น.ส.แพทอง นายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “ภารกิจพลิกฟื้นเศรษฐกิจ : Mission Thailand” ว่า โลกเราเปลี่ยนแปลงเร็วมาก แต่อยากให้ประชาชนมั่นใจ สิ่งที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจต่าง ๆ ทั้งไทยและรอบโลก รัฐบาลรับรู้การเปลี่ยนแปลงและรับรู้ถึงปัญหาอุปสรรค และไม่พลาดที่จะมองเรื่องโอกาส แนวทางการแก้ไขปัญหา และการรับมือต่าง ๆ
นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงเรื่องการขึ้นภาษีสหรัฐฯ ว่า มีการพูดคุยกันอย่างเรื่อง กำแพงภาษีสหรัฐอเมริกาเป็นสิ่งที่ทุกคนรู้สึกเป็นห่วง เรามีการพูดคุยกันอย่างไม่เป็นทางการอยู่เสมอ ส่วนจะเป็นเรื่องการดีลลับ หรือเรื่องอะไรก็ตามสหรัฐฯ นั้น มีคนมาดีลในเรื่องนี้ และหลายประเทศเอง คงไม่สามารถเปิดเผยได้ว่าจะทำอะไรบ้าง เพราะการคุยและการตกลงกันเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างมาก เรามีการพยายามที่จะเจรจาต่อรองในประเทศทั้งของเราเองและจับกลุ่มในประเทศอาเซียนเพื่อให้การเจรจามีความเข้มแข็งและมีอำนาจในการต่อรองมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลทำงานอย่างสองทางอย่างเข้มข้นและไม่ได้ปล่อยมือไปไหน
“ขอให้ประชาชนมั่นใจว่า เรามีทีมที่เก่งทั้งภาครัฐและเอกชน ร่วมมือให้คำปรึกษากันเพื่อให้การเจรจาต่อรองเกิดผลมากที่สุดและกระทบกับประเทศไทยน้อยที่สุด เพราะฉะนั้น เศรษฐกิจที่มั่นคง ชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของพี่น้องประชาชนเป็นเป้าหมายหลักที่สำคัญที่สุดของรัฐบาล พร้อมขอให้ความมั่นใจว่ารัฐบาลให้ความสำคัญเรื่องนี้อย่างจริงจังและมองหาแนวทางต่าง ๆ เพื่อเพิ่มโอกาสให้กับประเทศไทยต่อไป”
แจง “มูดี้ส์” ลด Outlook แค่มุมมอง พร้อมเร่งเครื่องศก.ฝ่ามรสุม
ส่วนกรณีบริษัท มูดี้ส์ เรทติ้งส์ ได้ปรับลด Outlook ของไทย จาก Stable เป็น Negative นายกฯ ระบุว่า เรื่องนี้ไม่ใช่การให้คะแนนหรือให้เรตติ้ง แต่เป็นมุมมองของมูดี้ส์ ที่มองว่า การเติบโตหรือศักยภาพการพัฒนาเศรษฐกิจลดน้อยลงอยู่ใน Negative ไม่ได้แปลว่า ไทยขาดความเชื่อมั่นแล้ว ซึ่งปัจจัยที่ทางมูดี์ส์วัดคือ การขึ้นภาษีของสหรัฐฯ แต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทั่วโลก และหลาย ๆ ประเทศ ก็ถูกปรับลด Outlook เป็น Negative เช่นกัน อย่างไรก็ตาม ทางกระทรวงการคลังเฝ้าดูเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด
