ผลวิจัยล่าสุดซึ่งเผยแพร่ในวารสารการแพทย์ New England Journal of Medicine (NEJM) เมื่อวานนี้ระบุว่า วัคซีนของบริษัทไฟเซอร์และบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า เมื่อฉีดครบทั้ง 2 โดสแล้ว จะมีประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาได้ดีเหมือนกับที่สามารถป้องกันสายพันธุ์อัลฟาซึ่งเป็นสายพันธุ์หลักที่แพร่ระบาดในช่วงก่อนหน้านี้
ผลการวิจัยล่าสุดซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร NEJM นี้ สนับสนุนผลวิจัยของกระทรวงสาธารณสุขของอังกฤษ (PHE) ที่เผยแพร่เมื่อเดือนพ.ค.เกี่ยวกับประสิทธิภาพของวัคซีนของไฟเซอร์และของแอสตร้าเซนเนก้าจากข้อมูลการใช้งานจริง
ผลวิจัยล่าสุดพบว่า วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 2 โดสมีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อแบบแสดงอาการจากสายพันธุ์เดลตาได้ 88% เทียบกับสายพันธุ์อัลฟาที่ 93.7% ซึ่งตรงกับตัวเลขที่มีการรายงานก่อนหน้านี้ ขณะเดียวกันวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้ายังสามารถป้องกันการติดเชื้อจากสายพันธุ์เดลตาได้ 67% ซึ่งมากกว่า 60% ที่รายงานก่อนหน้านี้ อีกทั้งยังป้องกันสายพันธุ์อัลฟาได้ 74.5% เทียบกับตัวเลขก่อนหน้านี้ที่ระดับ 66%
ผลการวิจัยล่าสุดยังระบุด้วยว่า วัคซีนของไฟเซอร์และแอสตร้าเซนเนก้ามีประสิทธิภาพในการป้องกันสายพันธุ์เดลตา อย่างไรก็ดี งานวิจัยดังกล่าวเน้นย้ำว่า การฉีดวัคซีนเพียงโดสเดียวนั้นไม่สามารถให้การปกป้องได้มากเพียงพอ โดยพบว่า วัคซีนไฟเซอร์ 1 โดสมีประสิทธิภาพในการป้องกันสายพันธุ์เดลตาเพียง 36% ขณะที่วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้านั้นมีประสิทธิภาพเพียง 30%
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 ก.ค. 64)
Tags: AstraZeneca, NEJM, Pfizer, วัคซีนต้านโควิด-19, วิจัย, แอสตร้าเซนเนก้า, ไฟเซอร์