ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันนี้มีมติ 5 ต่อ 2 เสียง ให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ต่อปี จากระดับ 2.00% เป็น 1.75% ต่อปี มีผลทันที เนื่องจาก กนง.ส่วนใหญ่เห็นว่าสอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจและรองรับความเสี่ยงด้านต่ำที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งดูแลภาวะการเงินให้เหมาะสมกับแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อที่เปลี่ยนไป ขณะที่กรรมการเสียงส่วนน้อยเห็นว่าควรคงอัตราดอกเบี้ยไว้เพื่อใช้ในจังหวะที่เกิดประสิทธิผลสูงสุดภายใต้ขีดความสามารถของนโยบายการเงิน (policy space) ที่มีจำกัด
นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้ช่วยผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการ กนง. เปิดเผยว่า กนง.ประเมินสถานการณ์นโยบายการค้าสหรัฐฯ และการตอบโต้ของประเทศเศรษฐกิจหลัก จะนำไปสู่การปรับเปลี่ยนภูมิทัศน์ทางเศรษฐกิจ การเงิน และการค้าโลกอย่างมีนัย ซึ่งปัจจุบันยังอยู่ในระยะเริ่มต้นที่ความไม่แน่นอนสูงมาก เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มปรับลดลง สถานการณ์มีแนวโน้มยืดเยื้อ และผลกระทบจะทอดยาวไปสู่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการค้าการผลิตโลกที่ทำให้ประสิทธิภาพลดลงในระยะยาว ทั้งนี้ นโยบายการค้าโลกของประเทศเศรษฐกิจหลักในอนาคตยังคาดเดาได้ยาก ส่งผลต่อการประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในระยะต่อไป
ขณะที่เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มปรับลดลง และมีความเสี่ยงด้านต่ำเพิ่มขึ้นจากนโยบายการค้าโลก และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ลดลง อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มลดลงต่ำกว่ากรอบเป้าหมายจากปัจจัยด้านอุปทานเป็นสำคัญ ด้านภาวะการเงินโดยรวมยังตึงตัว
ที่ประชุม กนง. มองว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวลดลง และมีความเสี่ยงด้านต่ำเพิ่มขึ้นจากนโยบายการค้าโลก และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ มองไปข้างหน้านโยบายการค้าจะเริ่มส่งผลกระทบมากขึ้นตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 68 แต่ความไม่แน่นอนยังสูงมาก
กนง.ประเมินภาพเศรษฐกิจภายใต้หลายฉากทัศน์ ซึ่งฉากทัศน์แรก การเจรจาการค้ามีความยืดเยื้อและภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ใกล้เคียงกับปัจจุบัน (reference scenario) อาจทำให้เศรษฐกิจไทยในปี 68 เติบโตราว 2% แต่ฉากทัศน์ที่สงครามการค้ารุนแรงมากและภาษีนำเข้าของสหรัฐสูง (alternative scenario) เศรษฐกิจไทยปีนี้อาจเติบโตได้แค่ 1.3%
นายสักกะภพ กล่าวว่า สิ่งที่เกิดจริงจะขึ้นอยู่กับนโยบายและการปรับตัวของประเทศต่างๆ จึงต้องติดตามพัฒนาการการค้าโลกและผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างใกล้ชิด การแก้ปัญหาและลดผลกระทบจากนโยบายการค้าข้างต้น จำเป็นต้องผสมผสานนโยบายหลายด้านเสริมกัน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับภาคธุรกิจ
ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มลดลงต่ำกว่ากรอบเป้าหมาย จากราคาน้ำมันดิบโลกและมาตรการภาครัฐ ซึ่งมีส่วนช่วยบรรเทาค่าครองชีพและลดต้นทุนของภาคธุรกิจ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มทรงตัว และเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะปานกลางยังยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมายที่ 1-3% ทั้งนี้ นโยบายกีดกันทางการค้าและการเปลี่ยนแปลงห่วงโซ่การผลิตโลก อาจส่งผลต่อแนวโน้มเงินเฟ้อในระยะข้างหน้า
ภาวะการเงินยังตึงตัว สินเชื่อรวมหดตัวเล็กน้อย และคุณภาพสินเชื่อยังปรับด้อยลงโดยเฉพาะสินเชื่อที่อยู่อาศัย และสินเชื่อธุรกิจในกลุ่มที่เผชิญปัญหาเชิงโครงสร้าง นอกจากนี้ นโยบายการค้าโลกอาจสร้างแรงกดดันเพิ่มเติมต่อฐานะการเงินของภาคธุรกิจและครัวเรือน จึงต้องติดตามนัยต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจและภาคการเงินที่มีความเชื่อมโยงกัน
ความผันผวนในตลาดการเงินโลกปรับสูงขึ้น จากความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าประเทศเศรษฐกิจหลัก และส่งผลให้ความผันผวนของตลาดการเงินไทยสูงขึ้นเช่นกัน อย่างไรก็ดี การทำงานของกลไกตลาดการเงินไทยโดยรวมยังคงเป็นปกติ คณะกรรมการฯ เห็นควรให้ติดตามพัฒนาการในตลาดการเงินโลกและการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิด
ภายใต้กรอบการดำเนินนโยบายการเงินที่มีเป้าหมายรักษาเสถียรภาพราคา ควบคู่กับดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน และรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน กนง.ประเมินว่าแนวโน้มเศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอนสูง จึงจะพิจารณาปรับนโยบายการเงินให้เหมาะสมกับแนวโน้มและความเสี่ยงของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในระยะข้างหน้า
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 เม.ย. 68)
Tags: กนง., คณะกรรมการนโยบายการเงิน, ดอกเบี้ยนโยบาย, สักกะภพ พันธ์ยานุกูล