นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดตลาดเช้านี้อยู่ที่ 33.17 บาท/ดอลลาร์ ปรับตัวแข็งค่าจากปิดตลาดเย็นวานนี้ที่ระดับ 33.34 บาท/ดอลลาร์ เคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกับตลาดโลก เนื่องจากดอลลาร์อ่อนค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก หลังตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่ประกาศออกมาเมื่อคืนไม่ค่อยดี และบอนด์ยีลด์ปรับตัวลดลง
ส่วนปัจจัยในประเทศ ตลาดรอดูทิศทางของกระแสเงินทุนต่างประเทศ (Flow) ในตลาดพันธบัตร และการทำธุรกรรมเกี่ยวกับทอง หลังราคาทองในตลาดโลกเมื่อคืนปรับขึ้นมาเกือบ 40 ดอลลาร์/ออนซ์
“บาทแข็งค่าจากเย็นวานนี้ตามตลาดโลก เนื่องจากดอลลาร์ปรับตัวอ่อนค่าหลังตัวเลขเศรษฐกิจออกมาไม่ค่อยดีและบอนด์ยีลด์ลดลง” นักบริหารเงิน กล่าว
นักบริหารเงิน ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ไว้ที่ 33.00 – 33.30 บาท/ดอลลาร์
ปัจจัยสำคัญ
- เงินเยน อยู่ที่ระดับ 145.24 เยน/ดอลลาร์ จากเย็นวานนี้ที่ระดับ 145.90 เยน/ดอลลาร์
- เงินยูโร อยู่ที่ระดับ 1.1199 ดอลลาร์/ยูโร จากเย็นวานนี้ที่ระดับ 1.1201 ดอลลาร์/ยูโร
- อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท/ดอลลาร์ ถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักระหว่างธนาคารของ ธปท. อยู่ที่ระดับ 33.396 บาท/ดอลลาร์
- “คลัง” เคาะ 19 พ.ค.นี้ ประชุมคณะกรรมการกระตุ้นเศรษฐกิจ รับมือภาษีทรัมป์ ด้าน ม.หอการค้าไทยเผยดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน เม.ย. ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ต่ำสุดในรอบ 7 เดือน
- “นักวิชาการ” หนุนรัฐบาล ทบทวนนโยบายแจกเงิน 10,000 บาทหวังใช้ เม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากลงทุน โครงสร้างพื้นฐาน เพิ่มศักยภาพประเทศระยะยาว ด้าน “นักเศรษฐศาสตร์” แนะเปลี่ยน “แจกเงิน” สู่โครงการเน้นจ้างงาน กระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศชงสิทธิพิเศษ ต่างชาติดึงท่องเที่ยวไทย
- เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตร และสหกรณ์ เปิดเผยถึง สถานการณ์การค้าสินค้าเกษตร (พิกัดศุลกากร 01-24 รวมยางธรรมชาติ) ของไทยในตลาดโลก พบว่า ไทยมีมูลค่าการค้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และยังสามารถรักษาตลาดส่งออกได้ สะท้อนจากมูลค่าการค้าสินค้าเกษตรของไทยกับโลกปี 2567 ที่ผ่านมา จำนวน 2,528,839 ล้านบาท จำแนกเป็นมูลค่าส่งออก 1,801,548 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 137,822 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปี 2566 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.28 ในขณะที่มีมูลค่านำเข้า 727,291 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15,912 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.24 ทั้งนี้ ไทยมีมูลค่าการค้ากับอาเซียน (23%) มากเป็นอันดับ 1 รองลงมา คือ จีน (21%) สหรัฐอเมริกา (9%) สหภาพยุโรป (9%) และญี่ปุ่น (7%)
- สำนักงานคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นเปิดเผยตัวเลขประมาณการเบื้องต้นในวันนี้ว่า GDP หดตัวลง 0.2% ในไตรมาส 1/2568 เมื่อเทียบเป็นรายไตรมาส ซึ่งเป็นการหดตัวรายไตรมาสครั้งแรกในรอบ 1 ปี และย่ำแย่กว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะหดตัวเพียง 0.1%
- กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ เปิดเผยดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้ผลิต ประจำเดือนเม.ย.เมื่อวานนี้ (15 พ.ค.)
- กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (PPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้ผลิต ปรับตัวขึ้น 2.4% ในเดือนเม.ย. เมื่อเทียบรายปี ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 2.5% หลังจากที่เพิ่มขึ้น 3.4% ในเดือนมี.ค.
- ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) กล่าวสุนทรพจน์ในการประชุม Thomas Laubach Research Conference เมื่อคืนนี้ว่า อัตราดอกเบี้ยระยะยาวมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจมีการเปลี่ยนแปลง และนโยบายการเงินกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน นอกจากนี้ พาวเวลกล่าวว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เฟดเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้น ส่งผลให้เฟดต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสูงเป็นประวัติการณ์ และแม้ว่าตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อในระยะยาวยังคงใกล้เคียงกับเป้าหมาย 2% ของเฟด แต่ยุคของอัตราดอกเบี้ยใกล้ 0% อาจจะไม่กลับมาอีกในเร็ว ๆ นี้
- สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันพฤหัสบดี (15 พ.ค.) เนื่องจากนักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจ หลังจากสหรัฐฯ เปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่ซบเซา ซึ่งรวมถึงยอดค้าปลีกและการผลิตภาคอุตสาหกรรม
- สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดบวกในวันพฤหัสบดี (15 พ.ค.) โดยได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าของสกุลเงินดอลลาร์ และข้อมูลเศรษฐกิจที่ซบเซาของสหรัฐฯ นอกจากนี้ นักลงทุนยังเข้าซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัย ท่ามกลางสถานการณ์ตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์ หลังจากมีรายงานว่าประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ไม่ได้เข้าร่วมการเจรจาสันติภาพกับยูเครนที่ประเทศตุรกี
- ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ วันนี้ ได้แก่ ตัวเลขการเริ่มสร้างบ้านและการอนุญาตก่อสร้างเดือนเม.ย., ราคานำเข้าและราคาส่งออกเดือนเม.ย. และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคขั้นต้นเดือนพ.ค.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (16 พ.ค. 68)
Tags: ค่าเงินบาท, เงินบาท