“พิพัฒน์”ร่วมเวที APEC HRDMM 2025 เสนอ 5 นโยบายแรงงานไทยพร้อมรับ AI ให้ทุกกลุ่มทันโลก

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน พร้อมด้วย นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน และคณะ เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรี APEC ด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (APEC HRDMM 2025) ณ เมืองเชจู สาธารณรัฐเกาหลี โดยได้นำเสนอแนวทางเชิงรุกในการเตรียมแรงงานรับมือโลกการทำงานในอนาคต ภายใต้หัวข้อ “ตลาดแรงงานที่ยืดหยุ่นและมีพลวัต” และ “การตอบสนองต่ออนาคตของงานผ่านนโยบายตลาดแรงงานเชิงรุก (ALMPs)”

นายพิพัฒน์ กล่าวต่อที่ประชุมว่า ประเทศไทยให้ความสำคัญกับการสร้างระบบแรงงานที่ครอบคลุม เป็นธรรม และพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะเทคโนโลยี AI โครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนไป และการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียว

โดยนำ 5 นโยบายหลักที่กระทรวงแรงงานไทยนำเสนอในเวทีโลก ได้แก่

  1. Reskill Upskill และ New Skill: พัฒนาทักษะดิจิทัล สิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยีใหม่ ให้แรงงานทุกกลุ่มทันต่อตลาดแรงงานทั่วโลก
  2. สนับสนุนแรงงานอาชีพอิสระ งานแพลตฟอร์ม: ยกระดับบริการจัดหางานและขยายความคุ้มครองแรงงานรูปแบบใหม่
  3. ส่งเสริมการทำงานผู้สูงวัย: สนับสนุนงานที่ยืดหยุ่นและถ่ายทอดความรู้สู่คนรุ่นใหม่
  4. ขยายประกันสังคม: ให้ครอบคลุมแรงงานทุกกลุ่ม ทั้งแรงงานในระบบ–แรงงานอิสระ และแรงงานแพลตฟอร์ม (กึ่งอิสระ)
  5. ขับเคลื่อน BCG Economy: สร้างงานสีเขียว ส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน และความยั่งยืนในทุกพื้นที่

โดยนายพิพัฒน์ กล่าวต่อว่า จากการประชุม มีเนื้อหาที่น่าสนใจจากประเทศสมาชิก APEC ที่ไทยสามารถนำไปศึกษา เพื่อนำสิ่งที่เป็นประโยชน์กับ แรงงานไทยไปปรับใช้ได้ เช่น

  • สิงคโปร์ ใช้เทคโนโลยีวิเคราะห์ข้อมูลแรงงาน สร้างระบบ “Skill Credit” และ “Job Transition Maps” รัฐลงทุนร่วมกับนายจ้าง เพื่อ Reskill แรงงาน รับการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียว
  • รัสเซีย พัฒนา Job Matching สำหรับคนพิการ–ผู้สูงอายุ พร้อมอุดหนุนภาคเอกชนจ้างแรงงานกลุ่มเปราะบาง
  • ฟิลิปปินส์ ส่งเสริมระบบการเรียนรู้แบบยืดหยุ่นผ่าน Credit-based Learning และสนับสนุนแรงงานพิการ–สูงวัย เข้าสู่ตลาดแรงงานอย่างมีประสิทธิภาพ
  • เปรู เน้น การทำงานทุกช่วงวัย Lifelong Learning และส่งเสริมเศรษฐกิจสีเขียว ควบคู่กับการดูแลแรงงานหญิง–คนพิการ
  • ปาปัวนิวกินี ร่วมมือกับประเทศพัฒนาแล้วเพื่อพัฒนาแรงงานนอกระบบ การทำงานของแรงงานสตรี และสิ่งแวดล้อมในการทำงานที่ปลอดภัย โดยเน้นทักษะดิจิทัลและการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ฝึกอบรม
  • มาเลเซีย ให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตแรงงาน เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำและพัฒนาองค์ความรู้ด้าน AI เพื่อรับมือผลกระทบแรงงาน
  • เกาหลีใต้ พัฒนา “One-Stop Center” ฝึกอบรมแรงงานกลุ่มวัยกลางคน ควบคู่กับการสนับสนุนด้านสุขภาพจิต
  • แคนาดา–ชิลี–ฮ่องกง–นิวซีแลนด์–สหรัฐฯ ต่างผลักดันกฎหมายเพื่อความเท่าเทียม การสร้าง Work-Life Balance และการคุ้มครองแรงงานกลุ่มเปราะบางในสังคมสูงวัย

ด้านนายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า การแสดงวิสัยทัศน์ของกระทรวงแรงงานประเทศไทยในเวที APEC ครั้งนี้ ไม่เพียงตอกย้ำบทบาทด้านแรงงานของภูมิภาค แต่ยังเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้พี่น้องแรงงานไทยว่า “แรงงานไทยมีความสามารถในการแข่งขัน และได้มาตราฐานที่ตลาดแรงงานในโลกต้องการ เพื่อสร้างอนาคตที่ยังยืน

“แรงงานคือหัวใจของการพัฒนา ขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ โดยไทยพร้อมทำงานร่วมกับทุกประเทศสมาชิก APEC เพื่อสร้างโอกาสในอนาคตของแรงงานที่เป็นธรรม และ ยั่งยืน”

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (12 พ.ค. 68)

Tags: , ,