ส.อ.ท. ผนึก 10 หน่วยงานรัฐ-เอกชน ยกระดับบริหารจัดการน้ำ สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ

นายชนะ ภูมี ประธานสถาบันน้ำและสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวภายหลังร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ 9 หน่วยงานหลักด้านน้ำทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อผลักดันการบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการภายใต้แนวคิด “น้ำมั่นคง น้ำยั่งยืน” ว่า ส.อ.ท.เล็งเห็นถึงความสำคัญอย่างยิ่งของการบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพต่อการเติบโตของภาคอุตสาหกรรม และความยั่งยืนของเศรษฐกิจโดยรวม ซึ่งทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันสร้างระบบเศรษฐกิจน้ำที่พร้อมรับมือกับความท้าทายของอนาคต ไม่ว่าจะเป็น ภัยแล้ง น้ำท่วม หรือผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พร้อมยกระดับประสิทธิภาพการใช้น้ำ และเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจจากทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด

โดยข้อมูลจากสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สนทช.) เมื่อปี 64 ชี้ให้เห็นว่า ประเทศไทยยังมีประสิทธิภาพการใช้น้ำเฉลี่ยเพียง 7.5 ดอลลาร์/ลูกบาศก์เมตร หรือประมาณ 238 บาท (คิดจากอัตราแลกเปลี่ยน 31.76 บาท/ดอลลาร์) ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลกถึงเกือบ 3 เท่า โดยเฉพาะในภาคเกษตรกรรมซึ่งมีการใช้น้ำถึง 75% ของประเทศ แต่สร้างมูลค่าเพียง 11.4 บาท/ลบ.ม. ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมและบริการใช้น้ำ 25% แต่สร้างมูลค่าสูงถึง 1,059 และ 931 บาท/ลบ.ม. ตามลำดับ สะท้อนให้เห็นถึงโอกาสในการพัฒนาและเพิ่มมูลค่าจากการใช้ทรัพยากรน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัด และความจำเป็นในการวางแผนจัดการทรัพยากรน้ำอย่างรอบด้าน เพื่อตอบโจทย์ทั้งด้านเศรษฐกิจ การอุปโภคบริโภค และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

“เรากำลังเผชิญกับโจทย์ใหญ่ด้านทรัพยากรน้ำในทุกมิติ การร่วมมือกันในวันนี้คือจุดเริ่มต้นสำคัญของการขับเคลื่อนให้การจัดการน้ำ ไม่ใช่เพียงเรื่องของใครคนใดคนหนึ่ง แต่คือภารกิจร่วมของทั้งสังคมไทย ที่สะท้อนถึงความตระหนักร่วมกันของทุกภาคส่วน ต่อความสำคัญของการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน ท่ามกลางความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเติบโตทางเศรษฐกิจ และความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มขึ้น แม้ประเทศไทยจะมีประสบการณ์ในการรับมือกับปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้งมาโดยตลอด การผนึกกำลังครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบบริหารจัดการน้ำของประเทศอย่างรอบด้าน เพื่อสร้างระบบบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพ ครอบคลุม และยั่งยืน” นายชนะ กล่าว

ทั้งนี้จะมีการขับเคลื่อนการบริหารจัดการน้ำของประเทศผ่าน 5 เสาหลักสำคัญ ได้แก่

– สมดุลน้ำและข้อมูล (Water Balance & Data) ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนข้อมูล การติดตาม ประเมิน และคาดการณ์สถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง เพื่อการตัดสินใจที่มีประสิทธิภาพ

– การบริหารจัดการเชิงระบบ (Systematic Management) สนับสนุนข้อมูลและการบริหารจัดการแบบบูรณาการ สร้างสมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทานของน้ำทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ

– องค์ความรู้และนวัตกรรม (Water Innovation) ส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีและองค์ความรู้ผ่านการฝึกอบรมและศึกษาดูงานทั้งในและต่างประเทศ

– เครือข่าย WARROOM ระดับพื้นที่ (Local Water War Room) ยกระดับการทำงานร่วมกันในระดับพื้นที่ด้วยการสร้างเครือข่ายแลกเปลี่ยนข้อมูลและการประเมินสถานการณ์น้ำ

– การสื่อสารข้อมูล (Water Communication) สังเคราะห์และนำเสนอข้อมูลสถานการณ์น้ำและแนวทางการบริหารจัดการความเสี่ยงให้เข้าใจง่ายและเข้าถึงทุกกลุ่มเป้าหมาย

ความร่วมมือครั้งนี้มีพันธมิตรจาก 3 กลุ่มหลัก คือ 1.ด้านนโยบายและแหล่งน้ำ ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC), กรมชลประทาน, กรมทรัพยากรน้ำ, กรมทรัพยากรน้ำบาดาล 2.ด้านข้อมูลและการพยากรณ์ ได้แก่ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.), กรมอุตุนิยมวิทยา, กรมควบคุมมลพิษ และ 3.ด้านการใช้น้ำและภาคเอกชน ได้แก่ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.), สมาคมผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรมเอกชน, ส.อ.ท.

การขับเคลื่อนนี้มีเป้าหมายสำคัญเพื่อยกระดับศักยภาพในการบริหารจัดการน้ำ (Water Management) และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจจากการใช้น้ำ (Water Productivity) อย่างยั่งยืน โดยเฉพาะในพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญของประเทศ เช่น เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ลุ่มน้ำแม่กลอง และลุ่มน้ำท่าจีน เพื่อรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจ ลดความเสี่ยง และเสริมสร้างความมั่นคงด้านน้ำในระยะยาว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 พ.ค. 68)

Tags: , ,