นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ที่ระดับ 33.57 บาท/ดอลลาร์ อ่อนค่าจากปิดวันก่อนระดับ 33.41 บาท/ดอลลาร์
โดยตั้งแต่ช่วงคืนวันที่ 30 เม.ย. รวมถึงวันหยุด 1 พ.ค. เงินบาททยอยอ่อนค่าลง ตามการทยอยรีบาวด์แข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ที่ได้แรงหนุนจากภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงิน ท่ามกลางความหวังว่า การเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับบรรดาประเทศคู่ค้าจะมีความคืบหน้ามากขึ้น
คืนนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่รายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ ในเดือนเมษายน โดยบรรดานักวิเคราะห์ต่างประเมินว่า ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) อาจชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า สู่ระดับ 1.3-1.4 แสนราย ส่วนอัตราการว่างงาน อาจทรงตัว สะท้อนภาพตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่ยังดูดีอยู่ แม้จะชะลอตัวลงบ้างก็ตาม นอกจากนี้ ตลาดจะรอลุ้นรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน ซึ่งอาจกระทบต่อบรรยากาศในตลาดการเงินได้
สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาท อาจเคลื่อนไหวในกรอบ Sideways ไปก่อนได้ เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างก็รอลุ้น รายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ในคืนนี้ ซึ่งช่วงก่อนตลาดรับรู้รายงานข้อมูลดังกล่าว เงินบาทอาจพอได้แรงหนุนบ้าง จากการทยอยรีบาวด์สูงขึ้นของราคาทองคำ
“หากราคาทองคำสามารถรีบาวด์สูงขึ้นต่อได้ ก็อาจช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาท อีกทั้งการเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินโดยรวม อาจหนุนให้นักลงทุนต่างชาติทยอยเข้าซื้อสินทรัพย์ไทย โดยเฉพาะหุ้นไทยเพิ่มเติมได้” นายพูน ระบุ
อย่างไรก็ดี ตราบใดที่เงินดอลลาร์ยังมีแนวโน้มทยอยแข็งค่าขึ้น ท่ามกลางภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงิน และความกังวลต่อนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มทยอยคลี่คลายลง ก็อาจยังคงกดดันให้เงินบาทเสี่ยงอ่อนค่าลงต่อได้ไม่ยาก
นายพูน คาดกรอบเงินบาทวันนี้จะอยู่ที่ระดับ 33.35-33.75 บาท/ดอลลาร์
ปัจจัยสำคัญ
- เงินเยน อยู่ที่ระดับ 145.65 เยน/ดอลลาร์ จากเย็นวันพุธที่ระดับ 142.88 เยน/ดอลลาร์
- เงินยูโร อยู่ที่ระดับ 1.1281 ดอลลาร์/ยูโร จากเย็นวันพุธที่ระดับ 1.1364 ดอลลาร์/ยูโร
- อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท/ดอลลาร์ ถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักระหว่างธนาคารของธปท.อยู่ที่ระดับ 33.399 บาท/ดอลลาร์
- มูดี้ส์ เรทติ้งส์ (Moody’s Ratings) สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือระดับโลก ปรับลดมุมมอง (outlook) อันดับความน่าเชื่อถือของสถาบันการเงิน 7 แห่งของไทยเป็น “เชิงลบ” (negative) จาก “มีเสถียรภาพ” (stable) หลังจากเพิ่งลดแนวโน้มอันดับความน่าเชื่อถือของรัฐบาลไทย (sovereign rating outlook) ไปเพียงหนึ่งวันก่อนหน้านี้
- “พิชัย” ชี้สงครามการค้า ฉุดเศรษฐกิจไทยตกหลุมอากาศ 6 เดือน กระทบทั่วโลก คาดไตรมาสแรกจีดีพียังโต 2.5-3.0% จ่อเขย่างบปี 2569 โยกทำโครงการเร่งด่วนกระตุ้นเศรษฐกิจ
- สศค.” หั่นจีดีพีปี 2568 เหลือ 2.1% รับพิษภาษี ทรัมป์-เศรษฐกิจโลกชะลอ พร้อมชง 5 แนวทางรับมือ
- ทีดีอาร์ไอ” ชี้ นโยบายทรัมป์สะเทือนซัพพลายเชนแบ่งโลก 4 ขั้ว แนะไทยรักษาจุดยืนเป็นกลาง รับประโยชน์ย้ายฐานการผลิต ‘สุรชาติ’ แนะรัฐบาลเตรียมพร้อมรับวิกฤติเศรษฐกิจลามการเมือง เตรียม 15 เรื่อง ก่อนครบกำหนดเจรจาใน 90 วัน
- “พาณิชย์” กางยอดการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดน เดือน มี.ค.2568 พุ่ง 1.67 แสนล้านบาท โตพรวด 10.1% ฟุ้งน้ำมันดีเซล-กากถั่วเหลือง-นมผงเด็ก สุดฮอต ส่วน 3 เดือนแรกปี 68 ค้าชายแดนกระฉูด 4.66 แสนล้านบาท
