นพ.วีรวัฒน์ มโนสุทธิ นายแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิ ในฐานะโฆษกกรมควบคุมโรค แถลงสถานการร์โรคแอนแทรกซ์ จ.มุกดาหาร หลังมีผู้เสียชีวิต 1 รายว่า พบผู้ป่วยรายที่สองเป็นชายอายุ 53 ปี มีประวัติชำแหละสัตว์ป่วยเช่นเดียวกัน โดยขณะนี้มีกลุ่มเสี่ยงทั้งหมด 638 ราย แพทย์ได้จัดยาปฏิชีวะป้องกันหลังสัมผัสให้แล้วเป็นเวลา 7 วัน และเฝ้าระวังต่อ 60 วัน โดยจะมีการตรวจหาเชื้อทางห้องวิทยาศาสตร์ทุกรายเพื่อยืนยันจำนวนผู้ที่ติดเชื้อดังกล่าว
นอกจากนี้ได้ประกาศพื้นที่ควบคุมโรครัศมี 5 กิโลเมตรจากจุดที่พบเชื้อดังกล่าว โดยมีวัวที่ได้รับการตรวจและให้วัคซีนจำนวน 1,222 ตัว และหลังจากนี้จะต้องฉีดวัคซีนให้ต่อเนื่องเป็นเวลา 5 ปี ส่วนวัวต้องสงสัยติดเชื้อได้ฉีดยาปฏิชีวนะแล้วจำนวน 124 ตัว
ขณะเดียวกันกรมปศุสัตว์อยู่ระหว่างการสอบสวนโรคเพื่อหาแหล่งที่มาของวันที่ติดเชื้อดังกล่าว พร้อมทั้งมีการเก็บดินบริเวณคอกสัตว์ไปตรวจหาเชื้อ เบื้องต้นพบว่าช่วง 1 เดือนที่ผ่านมาสัตว์ที่ติดเชื้ออยู่ในพื้นที่ ยังไม่พบข้อมูลการเคลื่อนย้ายมาจากที่อื่น รวมถึงการติดตามข้อมูลกรณีประเทศเพื่อนบ้านที่มีรายงานการพบเชื้อโรคดังกล่าว ขณะที่ทางจังหวัดมีคำสั่งห้ามนำสัตว์ออกนอกพื้นที่ แต่ไม่ได้ห้ามการนำเนื้อสัตว์ไปบริโภค ซึ่งขอให้ปรุงสุกก่อนกิน
สิ่งสำคัญคือกรณีเป็นสัตว์ที่ติดเชื้อตายเฉียบพลัน ห้ามประชาชนผ่าซากสัตว์ดังกล่าวโดยเด็ดขาด เพราะเมื่อเชื้อในกระแสเลือดถูกอากาศจะกลายเป็นสปอร์ที่แพร่เชื้อต่อไปได้ ส่วนกรณีนำมูลสัตว์ไปทำปุ๋ยไม่เป็นปัญหา
โดยมีคำแนะนำให้สังเกตุอาการสัตว์เลี้ยงว่ามีอาการป่วยผิดปกติหรือไม่ หากพบให้รับแจ้งปศุสัตว์จังหวัดเพื่อเข้ามาดำเนินการตรวจสอบทันที ส่วนผู้ที่มีอาการป่วยหรือมีประวัติสัมผัสโรคให้สังเกตุอาการตัวเองแล้วรีบพบแพทย์ เช่น ผู้ที่มีอาชีพเกี่ยวกับการชำแหละเนื้อสัตว์แนะนำให้ใช้ถุงมือ และทำความสะอาดมือทุกครั้ง นอกจากนี้ขอให้ประชาชนปรุงเนื้อสัตว์ให้สุกก่อนกิน และโรคดังกล่าวยังไม่พบการแพร่เชื้อจากคนสู่คน
โรคดังกล่าวเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ที่มีพาหะนำโรคเป็นสัตว์เท้ากีบ ได้แก่ วัว ควาย แพะ แกะ โดยผู้ป่วยจะรับเชื้อโรคได้ 3 ทาง คือ 1.การชำแหละสัตว์ที่ป่วยตายจากโรคนี้ทำให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายทางบาดแผลตามผิวหนัง ส่งผลให้เป็นแผล บวมแดง มีตุ่มน้ำ ต่อมน้ำเหลืองโต 2.การรับประทานเนื้อสัตว์ที่ติดเชื้อโรคนี้ โดยปรุงไม่สุก ทำให้เกิดการติดเชื้อในทางเดินอาหาร ส่งผลให้เกิดอาการปวดท้อง ท้องเสีย มีไข้สูง คล้ายกับอาการอาหารเป็นพิษ และติดเชื้อในกระแสเลือด และ 3.การหายใจเอาสปอร์เชื้อโรคนี้ที่อยู่ตามพื้นที่อับชื้นที่ฝังตัวอยู่ได้นานหลายปีเข้าสู่ร่างกาย ทำให้เกิดการติดเชื้อในปอด
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (02 พ.ค. 68)
Tags: มุกดาหาร, วีรวัฒน์ มโนสุทธิ, โรคแอนแทรกซ์