ทดสอบแจ้งเตือนภัย Cell Broadcast ครั้งแรกของไทย นำร่อง 5 พื้นที่ราบรื่น ไร้ปัญหา

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำร่องทดสอบระบบแจ้งเตือนภัยผ่านสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Cell Broadcast) ระดับเล็ก (อาคาร) ในพื้นที่จริง 5 แห่ง ได้แก่ ศาลากลางจังหวัดเชียงราย, ศาลากลางจังหวัดสุพรรณบุรี, ศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี, ศาลากลางจังหวัดสงขลา และอาคารศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา อาคาร A และอาคาร B ถ.แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ โดยผลการทดสอบเป็นไปอย่างราบรื่น เตรียมเดินหน้าทดสอบระบบแจ้งเตือนภัยอีก 2 ครั้งในระดับใหญ่ขึ้น วันที่ 7 และ 12 พ.ค. 68

นายภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดี ปภ. กล่าวว่า การทดสอบระบบแจ้งเตือนภัยผ่าน Cell Broadcast ในวันนี้ (2 พ.ค.) เป็นการทดสอบระดับเล็ก (อาคาร) จำนวน 5 แห่ง ได้แก่ ศาลากลางจังหวัดเชียงราย จังหวัดเชียงราย ศาลากลางจังหวัดสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี ศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี ศาลากลางจังหวัดสงขลา จังหวัดสงขลา และอาคารศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 อาคาร A และอาคาร B ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ

โดยกำหนดเริ่มสถานการณ์ตั้งแต่เวลา 12.45 น. ในลักษณะของ National Alert ซึ่งเป็นการสมมติการเกิดสถานการณ์อุทกภัยขึ้นในพื้นที่ เพื่อซักซ้อมการดำเนินการให้เป็นไปตามระเบียบปฏิบัติประจำ (SOP) ที่ได้กำหนดไว้ร่วมกัน ไปจนถึงขั้นตอนที่ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้ง AIS, True และ NT ส่งข้อความแจ้งเตือน Cell Broadcast ไปยัง 5 พื้นที่ที่ได้กำหนดไว้ ในเวลา 13.00 น. โดยประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ทดสอบ และพื้นที่ใกล้เคียง จะได้รับเสียงเตือนจากโทรศัพท์มือถือและมีข้อความแจ้งเตือนปรากฏขึ้นบนหน้าจอโดยอัตโนมัติ ซึ่งจะเป็นแบบเดียวกับที่จะได้รับในเวลาที่เกิดสถานการณ์ภัยขึ้นจริง

แต่ในการทดสอบระบบแจ้งเตือนภัยครั้งนี้ เพื่อไม่ให้ประชาชนเกิดความสับสนและตื่นตระหนก ปภ. ได้ส่งข้อความภาษาไทย และภาษาอังกฤษ ว่า “ทดสอบแจ้งเตือนภัย Cell Broadcast จากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) โปรดอย่าตื่นตระหนก This is a test message from Department of Disaster Prevention and Mitigation (DDPM) No action required”

การทดสอบครั้งนี้ ถือว่าเป็นการแจ้งเตือนภัยด้วย Cell Broadcast ครั้งแรกของประเทศนอกห้องปฏิบัติการ ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการแจ้งเตือนภัยของประเทศด้วยระบบใหม่ที่มีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม โดยผลการทดสอบระบบแจ้งเตือนภัยผ่าน Cell Broadcast ระดับเล็ก (อาคาร) ในวันนี้ เป็นที่น่าพอใจ การทดสอบการส่งแจ้งเตือนไปผ่าน Cell Broadcast สามารถส่งสัญญาณไปยังพื้นที่ที่กำหนดได้ภายในเวลาไม่ถึง 1 นาที ทั้งโทรศัพท์มือถือระบบ Andriod และระบบ iOS เป็นไปได้ด้วยดี

ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ที่กำหนด ได้รับข้อความการทดสอบที่ครอบคลุมเต็มพื้นที่ นับได้ว่าเป็นความสำเร็จอีกก้าวหนึ่งในการพัฒนาระบบการแจ้งเตือนภัยให้มีประสิทธิภาพ และเข้าถึงประชาชนในพื้นที่ที่กำหนดได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นไปตามระเบียบปฏิบัติประจำ (SOP) ที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้กำหนดไว้ร่วมกัน และเป็นไปในทิศทางเดียวกัน และสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้ คือ การได้รับความร่วมมือจากผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ ในการดำเนินการทดสอบระบบร่วมกันอย่างเต็มที่

สำหรับในขั้นตอนต่อไป จะเป็นการทดสอบระบบการแจ้งเตือนภัยผ่าน Cell Broadcast ในระดับกลาง (อำเภอ/เขต) โดยกำหนดดำเนินการทดสอบ ในวันที่ 7 พ.ค. 68 เวลา 13.00 น. จำนวน 5 พื้นที่ ได้แก่ อำเภอเถิน จังหวัดลำปาง, อำเภอตากฟ้า จังหวัดนครสวรรค์, อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น, อำเภอท่าชนะ จังหวัดสุราษฎร์ธานี และเขตดินแดง กรุงเทพมหานคร

และครั้งสุดท้าย จะเป็นการทดสอบระบบการแจ้งเตือนภัยผ่าน Cell Broadcast ในระดับใหญ่ (จังหวัด) โดยกำหนดดำเนินการทดสอบ ในวันที่ 12 พ.ค. 68 เวลา 13.00 น. จำนวน 5 พื้นที่ ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดอุดรธานี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดนครศรีธรรมราช และกรุงเทพมหานคร และเพื่อให้ประชาชนที่อยู่อาศัยหรือเดินทางไปยังพื้นที่เป้าหมายในการทดสอบอีก 2 ระดับ สามารถรับข้อความการแจ้งเตือนผ่านระบบ Cell Broadcast ขอความร่วมมือผู้ใช้งานสมาร์ทโฟน ดำเนินการอัปเดตเวอร์ชันระบบปฏิบัติการให้เป็นปัจจุบัน เพื่อทุกคนจะได้รับข้อความอย่างทั่วถึง

โดยภายหลังจากการทดสอบนี้ ปภ.ได้มีการเก็บข้อมูลประสิทธิภาพของระบบผ่านแบบสอบถามออนไลน์ (Google Form) เพื่อทบทวนประสิทธิภาพและปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น พร้อมสรุปผลการทดสอบ และวิเคราะห์ ร่วมกับผู้ให้บริการเครือข่ายทั้ง 3 เครือข่าย ในวันที่ 6 พ.ค. 68 นำไปสู่การปรับปรุงและเตรียมขยายการใช้งานระบบแจ้งเตือนภัยต่อไป

ทั้งนี้ เมื่อเสร็จสิ้นการทดลองระบบทั้ง 3 ครั้งนี้แล้ว ปภ.จะดำเนินการเปิดทดสอบระบบในระดับประเทศพร้อมกันต่อไป เพื่อให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวเกิดความมั่นใจในระบบแจ้งเตือนภัยของประเทศไทย ที่สามารถแจ้งเตือนถึงประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยได้อย่างทั่วถึง ทันท่วงที สามารถปฏิบัติตนได้อย่างถูกต้อง และอพยพไปยังพื้นที่ปลอดภัยได้อย่างทันท่วงที ซึ่งจะช่วยลดความสูญเสียที่เกิดขึ้นจากสาธารณภัย และเหตุฉุกเฉินได้อย่างมหาศาล และมีประสิทธิภาพสูงสุดต่อไปในอนาคต

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (02 พ.ค. 68)

Tags: , , ,