นายกฯ สั่งกวดขันแก้ปัญหาลักลอบนำเข้าปูน-เหล็ก ไม่ได้มาตรฐาน

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากการที่รัฐบาลได้รับข้อร้องเรียนจากภาคเอกชนว่าขณะนี้มีความพยายามลักลอบนำเข้าสินค้าปูนซิเมนต์และเหล็กที่ไม่ได้มาตรฐานจำนวนมากตามชายแดน โดยอาจสวมสิทธิ ม.อ.ก.ปลอมด้วย นายกรัฐมนตรีจึงได้สั่งการให้กรมศุลกากรและสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองทำงานร่วมกันในการกวดขันตรวจจับปราบปรามโดยประสานข้อมูลกับกระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงพาณิชย์ด้วย

*สั่งทุกภาคส่วนบูรณาการแก้ปัญหาผลไม้

ส่วนกรณีที่นายกรัฐมนตรีลงพื้นที่ตรวจราชการสำรวจตลาดผลไม้ของไทยในภาคตะวันออกที่จังหวัดจันทบุรีเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา เพื่อรับฟังปัญหาในเรื่องคุณภาพ ภาวะล้นตลาด และขั้นตอนการส่งออกจากภาคเกษตรกร และกลุ่มภาคีต่าง ๆ ในพื้นที่ ซึ่งได้รับข้อมูลที่เป็นประโยชน์อย่างมาก นายกรัฐมนตรีมีข้อสั่งการดังนี้

– ให้กระทรวงมหาดไทยเร่งรัดติดตามสั่งการให้ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรีจัดทำ workshop กับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องภายในจังหวัด ทั้งภาครัฐ และเอกชน ตั้งแต่ต้นน้ำจนปลายน้ำ เพื่อรับฟังปัญหา ความเห็น และข้อเสนอแนะ เพื่อนำมาเป็นโมเดลให้แก่จังหวัดอื่น ๆ ทั้งในด้านของการตรวจสอบมาตรฐานและกระบวนการต่าง ๆ ให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งจะนำไปสู่การแก้ไขกฎหมาย และบทลงโทษให้มีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น

– ให้กระทรวงที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ กำกับดูแลให้เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด เช่น การควบคุมมาตรฐาน GAP รวมทั้งเร่งทบทวน/ปรับปรุงกฎหมายที่ใช้อยู่ในปัจจุบันให้สอดคล้องกับความเป็นจริง พร้อมกำหนดบทลงโทษให้ชัดเจน

– ให้กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงการอุดมศึกษาฯ ร่วมกันพิจารณาความเป็นไปได้ในการจัดให้มีห้องแล็บประจำจังหวัด เพื่อใช้ตรวจสอบคุณภาพของผลไม้ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่จะมีการส่งออกไปยังต่างประเทศ

– ให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน และหน่วยงานความมั่นคง ศึกษาความเป็นไปได้และความเหมาะสมในการออกใบอนุญาตทำงานเพื่อให้แรงงานให้สามารถทำงานข้ามจังหวัดได้ภายในช่วงระยะเวลาที่กำหนด โดยมีมาตรการควบคุมให้เป็นไปตามกฎหมายอย่างชัดเจน

– ให้กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงต่างประเทศ ขอความร่วมมือจากด่านของประเทศจีนในการตรวจสอบสอบคุณภาพผลไม้เพียงด่านเดียวจากไทย รวมทั้งเร่งหามาตรการร่วมกัน เพื่อลดระยะเวลาการเก็บสินค้า และหาพื้นที่หรือโกดังในการรองรับสินค้าที่มีคุณภาพเพื่อลดความเสียหายของสินค้า

– ให้กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงการอุดมศึกษาฯ ศึกษาหานวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ช่วยลดต้นทุน รวมทั้งพัฒนาหาพันธุ์ที่เหมาะสมกับประเทศไทย และตรงตามความต้องการของตลาด

– ให้กระทรวงแรงงาน ศึกษาความเป็นไปได้ในการออกใบรับรองวิชาชีพสำหรับเกษตรกรตัดทุเรียน เพื่อควบคุมคุณภาพของการเก็บเกี่ยวผลผลิต ให้เป็นไปตามมาตรฐานของตลาด

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 พ.ค. 68)

Tags: ,