สิ่งที่เราต้องทำอย่างแรกคือ ต้องไม่ทำให้เขากังวล เตรียมการทางเศรษฐกิจให้ผ่านมรสุมไปให้ได้ เพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้นในเรื่องกำแพงภาษี ขณะเดียวกันต้องมองอนาคต มุ่งการหาเงินเข้าประเทศที่เกิดขึ้นจริง ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมในอนาคตที่เราลงทุนไปแล้วหรือเปิดรับการลงทุนเข้ามา ทั้ง Data Center /semiconductor ซึ่งเม็ดเงินเหล่านี้ที่เข้ามาเป็นสิ่งสำคัญว่าจะทำให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนและเติบโต จึงต้องทำให้มั่นใจว่าการที่ GDP โต 3-4% อย่างต่อเนื่อง
“ไม่ใช่ว่าปีนี้หายไป ปีหน้าขึ้นมา ต้องดูที่ความเติบโตอย่างต่อเนื่อง ต้องทำให้เต็มที่และสิ่งที่ต้องทำต่อ คือการสร้างอุตสาหกรรมใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมการลงทุนต่าง ๆ เมื่อสนับสนุนการลงทุนใหม่ ๆ บริษัทต่างชาติก็ต้องมาจดทะเบียนการลงทุน ก็จะเกิดการลงทุนที่เข้ามา และเกิดการชักชวนให้นักลงทุนรายอื่น ๆ เข้ามาเช่นกัน ซึ่งรัฐบาลพยายามทำอย่างเต็มรูปแบบตั้งแต่ช่วงปีที่ผ่านมา”
ขณะที่ภาครัฐก็ต้องเร่งเรื่องของการลงทุน ซึ่งถือว่า เร่งการลงทุนตลอดปี 2567 มากที่สุด ในรอบ 10 ปี โดยที่ 72% เป็นการลงทุนจากภาครัฐ เพื่อให้เกิดการจ้างงาน ซึ่งก็ทำอย่างเต็มที่และได้ผลทุกกระทรวงที่ได้รับงบมาเกิดการจ้างงานเกิดขึ้นซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลเริ่มทำเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา
นอกจากนี้สิ่งที่ประเทศไทยต้องทำเพิ่มเติมและสนับสนุนต่อ คือ การวิจัย และ การศึกษาให้มากยิ่งขึ้นต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ให้ดียิ่งขึ้นทั้งในเรื่องการประมงภาคอุตสาหกรรมและภาคการเกษตรทุกอย่างต้องลงทุนเรื่องการวิจัยให้มากยิ่งขึ้น ข้อสุดท้ายที่ต้องทำคือการพัฒนาศักยภาพของคนซึ่งถือเป็นทรัพยากรที่สำคัญ
สำหรับประเทศไทยทุกคนอาจจะทราบว่าในปี 2567 ที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยเติบโตช้า GDP ทั้งปีอยู่ที่ 2.5% แต่ในช่วงไตรมาสสุดท้ายตัวเลขขยับขึ้นเป็น 3.2% แสดงให้เห็นว่าการเร่งเครื่องทางเศรษฐกิจเป็นไปอย่างต่อเนื่องและเกิดผลต่อไป แม้ว่าจะมีอุปสรรคผ่านเข้ามาทั้งแผ่นดินไหว และกำแพงภาษี แต่รัฐบาลก็พยายามหาทางออกและพูดคุยกับทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชนและประชาชนเพื่อหาคำตอบที่เป็นประโยชน์จริง ๆ เพราะตนเชื่อเสมอว่า ภาครัฐหลายส่วนหลายมุมเราไม่รู้วิธีทำแต่เราสามารถเป็นผู้สนับสนุนให้เอกชนได้ เพื่อที่จะได้ทำงานร่วมกันกับภาครัฐ อย่างเรื่องกำแพงภาษี เอกชนที่ลงทุนในสหรัฐมีอะไรบ้าง แล้วรัฐสามารถช่วยเหลืออะไรได้บ้าง เราคงจะต้องสนับสนุนในเรื่องเหล่านี้ต่อไป เพราะที่ผ่านมาก็ยังไม่ได้มีนโยบายโดยตรงเพื่อที่จะช่วยให้นักลงทุนคนไทยไปลงทุนต่างประเทศ จึงอยากมุ่งเน้นเรื่องเหล่านี้ให้มากขึ้น เพื่อให้เอกชนนั้นเกิดความมั่นใจและเกิดศักยภาพที่ดีขึ้น
ยันมีนโยบายระยะสั้น-กลาง-ยาว กระตุ้นศก.
