ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ลงมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ.การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ด้วยมติ 295 เสียง ไม่เห็นด้วย 144 งดออกเสียง พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ จำนวน 25 คน กำหนดแปรญัตติใน 15 วัน
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมสภาฯ โดยมีการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ …) พ.ศ… ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้เสนอ โดยนางมนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม ได้กล่าวเสนอหลักการ และเหตุผลของร่างกฎหมายฉบับนี้
สำหรับสาระสำคัญ เพื่อให้ รฟม.สามารถดำเนินกิจการรถไฟฟ้า และดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการตั๋วร่วม ทำให้การเดินทางมีความสะดวก คล่องตัวแก่ประชาชน และ รฟม.สามารถจัดหาประโยชน์ในทรัพย์สิน ซึ่งรวมถึงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อแสวงหารายได้ให้แก่หน่วยงาน ช่วยลดภาระงบประมาณภาครัฐ เช่น การพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์รอบสถานี การบริหารจัดการพื้นที่โฆษณา การให้เช่าพื้นที่ร้านค้า เป็นต้น
นอกจากนี้ ให้ รฟม.สามารถออกพันธบัตรรัฐบาล หรือตราสารอื่น เพื่อประโยชน์แก่กิจการของ รฟม. นอกเหนือจากเพื่อการลงทุน ได้ และการกำหนดอัตราค่าโดยสาร ค่าบริการ ค่าธรรมเนียมการใช้ทรัพย์สินของ รฟม. ต้องได้รับความเห็นชอบจาก รมว.คมนาคม จากเดิมต้องผ่าน ครม.
ด้านนายสุรเชษฐ์ ประวีณวงษ์วุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน อภิปรายว่า กฎหมายฉบับนี้ เสนอเพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเพื่อดึงเงินสะสมมาอุดหนุนรถไฟฟ้าโครงการ 20 บาทตลอดสาย พร้อมตั้งคำถามถึงเรื่องค่าใช้จ่ายในการประสานงานแต่ละปี เมื่อเปรียบเทียบกับรายได้ที่ได้มากับต้นทุน โดยเฉพาะเป็นการล้วงกระเป๋าจาก รฟม.
พร้อมกันนี้ ได้หยิบยกเหตุผลที่เคยประกาศว่าโครงการรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายทำไม่ได้ แต่รัฐบาลควรทำราคาค่ารถไฟฟ้า 8-45 บาทตลอดสาย มองระบบขนส่งรถไฟฟ้าอย่างเป็นระบบ โดยไม่เห็นด้วยจาก 4 เหตุผล คือ 1.ร่างกฎหมายนี้มีการเร่งรีบแซงคิว 2. ร่างกฎหมายที่เข้าสภาฯ แตกต่างอย่างมากจากที่ได้รับฟังความเห็น 3. เนื้อหาแก้ไม่ได้ตั้งใจทำให้ รฟม. ดีขึ้น แต่เป็นการแก้เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าของรัฐบาล และ 4. การลดภาระค่าเดินทาง ควรทำอย่างรอบคอบผ่านกลไกค่าโดยสารตั๋วร่วม ที่ต้องคำนึงถึงผลระยะยาว
“โดยสรุป พ.ร.บ. นี้มีมาเพื่อล้วงกระเป๋า รฟม. 16,000ล้านบาท เพื่อมาทำนโยบาย 20 บาทให้อยู่ได้ 2 ปี ไม่ได้อยู่ยั่งยืนจีรัง ที่เหลือคือหนี้ที่ทุกคนจะต้องร่วมกันจ่าย…การเสนอกฎหมายครั้งนี้ ไม่ได้แก้ปัญหาให้ รฟม. แต่แก้ปัญหาที่รัฐบาลสร้างขึ้น ไม่สมเหตุสมผล 20 บาทตลอดสาย โดยจะแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการล้วงกระเป๋า รฟม.” นายสุรเชษฐ์ กล่าว
นายปัญญา ชูพาณิชย์ ผอ.สำนักนโยบายขนส่งและแผนและการจราจร ชี้แจง แทน รฟม. กรมขนส่งทางราง และ สนข. โดยระบุว่า นโยบายของกระทรวงคมนาคม ต้องการให้ประชาชนใช้ระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้น ซึ่งปัจจุบัน กระทรวงฯ มีการลงทุนโครงการต่าง ๆ มูลค่าสูง เช่น รถไฟฟ้าลงทุนมูลค่ามหาศาล แต่ที่ผ่านมาปริมาณของผู้ใช้รถไฟฟ้าอย่างต่ำ ซึ่งประเด็นที่ทำให้คนใช้บริการน้อย คือเรื่องค่าโดยสาร และความสะดวกในการใช้งาน
ดังนั้น เพื่อให้การใช้รถไฟฟ้าสะดวกมากขึ้น จึงมีการเสนอร่างกฎหมายตั๋วร่วม เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้ระบบรถไฟฟ้าในราคาถูก และจำเป็นต้องใช้งบประมาณช่วยชดเชยให้กับผู้ประกอบการที่ได้รับสัมปทานในปัจจุบัน ส่วนเงินที่นำมาใช้มาจากหลายแหล่ง แหล่งหนึ่งมาจากการจัดสรรของรัฐบาลผ่านงบประมาณแผ่นดิน สนับสนุนค่าโดยสารและเครื่องมือต่าง ๆ และอีกแหล่งหนึ่งที่มีความเป็นไปได้ใช้เงินกำไรสะสมของ รฟม. สนับสนุนการดำเนินการ จึงมีที่มาของการเสนอแก้ไขกฎหมายครั้งนี้
จากนั้น เมื่อเข้าสู่การลงมติ ปรากฏว่าที่ประชุมรับหลักการร่าง พ.ร.บ.การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ด้วยมติ 295 เสียง ไม่เห็นด้วย 144 งดออกเสียง 1 เสียง และไม่ลงคะแนน 2 เสียง พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ 25 คน กำหนดแปรญัตติ 15 วัน
ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า พรรคกล้าธรรม ได้ขอเสนอชื่อ น.ส.กฤษฎิ์ ชีวะธรรมานนท์ สส.ชลบุรี พรรคประชาชน ที่ขณะนี้ประกาศร่วมงานกับพรรคกล้าธรรม ร่วมเป็นหนึ่งในคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ชุดดังกล่าวด้วย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 พ.ค. 68)
Tags: การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย, ประชุมสภา, พิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน, รถไฟฟ้า, สภาผู้แทนราษฎร