ผู้ประกันตน ม.33 “ว่างงาน” รับเงินชดเชยเพิ่มเป็น 60% ของค่าจ้างรายวัน รวม 180 วัน

นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้ความเห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ และอัตราการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. … ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ

โดยปัจจุบัน ลูกจ้างที่สิ้นสภาพการเป็นผู้ประกันตน ตามมาตรา 33 แห่ง พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. 2533 เพราะถูกเลิกจ้าง มีสิทธิได้รับเงินทดแทนในกรณีว่างงานตามกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ และอัตราการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน พ.ศ. 2547 ในอัตรา 50% ของค่าจ้างรายวัน ซึ่งอาจไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ

ดังนั้น เพื่อบรรเทาภาระการดำรงชีพของผู้ประกันตนจากสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน จึงเห็นสมควรปรับเพิ่มให้ผู้ประกันตน ได้รับเงินทดแทนในกรณีว่างงานในอัตราที่สูงขึ้น โดยไม่กระทบต่อเสถียรภาพของกองทุนประกันสังคม

“กระทรวงแรงงาน ได้เสนอร่างกฎกระทรวงในเรื่องนี้ ซึ่งมีสาระสำคัญ เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และอัตราการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน พ.ศ. 2567 โดยปรับเพิ่มอัตราการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเพราะเหตุถูกเลิกจ้าง จากอัตรา 50% ของค่าจ้างรายวัน เป็นอัตรา 60% โดยยังคงให้ได้รับครั้งละไม่เกิน 180 วันเช่นเดิม” นายคารม ระบุ

ทั้งนี้ กระทรวงแรงงาน ได้ประมาณการรายจ่ายที่เพิ่มขึ้น จากการปรับเพิ่มอัตราเงินทดแทนดังกล่าว ประมาณ 1,035 ล้านบาทต่อปี

“การปรับเพิ่มเงินทดแทนดังกล่าว จะมีต้นทุนค่าใช้จ่ายเพิ่มจาก 0.53% ของค่าจ้าง เป็น 0.62% ของค่าจ้าง ซึ่งยังคงน้อยกว่าเงินสมทบที่จัดเก็บ รวมถึงกองทุนประกันสังคม ยังสามารถรองรับวิกฤติสถานการณ์ว่างงานสูงกว่าปกติ 4 เท่า เป็นระยะเวลามากกว่า 3 ปี 6 เดือน ซึ่งไม่มีผลกระทบต่อสถานะของกองทุนประกันสังคม” นายคารม กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (06 พ.ค. 68)

Tags: , , , , ,