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สำหรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ รัฐบาลนี้มีมาตรการทางระยะสั้น กลาง และยาว ในระยะสั้นรัฐบาลก็มีมาตรการปลดล็อคหนี้สินรถกระบะ ซึ่งมาตรการระยะสั้นถือเป็นตัวแปรสำคัญในการผลักดันจีดีพีประเทศไทยให้สูงขึ้น และการกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอย สร้างโอกาสและการหากิน ถือเป็นการต่อลมหายใจให้ธุรกิจรายเล็กสามารถดำรงอยู่ต่อได้
ในขณะที่มาตรการระยะกลาง และยาว เช่น การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ที่ต้องการเชื่อมโยงประเทศไทยกับโลกเข้าหากัน ซึ่งเรื่องเหล่านี้จะสามารถต่อยอดให้กับภาคอุตสาหกรรม ภาคการเกษตร ภาคการท่องเที่ยว และในอีกหลาย ๆ ด้าน เช่น โครงการก่อสร้างรถไฟรถไฟฟ้าความเร็วสูง หรือโครงการก่อสร้างรถไฟรางคู่ รวมถึงโครงการแลนด์บริจด์ เพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ ซึ่งจะสามารถเปิดประตูให้ประเทศมีรายได้ เปิดประตูให้กับนักลงทุนได้มาก
นอกจากนี้รัฐบาลยังให้ความสำคัญเรื่องการพัฒนาเทคโนโลยี หรือ ดิจิทัล รวมไปถึงการเป็นศูนย์กลางทางการบิน เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยว และนักลงทุน และยังมีการพัฒนาความสามารถของมนุษย์อย่างต่อเนื่อง เช่นโครงการหนึ่งทุนอย่างอำเภอ หรือ ODOS เพื่อเตรียมพร้อมสู่อนาคต
สำหรับการดึงดูดการลงทุนรัฐบาลให้ความสำคัญกับเรื่อง Cloud First Policy ซึ่งจะเป็นการดึงดูดการลงทุนในการสร้าง Data Center และ Cloud Service ที่รัฐบาลลงทุนถึง 2.4 แสนล้านบาท เพื่อให้ธุรกิจเหล่านี้เข้ามาเกิดการจ้างงานใหม่ ๆ และทักษะใหม่ ๆ ให้กับคนไทย
พร้อมกันนี้ก็จะมีการสนับสนุนด้านการค้า การลงทุน และภาคการผลิต ทั้งเรื่องการเกษตร, อาหาร หรือการบริการ ซึ่งถือเป็นจุดแข็ง ตัวอย่างเช่น ประเทศจีนที่ได้ทำการเกษตร แต่ว่าพื้นที่ทางการเกษตรไม่เพียงพอต่อความต้องการของคนในประเทศ ซึ่งจะถือเป็นโอกาสของไทยที่จะสามารถส่งออกการเกษตรออกไปได้ เพราะฉะนั้นการทำวิจัยตาม ๆ เพื่อพัฒนาโปรดักส์ ถือเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เช่น ทุเรียน ที่หลายประเทศก็เริ่มผลิตแล้ว หรือข้าว ก็มีหลายประเทศที่เริ่มผลิตข้าวรับประทาน และส่งออก จึงถือเป็นคู่แข่ง และคู่แข่งก็เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ หากไทยไม่พัฒนาสินค้าเกษตรก็เท่ากับว่า จะอยู่ที่เดิม จนถูกเพื่อนบ้านวิ่งแซง
ต่อยอดจุดแข็งด้านท่องเที่ยว
