กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) รายงานผลการมอนิเตอร์และรับแจ้งข่าวปลอมของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมระหว่างวันที่ ระหว่างวันที่ 25 เมษายน – 1 พฤษภาคม 2568 พบข้อความที่เข้ามาทั้งหมด 821,891 ข้อความ โดยมีข้อความที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ (Verify) ทั้งสิ้น 815 ข้อความ
สำหรับช่องทางที่มีการพบเบาะแสมากที่สุด คือ ข้อความที่มาจาก Social Listening จำนวน 602 ข้อความ ตามมาด้วยการแจ้งเบาะแสผ่าน Line Official จำนวน 11 ข้อความ และช่องทาง Facebook จำนวน 2 ข้อความ รวมเรื่องที่ต้องดำเนินการตรวจสอบทั้งหมด 208 เรื่อง และจากการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้รับผลการตรวจสอบกลับมาแล้ว 100 เรื่อง
นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (BDE) ในฐานะโฆษกดีอี กล่าวว่า ข่าวปลอมที่ได้รับความสนใจในลำดับต้น ๆ ในสัปดาห์นี้ พบว่าเป็นยังคงเป็นข่าวเกี่ยวกับเรื่องของภัยพิบัติ โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องต่อเนื่องจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว ซึ่งมีผลกระทบต่อสังคมส่วนใหญ่ ทำให้เกิดความตื่นตระหนก เข้าใจผิด สับสน และวิตกกังวลได้ นอกจากนี้ยังมีเรื่องการให้บริการของหน่วยงานรัฐ และเรื่องของสุขภาพ ซึ่งมีผลกระทบต่อประชาชนส่วนใหญ่ โดยขอให้ประชาชน อย่าหลงเชื่อข่าวปลอม เลือกเชื่อ เลือกแชร์ ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ อาจทำให้เกิดความตื่นตระหนก วิตกกังวล เกิดความสับสนในสังคม
- 10 อันดับข่าวที่ได้รับความสนใจ ได้แก่
อันดับที่ 1 : เรื่อง จะเกิดแผ่นดินไหวที่ภาคอีสาน
อันดับที่ 2 : เรื่อง 20 เคล็ดลับอายุยืน จากองค์การอนามัยโลก
อันดับที่ 3 : เรื่อง ภาคเหนือในไทย คือพื้นที่ปลอดภัยที่สุดจากแผ่นดินไหว ไม่ใช่ภาคอีสาน
อันดับที่ 4 : เรื่อง เขื่อนนราธิวาสเสี่ยงแตก เหตุคลื่นทะเลซัดแรงต่อเนื่อง
อันดับที่ 5 : เรื่อง กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เปิดรับตัวแทนพับถุงกระดาษ ทำงานที่บ้าน รายได้ 1,200 บาทต่อวัน ผ่านเพจเฟซบุ๊ก จัดหาฝีมือแรงงานชุมชน
อันดับที่ 6 : เรื่อง เงินดิจิทัล 10,000 บาท จ่ายครบทุกกลุ่มภายในเดือน ก.ย. 68
อันดับที่ 7 : เรื่อง ขบวนการวีซ่านักเรียนจีน! ต่อ ตม. ก่อนลุยไซต์งาน หัวละหมื่น
อันดับที่ 8 : เรื่อง วันที่ 26 มี.ค 68 นายกฯ กัมพูชาเดินทางมาไทย เพื่อขอเจรจาเปิดทางขึ้นเขาพระวิหารฝั่งไทย
อันดับที่ 9 : เรื่อง M-Flow ส่ง SMS ให้ชำระค่าผ่านทางและค่าปรับโดยเร็วที่สุด
อันดับที่ 10 : เรื่อง สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ล็อกเลขท้าย 3 ตัว
สำหรับอันดับ 1 เรื่อง “จะเกิดแผ่นดินไหวที่ภาคอีสาน” กระทรวงดีอี ได้ตรวจสอบร่วมกับ กรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พบว่าเป็นข้อมูลเท็จ โดยขอชี้แจงว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือ ภาคอีสานของประเทศไทย ไม่มีรอยเลื่อนมีพลังพาดผ่านพื้นที่ดังกล่าว จึงถือเป็นพื้นที่ที่มีความปลอดภัยจากแผ่นดินไหวในระดับสูง โดยมีความเสี่ยงในการเกิดแผ่นดินไหวน้อยมากหรือแทบไม่มี
ในส่วนภูเขาไฟในประเทศไทย ปัจจุบันได้ดับสนิทไปหมดแล้ว เมื่อไม่มีหินหนืดกระตุ้นการเคลื่อนตัวตั้งแต่หลัง 10,000 ปี ทางธรณีวิทยาจึงถือว่า ภูเขาไฟนี้ตาย เช่น ภูเขาไฟกระโดง จังหวัดบุรีรัมย์
ในส่วนข่าวปลอมอันดับ 2 เรื่อง “20 เคล็ดลับอายุยืน จากองค์การอนามัยโลก” กระทรวงดีอี ได้ตรวจสอบร่วมกับกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข พบว่าเป็นข้อมูลเท็จ โดยยืนยันว่า ข้อมูลดังกล่าวไม่ตรงกับเอกสารเผยแพร่อย่างเป็นทางการขององค์การอนามัยโลก และขาดแหล่งอ้างอิงที่น่าเชื่อถือ ข้อเสนอแนะบางประเด็น เช่น “ดื่มไวน์ดี ๆ ในปริมาณที่พอเหมาะ” หรือ “กอด” มีความจำเพาะเจาะจงเกินไป แตกต่างจากแนวทางการให้คำแนะนำด้านสุขภาพของ WHO ที่มุ่งเน้นหลักการและปัจจัยที่มีผลกระทบต่อสุขภาพในวงกว้างมากกว่า
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (03 พ.ค. 68)
Tags: Social Listening, กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, ข่าวปลอม, ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม, เตือนภัย, เวทางค์ พ่วงทรัพย์