นายสุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์ประจำภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในงานเสวนา “Trade War : เปลี่ยนวิกฤติโลก เป็นโอกาสไทย” กล่าวว่า ภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจ การเมืองโลกที่มีความไม่แน่นอน และสังคมยังมีความเปราะบาง สิ่งที่ประเทศไทยควรต้องเตรียมตัวเพื่อรองรับกับสถานการณ์ระเบียบโลกใหม่ มี 15 เรื่องสำคัญ ดังนี้
1. จากสถานการณ์สงครามการค้ารอบใหม่ Trade War 2.0 ที่เกิดขึ้นนั้น ทำให้เห็นว่าแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ของประเทศไทยที่ได้จัดทำในสมัยรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คงไม่สามารถตอบโจทย์สถานการณ์ในปัจจุบันได้แล้ว เพราะในความจริงนั้น แผนยุทธศาสตร์ดังกล่าวถือว่าล้มละลายไปตั้งแต่ 3 เงื่อนไขที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมาแล้ว ทั้งสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด, สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน และล่าสุดสงครามการค้าในยุคทรัมป์ 2.0
“หากเรายังพยายามดันยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีต่อไป ไม่ได้ตอบโจทย์อะไร นอกจากจ่ายเงินให้คณะทำงานยุทธศาสตร์ เราจะจ่ายเบี้ยเลี้ยงคณะทำงานยุทธศาสตร์ไปเพื่ออะไร ในเมื่อเป็นคณะทำงานที่ตายไปแล้ว” นายสุรชาติ กล่าว
2. รัฐบาลควรเตรียมงบประมาณไว้รับมือกับปัญหาต่าง ๆ ที่จะเป็นผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจที่มากับระเบียบโลกใหม่ ด้วยการจัดสรรงบประมาณในระยะต่อไปให้มีความเหมาะสมกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ
3. เตรียมรับมือกับโจทย์ปัญหาของภาคสังคม จากความเสี่ยงเศรษฐกิจชะลอตัว ซึ่งอาจนำไปสู่การปิดกิจการและการว่างงานเพิ่มขึ้น รวมถึงการดูแลค่าครองชีพ
4.เตรียมปรับตัวในภาคการผลิต เพื่อรองรับปัญหาการแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจ โดยต้องผลิตสินค้าให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด
5.เตรียมปรับตัวในภาคอุตสาหกรรม
6.เตรียมปรับตัวในภาคการเกษตร เพราะอนาคตกำแพงภาษีสหรัฐฯ จะส่งผลกระทบต่อภาคเกษตรมากกว่าที่คิด
7.การปรับตัวในภาคบริการ โดยเฉพาะการท่องเที่ยว ที่ในอนาคตอาจไม่ใช่ความหวังที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย
8.การปรับตัวในเรื่องความมั่นคง เช่น การจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ
9.การเตรียมภาคการเมือง ซึ่งรัฐบาลต้องมีทีมที่ปรึกษาที่ดี และมีความรู้ความเข้าใจที่มากขึ้นในด้านเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ
10.การดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน บนเงื่อนไขของสถานการณ์ค่าครองชีพที่สูงขึ้น
11.เตรียมรับมือกับการเข้ามาทุ่มตลาดในประเทศจากสินค้าจีน
12. การเตรียมพร้อมรองรับการตั้งโรงงานใหม่ และการป้องกันปัญหาสินค้าสวมสิทธิ์จากจีน
13.การเตรียมความพร้อมด้านอารมณ์ของประชาชนที่อาจรุนแรงขึ้น หากการเจรจากับสหรัฐฯ ไม่มีความคืบหน้า โดยเฉพาะก่อนเส้นตายวันที่ 7 ก.ค.นี้
14.การรับมือกับผลกระทบทางการเมือง หากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจหลังวันที่ 7 ก.ค.
15.การเตรียมตัวหาเสียงของพรรคการเมืองในการเลือกตั้งปี 70 ซึ่งเชื่อว่าโจทย์สำคัญในการหาเสียงเลือกตั้ง คือ ประเด็นด้านเศรษฐกิจปากท้อง ทำให้มีโอกาสที่จะเห็นการแจกเงิน และการใช้นโยบายประชานิยมมากขึ้น
- TDRI แนะ 3 ข้อ รับมือภาษีทรัมป์ป่วนโลก
น.ส.กิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการฝ่ายการวิจัยความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า 3 สิ่งที่ควรจะต้องทำเพื่อรับมือกับสงครามการค้า คือ 1.การปรับตัวด้านการค้า 2.การปรับตัวด้านการลงทุน 3.การปรับด้านการเงิน-การคลัง
– ด้านการค้านั้น จะต้องทำการค้าที่มีความหลากหลาย ขยายการเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) ให้มากขึ้น ซึ่งรัฐบาลสามารถช่วยเหลือภาคเอกชนในเรื่องการเจรจาเปิดตลาดการค้าใหม่ ๆ เพราะจะไม่สามารถพึ่งพาตลาดส่งออกหลักเดิมๆ เช่น สหรัฐฯ ได้อีก เนื่องจากต้องกระจายความเสี่ยงไปให้ได้มากที่สุด
– ด้านการลงทุน จำเป็นต้องดึงดูดการลงทุนเข้าประเทศให้มากขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งที่จะช่วยดึงดูดการลงทุนได้นั้น รัฐบาลจะต้องส่งเสริมเรื่องการปรับปรุงและเพิ่มทักษะแรงงานของไทย เพื่อรองรับกับการลงทุนในอุตสาหกรรมเพื่ออนาคต การเตรียมความพร้อมในด้านพลังงานสะอาด และปรับโครงสร้างไฟฟ้า ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนด้านพลังงานให้แก่ผู้ประกอบการ รวมทั้งการเตรียมความพร้อมด้าน Digital Connectivity
– ด้านการเงินการคลัง ท่ามกลางสถานการณ์สงครามการค้าที่ส่งผลให้ดีมานด์โลกเติบโตช้าลง ราคาสินค้าจะไม่ปรับสูงขึ้นมาก อัตราเงินเฟ้อไม่สูง และดอกเบี้ยโลกเริ่มเข้าสู่ทิศทางขาลงนั้น เป็นโอกาสที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะสามารถปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงได้อีก 2 ครั้งในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ซึ่ง ณ สิ้นปี 68 อาจได้เห็นอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 1.25%
น.ส.กิริฎา ยังกล่าวถึงกรณีที่มูดี้ส์ ได้ปรับลด Outlook ของไทย จากระดับ Stable เป็น Negative นั้น เนื่องจากมูดี้ส์มองว่าภาคการคลังของไทยมีข้อจำกัดที่ไม่สามารถก่อหนี้ในอนาคตได้มากแล้ว ดังนั้นเงินงบประมาณที่มีอยู่ จะต้องใช้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด ซึ่งการแจกเงินอาจไม่ใช่คำตอบสุดท้าย
“เพราะฉะนั้น ภาคการคลังมีความสำคัญ ต้องใช้ให้เกิดประสิทธิภาพ ไม่ก่อหนี้ในอนาคตมาก เพราะถ้าถูกลดอันดับเครดิต จะเสี่ยงทำให้ต้นทุนการเงินสูงขึ้น” น.ส.กิริฎา กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (01 พ.ค. 68)
Tags: TDRI, Trade War : เปลี่ยนวิกฤติโลก เป็นโอกาสไทย, กิริฎา เภาพิจิตร, ภาษีทรัมป์, ยุทธศาสตร์ชาติ, สุรชาติ บำรุงสุข