นอกจากนี้ประเทศไทยยังมีจุดแข็งในเรื่องของการท่องเที่ยว ที่มีสถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงาม ซึ่งรัฐบาลได้เพิ่มวีซาฟรี ที่ให้นักท่องเที่ยวอยู่ในประเทศไทยได้นานมากขึ้น และมีนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวร่วมกับอาเซียน “6 ประเทศ 1 เป้าหมาย” อย่างไรก็ตามเรื่องของการท่องเที่ยวจะมีทางตัน เช่น จะมีช่วงไฮซีซั่น และโลว์ซีซั่น อยู่ตลอด
รวมถึงการดำเนินการสถานบันเทิงครบวงจร หรือ ENTERTAINMENT COMPLEX ซึ่งยืนยันว่า ไม่เท่ากับกาสิโน เพราะกาสิโนมีไม่ถึง 10% ของพื้นที่ แต่เป็นเรื่องของการบิดเบือนไปในทางการเมืองมากกว่า เพราะในการสร้าง ENTERTAINMENT COMPLEX ประเทศไทยไม่ได้เสียอะไรเพราะรัฐไม่ได้ลงทุน แต่เป็นเอกชนเข้ามาลงทุน หรือต่างชาติเข้ามาลงทุน รัฐบาลก็เก็บภาษีต่างชาติได้ มากไปกว่านั้น ENTERTAINMENT COMPLEX จะมีพื้นที่สำหรับครอบครัว มีสวนน้ำ มีรีสอร์ท มีโรงแรม มีพิพิธภัณฑ์ ซึ่งจะสร้างรายได้อย่างมากมายในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการจ้างงาน จ้างอาชีพใหม่ ๆ และหากประเทศไทยทำได้จะไม่มีโลว์ซีซั่นหรือไฮซีซั่น
ส่วนที่มีความเป็นห่วงในเรื่องของการพนัน ที่ถูกมอมเมาจากการพนันนั้น นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า เรามีกฎหมายที่จะรองรับเรื่องเหล่านี้ บางคนบอกว่าประเทศไทยกฎหมายไม่จริงจัง กฎหมายเบาไป เราก็จะกำกับดูแล 2 ทาง หากมีใครทำผิดกฎหมายนำเงินเข้ามาฟอกเราจะมีการดำเนินคดีทั้งในประเทศ และผู้ที่ทำผิดก็จะถูกกลับไปดำเนินคดีที่ประเทศของตัวเองด้วย ขณะเดียวกันมีการกำหนดในเรื่องของทรัพย์สินบุคคลที่จะเข้าไปเล่นกาสิโน พร้อมกับย้ำว่า ไม่ใช่ใครก็สามารถเข้าไปเล่นได้ แล้วได้แจ๊กพ็อตได้เงิน 30 ล้านบาทกลับไป จะมีการตรวจสอบประวัติทั้งชาวต่างชาติและคนไทย
นอกจากนี้ในเรื่องอุตสาหกรรมยานยนต์ รัฐบาลได้สนับสนุนที่จะให้ประเทศไทยเป็นอุตสาหกรรมยานยนต์เช่นเดียวกัน ซึ่งทราบว่าอุตสาหกรรมนี้เผชิญกับความไม่แน่นอนเช่นกัน จึงมีนโยบายที่จะเปลี่ยนให้เป็นไฮบริดอยู่ในรถรถไฟฟ้าอีวีซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลสนับสนุนให้เปลี่ยนผ่านต่อไป
โดยทั้งหมดนี้จะเป็นเรื่องของการลงทุนและภาพรวมของเศรษฐกิจที่รัฐบาลมองเห็น และทราบถึงปัญหาอุปสรรค ทั้งในและนอกประเทศที่เกิดขึ้น
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (01 พ.ค. 68)
Tags: GDP, การลงทุน, นายกรัฐมนตรี, รัฐบาลไทย, เศรษฐกิจไทย, แพทองธาร ชินวัตร