทางการแพทย์ ได้ร่วมกับ บมจ.ไออาร์พีซี (IRPC) ตั้งบริษัท Innopolymed สร้างโรงงานผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ เป็นต้น

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (03 พ.ย. 64)

Tags: , ,