มาตรการภาษี “ทรัมป์”-แผ่นดินไหว ฉุดดัชนีเชื่อมั่นอุตสาหกรรม เม.ย. ปรับลงต่อเนื่อง

ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนเม.ย. 68 อยู่ที่ระดับ 89.9 ปรับตัวลดลง จาก 91.8 ในเดือนมี.ค. 68 ขณะที่ดัชนีคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวลดลงเช่นกัน อยู่ที่ระดับ 93.3 จาก 95.7 ค่าดัชนีฯ ยังอยู่ต่ำกว่าระดับ 100 สะท้อนว่าความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอยู่ในระดับที่ไม่ดี

ปัจจัยด้านลบ

– การผลิตภาคอุตสาหกรรมชะลอตัวจากวันหยุดยาวในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ส่งผลให้จำนวนวันทำงานลดลง

– มาตรการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ กระทบการส่งออก เช่น อัตราภาษีนำเข้าเฉพาะกลุ่มสินค้า (Sectoral Tariff) 25% ในกลุ่มสินค้าชิ้นส่วนและอะไหล่ยนต์, เหล็กและอะลูมิเนียม และการตอบโต้การทุ่มตลาด และการอุดหนุน (AD/CVD) ในสินค้าแผงโซลาร์เซลล์ 375% (เมื่อวันที่ 21 เม.ย. 68)

– เหตุการณ์แผ่นดินไหว ส่งผลให้เกิดการชะลอการตัดสินใจซื้ออสังหาริมทรัพย์แนวดิ่ง และกระทบต่อความเชื่อมั่นใภาคอสังหาริมทรัพย์

– สินค้านำเข้าจากจีนและปัญหาการสวมสิทธิ์ถิ่นกำเนิดสินค้าไทย มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น สะท้อนจากมูลค่าการนำเข้าสินค้าจากจีนที่เพิ่มขึ้นคิดเป็น 20.07%YOY (ณ ช่วงเดือนม.ค.-มี.ค. 68) กระทบภาคการผลิตในประเทศ

– การส่งออกรถยนต์มีแนวโน้มลดลง โดยในเดือนมี.ค. 68 การส่งออกลดลง 9.36%YOY จากมาตรการขึ้นภาษีรถยนต์

ปัจจัยบวก

– การชะลอการบังคับใช้ Reciprocal Tariff ออกไป 90 วัน (สิ้นสุดช่วงต้นเดือนก.ค. 68) โดยยังคงจัดเก็บภาษีนำเข้า Baseline Tariff 10% กับทุกประเทศ ส่งผลให้เกิดการเร่งนำเข้าสินค้าบางประเภทจากลหรัฐฯ เพื่อป้องกันการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน ด้าน

– จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีจำนวนเพิ่มขึ้น จากการจัดกิจกรรม Maha Songkran World WaterFestival 2025 โดยในช่วงวันที่ 6-12 เม.ย. 68 มีนักท่องเที่ยวเข้าไทย 666,180 คน เพิ่มขึ้น 10.73% จากสัปดาห์ก่อนหน้า ช่วยหนุนการจับจ่ายใช้สอยและรายได้ท่องเที่ยวในประเทศ

– มาตรการเยียวยาแผ่นดินไหว (วงเงินไม่เกิน 49,500 บาทต่อหลัง) และลดค่าธรรมเนียมโอน-จดจำนองเหลือ 0.01% (เริ่มวันที่ 22 เม.ย. 58) ส่งผลต่อคลัสเตอร์วัสดุก่อสร้างจากการใช้จ่ายในการซ่อมแซมอาคารที่ได้รับความเสียหาย รวมถึงช่วยรักษาระดับกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาคอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง

คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า

– ความไม่แน่นอนจากนโยบายการค้าระหว่างประเทศและการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ส่งผลให้ภาคการผลิตอุตสาหกรรมมีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่อง และนักลงทุนอาจชะลอการลงทุนโดยเฉพาะในภาคการผลิตอุตสาหกรรม

– ความเสี่ยงจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มชะลอตัว สะทอ้นจากตัวเลข GDP สหรัฐฯ ไตรมาส 1 อยู่ที่ -0.3%

– สภาพอากาศที่แปรปรวนส่งผลกระทบต่อปัญหาอุทกภัยในบางพื้นที่ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้

– การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% เหลือ 1.75% ช่วยลดต้นทุนทางการเงินให้กับผู้ประกอบการและเพิ่มกระแสเงินสดให้กับธุรกิจ

ข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ

1. เสนอให้ภาครัฐเข้มงวดในการตรวจสอบสินค้าจากต่างประเทศที่เข้ามาสวมสิทธิ์ใช้ประเทศไทยในการส่งออก เช่น การออกใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า (C/O) การตรวจสอบกระบวนการผลิตและการนำเข้า/ ส่งออกสินค้าสำเร็จรูปในพิกัดศุลกากรเดียวกัน และติดตามพฤติกรรมการค้าของผู้ประกอบการที่มีการส่งออกไปสหรัฐฯ

2. เสนอให้ภาครัฐจัดตั้งศูนย์ให้คำปรึกษาด้านการตลาดและการส่งออกครบวงจรในระดับภูมิภาค เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ในการเข้าถึงตลาด รวมทั้งการส่งเสริมให้เกิดการเชื่อมโยงการใช้วัตถุดิบภายในประเทศ (Local content)

3. สนับสนุนภาครัฐในการเจรจาความร่วมมือความตกลงการค้าเสรี (Free Trade Agreement: FTA) แผนเพื่อเปิดตลาดสินค้า การค้าและการลงทุนในระดับสูง เช่น ไทย-สหภาพยุโรป (EU), ไทย-เกาหลี (KTEPA), ไทย-สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (CEPA) และอาเซียน-แคนาดา (ACAFTA)

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 พ.ค. 68)

Tags: , , , ,