น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อพัฒนาประเทศไทย ครั้งที่ 1/2568 ซึ่งได้มีการกำหนดแนวทางการขับเคลื่อนเพื่อให้ประเทศไทยมีระบบนิเวศที่จะสามารถผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการขับเคลื่อนปัญญาประดิษฐ์ของภูมิภาค และสร้างการเติบโตด้านเศรษฐกิจของประเทศ
ช่วงที่ผ่านมาประเทศไทยต้องเผชิญความท้าทาย ซึ่งในช่วงระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ตัวเลขการเติบโตของประเทศไทย ถือว่าเติบโตค่อนข้างช้า ซึ่งการที่มี AI หรือเทคโนโลยีเข้ามามีส่วนช่วย จึงเป็นสิ่งสำคัญ รัฐบาลได้เล็งเห็นว่าเรื่องดังกล่าว เป็นสิ่งที่สำคัญและรอไม่ได้ จำเป็นต้องมีการพัฒนาต่อเนื่องเพื่อให้ประเทศไทยมีศักยภาพในการแข่งขันกับทั่วโลกได้
ที่ประชุมวันนี้ มีการแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (National AI Committee) เพื่อกำหนดแนวทางในการเตรียมความพร้อมในด้านต่าง ๆ ของประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนากำลังคนด้าน AI ให้มีจำนวนเพียงพอ ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐาน สำหรับเป้าหมายที่จะต้องมีการสร้างความรู้ให้แก่บุคลากรที่เป็น AI User นั้น ต้องไม่น้อยกว่า 10,000,000 คน AI Professional ไม่น้อยกว่า 90,000 คน และ AI Developer ที่ไม่น้อยกว่า 50,000 คน ภายในเวลา 2 ปี
นอกจากนี้ จะมีการส่งเสริมการลงทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ระบบคลาวด์ ดาต้าเซ็นเตอร์ จีพียู และการพัฒนาแพลตฟอร์มปัญญาประดิษฐ์เปิด (Open Source AI Platform) ให้เพียงพอ เพื่อส่งเสริมการขยายตัวของการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในราคาที่เหมาะสม รวมไปถึงการจัดตั้งศูนย์ข้อมูล (Data Bank) ที่จะรวมข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนา AI ในสาขาต่าง ๆ
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวว่า ในส่วนข้อมูลภาครัฐ จะส่งเสริมให้หน่วยงานของรัฐปรับตัวให้เป็นระบบดิจิทัลทั้งหมดภายในปี 2569 คาดว่าการลงทุนด้านโครงสร้างเหล่านี้ จะมีมูลค่าไม่น้อยกว่า 500,000 ล้านบาท โดยเป็นการลงทุนของรัฐบาลและภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศประกอบกัน
สำหรับการส่งเสริมการประยุกต์ใช้ AI ในงานธุรกิจและอุตสาหกรรมนั้น จะมุ่งเน้นสาขาที่สนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจและการพัฒนาสังคมเป็นหลัก เช่น การสาธารณสุข การท่องเที่ยว และเกษตรกรรม เป็นต้น ซึ่งการประยุกต์ใช้ AI จะส่งผลให้การแพทย์ของไทยมีประสิทธิภาพและยกระดับขึ้นเป็นศูนย์กลางของการรักษาพยาบาลในอาเซียนได้ พร้อมกับยกระดับการท่องเที่ยวทั้งในด้านจำนวนนักท่องเที่ยวและการใช้จ่าย อีกทั้งการใช้ AI ด้านการเกษตรจะทำให้การเพาะปลูกเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สร้างผลผลิตที่สูงขึ้น และสามารถทำงานด้านการพาณิชย์และตลาดอย่างตรงเป้าอีกด้วย ซึ่งคาดว่าการสนับสนุนการประยุกต์ใช้ AI ในด้านต่าง ๆ จะส่งผลดีต่อบริการสาธารณสุข อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและเกษตรกรไทยเป็นอย่างมาก
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (01 พ.ค. 68)
Tags: AI, กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, นายกรัฐมนตรี, บอร์ดเอไอ, ประเสริฐ จันทรรวงทอง, ปัญญาประดิษฐ์, ระบบนิเวศ, แพทองธาร ชินวัตร