อินเดียและปากีสถานประกาศเมื่อวันเสาร์ (10 พ.ค.) ว่า ทั้งสองฝ่ายตกลงหยุดยิงทันที การตัดสินใจครั้งนี้มีขึ้นหลังจากความขัดแย้งระหว่างสองประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งต่างมีอาวุธนิวเคลียร์ในครอบครอง ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างรวดเร็ว เหตุการณ์บานปลายนี้มีชนวนเหตุจากการกราดยิงนักท่องเที่ยวเสียชีวิตเมื่อเดือนที่แล้วในดินแดนแคชเมียร์ ซึ่งเป็นพื้นที่พิพาทระหว่างสองประเทศ
สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ โพสต์ข้อความเช่นกันว่า ทั้งสองฝ่ายตกลง “หยุดยิงอย่างสมบูรณ์และทันที” ภายหลังสหรัฐฯ เข้ามาเป็นคนกลางช่วยเจรจาข้อตกลงหยุดยิงครั้งนี้
วิกรม มิสรี ปลัดกระทรวงการต่างประเทศอินเดีย แถลงต่อสื่อมวลชนว่า ทั้งสองฝ่ายจะยุติการยิงและการปฏิบัติการทางทหารทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นทางบก ทางทะเล หรือทางอากาศ
ด้านอิซัก ดาร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศปากีสถาน ยืนยันผ่านโซเชียลมีเดียเช่นกันว่า ทั้งสองฝ่ายบรรลุข้อตกลงหยุดยิงแล้ว
“ปากีสถานมุ่งมั่นสร้างสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาคมาโดยตลอด โดยไม่ยอมลดทอนอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของตน!” ดาร์เขียนข้อความดังกล่าวในโพสต์ หลังเข้าร่วมการประชุมของหน่วยบัญชาการแห่งชาติ ซึ่งเป็นหน่วยงานควบคุมอาวุธนิวเคลียร์ของปากีสถาน
มิสรีกล่าวเพิ่มเติมว่า เจ้าหน้าที่ระดับสูงของกองทัพทั้งสองฝ่ายมีกำหนดจัดการเจรจาในวันจันทร์ (12 พ.ค.) ขณะเดียวกัน มาร์โก รูบิโอ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวว่า ทั้งสองฝ่ายจะพบกัน ณ สถานที่ที่เป็นกลาง
ก่อนหน้านี้ในวันเดียวกัน กองทัพปากีสถานแถลงว่า ตนโจมตีเป้าหมายทางทหารหลายแห่งของอินเดีย และทำลายคลังเก็บขีปนาวุธร่อนความเร็วเหนือเสียงแห่งหนึ่ง เพื่อตอบโต้ที่อินเดียโจมตีฐานทัพอากาศ 3 แห่งของปากีสถาน ซึ่งหนึ่งในนั้นตั้งอยู่ ณ เมืองราวัลปินดี ใกล้กรุงอิสลามาบัด เมืองหลวงของประเทศ
ช่วงเช้าวันเสาร์ก่อนหน้านี้ ทั้งอินเดียและปากีสถานต่างส่งสัญญาณว่าจะไม่ยกระดับความเป็นปรปักษ์ หากอีกฝ่ายหนึ่งพร้อมจะทำเช่นเดียวกัน
อินเดียเริ่มปฏิบัติการโจมตีปากีสถานด้วยขีปนาวุธและการโจมตีทางอากาศตั้งแต่วันพุธ (7 พ.ค.) โดยอินเดียกล่าวหากลุ่มติดอาวุธซึ่งมีฐานที่มั่นในปากีสถานว่าเป็นผู้ลงมือก่อเหตุการณ์กราดยิงเมื่อวันที่ 22 เม.ย. เหตุการณ์ครั้งนั้นส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 26 ราย ส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวชาวฮินดูจากอินเดีย และเกิดขึ้นในดินแดนแคชเมียร์ส่วนที่อยู่ภายใต้การบริหารของอินเดีย
ขณะเดียวกัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของกลุ่มประเทศ G7 ออกแถลงการณ์ร่วม เรียกร้องให้อินเดียและปากีสถานใช้ “ความยับยั้งชั่งใจขั้นสูงสุด” และหาทางแก้ไขปัญหาด้วยวิถีทางการทูต
สำหรับกลุ่ม G7 ประกอบด้วยประเทศสมาชิก ได้แก่ สหราชอาณาจักร, แคนาดา, ฝรั่งเศส, เยอรมนี, อิตาลี, ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ รวมถึงผู้แทนจากสหภาพยุโรป
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 พ.ค. 68)