เงินเฟ้อเม.ย.หดตัวครั้งแรกรอบ 13 เดือน แนวโน้มพ.ค.ลงต่อ ยังไม่เข้าเงินฝืด

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) เดือนเม.ย.68 อยู่ที่ 100.14 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไป เดือนเม.ย. ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน -0.22% (YoY) โดยมีสาเหตุหลักมาจากการลดลงของราคาสินค้าในกลุ่มพลังงาน ได้แก่ แก๊สโซฮอล์ น้ำมันเบนซิน และค่ากระแสไฟฟ้า ประกอบกับการลดลงของราคาผักสด ในขณะที่สินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่ม ราคายังคงสูงขึ้น

“อัตราเงินเฟ้อเดือนเม.ย. ติดลบเป็นครั้งแรกในรอบ 13 เดือน เหตุผลสำคัญที่เงินเฟ้อลดลง มาจากปัจจัยเรื่องราคาพลังงานเป็นสำคัญ” นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการ สนค. ระบุ

สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไป เฉลี่ยในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-เม.ย.68) สูงขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 0.75%

ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) เดือนเม.ย.68 อยู่ที่ 101.28 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน เดือนเม.ย. สูงขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 0.98% (YoY) โดยเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ย 4 เดือนแรกของปีนี้ สูงขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 0.91%

ผู้อำนวยการ สนค. คาดการณ์ว่าแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนพ.ค.68 มีโอกาสจะติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 เนื่องจากสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ในระดับต่ำ ส่งผลให้ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวลดลง

อย่างไรก็ดี การที่เงินเฟ้อมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง 2 เดือนนั้น ยังไม่ได้บ่งบอกว่าจะเข้าสู่ภาวะเงินฝืดแต่อย่างใด

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (06 พ.ค. 68)

Tags: , , , , ,