สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ปรับปรุงนิยาม “ผู้ลงทุนสถาบัน” โดยให้กองทุนส่วนบุคคล (private fund) เป็นผู้ลงทุนสถาบัน โดยไม่ต้องพิจารณาคุณสมบัติของผู้ลงทุนรายบุคคลที่ใช้บริการ เพิ่มความยืดหยุ่นให้กับภาคธุรกิจในการดำเนินการ โดยยังมีความคุ้มครองผู้ลงทุนในระดับที่เหมาะสม โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2568 เป็นต้นไป
ก.ล.ต. ปรับปรุงนิยามผู้ลงทุนสถาบันในส่วนของกองทุนส่วนบุคคล (Private Fund: PF) โดยกำหนดให้กองทุนส่วนบุคคลเป็นผู้ลงทุนสถาบันได้โดยไม่ต้องพิจารณาคุณสมบัติของผู้ลงทุนที่ใช้บริการ (look through) เนื่องจากกองทุนส่วนบุคคลบริหารจัดการโดยผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนส่วนบุคคล (ผู้ประกอบธุรกิจ) ซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญและอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. อีกทั้งผู้ประกอบธุรกิจยังมีหน้าที่ในการจัดประเภทผู้ลงทุนและจัดการลงทุนให้เหมาะสมกับประเภทลูกค้า ซึ่งจะทำให้หลักเกณฑ์สอดคล้องกับแนวทางการกำกับดูแล PF และเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับภาคธุรกิจในการดำเนินการ ในขณะที่ยังมีความคุ้มครองผู้ลงทุนในระดับที่เหมาะสม
ทั้งนี้ ประกาศปรับปรุงหลักเกณฑ์ดังกล่าวเผยแพร่ลงในราชกิจจานุเบกษาและมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2568 เป็นต้นไป
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (02 พ.ค. 68)
Tags: ก.ล.ต., กองทุนรวม, กองทุนส่วนบุคคล, นักลงทุนสถาบัน