- สมาคมค้าทองคำ เปิดเผยว่า ขณะนี้อยู่ในช่วงพักฐานของราคาทองคำซึ่งจะเห็นว่ามีการปรับลดลงมาจากสถิติสูงสุดใหม่ปีนี้ ทองรูปพรรณ ขายออกบาทละ 55,600 บาท ในวันที่ 22 เม.ย. จนถึงวันที่ 1 พ.ค.68 เวลา 13.19 น. ทองรูปพรรณขายออกบาทละ 52,200 บาท หรือ 9 วัน ลดลงมา 3,400 บาท หลังจากสถานการณ์สงครามการค้าสหรัฐกับจีนเริ่มคลี่คลายมากขึ้น รวมทั้งสหรัฐกับประเทศอื่นอยู่ระหว่างตั้งโต๊ะเจรจา
- นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) เตรียมเสนอหนังสือปกขาว เกี่ยวกับการฟื้นฟูตลาดนักท่องเที่ยวจีน หลังวิกฤตนักท่องเที่ยวจีนปรับตัวลดลง ต่อ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้รัฐบาลสนับสนุน การฟื้นฟูวิกฤตความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวจีนต่อประเทศไทย หลังจากแอตต้านำเสนอแผนการฟื้นฟู ต่อนายสรวงศ์ เทียนทอง รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา และ น.ส.ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) แล้ว
- ผู้แทนการค้าสหรัฐ ระบุเตรียมประกาศดีลการค้ากับหลายประเทศภายในไม่กี่สัปดาห์ ยกเว้น “จีน” ที่ยังไม่มีการเจรจา ขณะที่ปักกิ่งโต้กลับว่าเป็นฝ่ายสหรัฐที่รีบเร่ง สะท้อนความตึงเครียด การค้าที่ยังไม่คลี่คลาย ท่ามกลางจีดีพีสหรัฐ ไตรมาสแรกหดตัวครั้งแรกรอบ 3 ปี
- โฆษกกระทรวงพาณิชย์จีนแถลงว่า จีนกำลังประเมินสถานการณ์ หลังจากเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ได้ติดต่อผ่านฝ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องหลายครั้ง เพื่อขอเจรจาเรื่องภาษีศุลกากร
- เอสแอนด์พี โกลบอล (S&P Global) เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายของสหรัฐฯ อยู่ที่ระดับ 50.2 ในเดือนเม.ย. เท่ากับเดือนมี.ค. แต่ต่ำกว่าตัวเลขประมาณการเบื้องต้นที่ 50.7
- สถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐฯ (ISM) เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของสหรัฐฯ ปรับตัวลงสู่ระดับ 48.7 ในเดือนเม.ย. จากระดับ 49.0 ในเดือนมี.ค. แต่สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 48
- กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ เปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกอยู่ที่ 241,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งสิ้นสุดวันที่ 26 เม.ย. เพิ่มขึ้น 18,000 ราย จาก 223,000 รายในสัปดาห์ก่อนหน้า สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะอยู่ที่ราว 224,000-225,000 ราย และสูงที่สุดนับตั้งแต่เดือนก.พ. ที่ผ่านมา
- สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันพฤหัสบดี (1 พ.ค.) โดยได้แรงหนุนจากการที่นักลงทุนคลายความกังวลเกี่ยวกับสงครามการค้า หลังมีสัญญาณบ่งชี้ถึงความคืบหน้าในการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ และประเทศคู่ค้า ขณะเดียวกันนักลงทุนจับตาตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯ ในวันนี้ เพื่อประเมินแนวโน้มนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด)
- สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงในวันพฤหัสบดี (1 พ.ค.) หลังมีสัญญาณบ่งชี้ถึงความคืบหน้าในการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ และประเทศคู่ค้า ขณะเดียวกันนักลงทุนจับตาตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯ ในวันนี้ เพื่อประเมินแนวโน้มนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด)
- นักลงทุนจับตาตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯ ในวันนี้ ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ตัวเลขจ้างงานจะเพิ่มขึ้นเพียง 129,000 ตำแหน่งในเดือนเม.ย. หลังจากเพิ่มขึ้น 228,000 ตำแหน่งในเดือนมี.ค. และคาดว่าอัตราว่างงานจะทรงตัวที่ระดับ 4.2% ในเดือนเม.ย.
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (02 พ.ค. 68)
Tags: ค่าเงินบาท, เงินบาท