นายเทวฤทธิ์ มณีฉาย สมาชิกวุฒิสภา (สว.) แถลงถึงการยื่นญัตติชะลอการตั้งคณะกรรมาธิการสามัญ เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และอัยการสูงสุด และการให้ความเห็นชอบบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่เตรียมเข้าสู่การประชุมวุฒิสภาสมัยวิสามัญ ในวันที่ 30 พ.ค.นี้ ออกไปจนกว่าจะมีคำตัดสินในคดีฮั้วเลือก สว.ว่า เบื้องต้น ได้ยื่นเรื่องผ่านฝ่ายเลขาฯ ไปแล้ว และหวังว่าการประชุมในวันที่ 29-30 พ.ค.นี้ ประธานวุฒิสภาจะบรรจุญัตติดังกล่าว เพื่อให้ที่ประชุมมีมติต่อไป
นายเทวฤทธิ์ กล่าวว่า สิ่งที่ต้องตระหนัก คือ สว.ผู้ที่ถูกร้อง ณ ปัจจุบันยังต้องถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ จึงต้องให้ความเป็นธรรม แต่สิ่งที่เป็นข้อกังวล คือ ตั้งแต่รัฐธรรมนูญ ปี 2540 เป็นต้นมา ได้ออกแบบกระบวนการตรวจสอบผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ให้เป็นหน้าที่ขององค์กรอิสระ แปลว่าต้องใช้องค์กรอิสระ ที่ไม่อยู่ฝั่งหรือฝ่ายใด ซึ่ง สว.ส่วนใหญ่ที่ตั้งคำถามถึงบทบาทนี้ จึงไปร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ และ ป.ป.ช.
“แม้ สว.จะยังเป็นผู้บริสุทธิ์ แต่การเป็นผู้ตัดสินบุคคลที่จะเข้ามาเป็นองค์กรอิสระ ทั้งที่เป็นคู่กรณีกัน จึงคิดว่าเบื้องต้น ควรต้องชะลอการให้ความเห็นชอบบุคคลในองค์กรเหล่านั้น เพื่อดำรงไว้ซึ่งหลักความเป็นธรรม และอิสระ จึงหวังว่าประธานวุฒิสภา จะบรรจุญัตตินี้เข้าสู่ระเบียบวาระ และหวังว่า สว.ที่มีประเด็นอยู่ ย่อมจะไม่ใช้อำนาจในช่วงเวลานี้ เพื่อทดสอบความเป็นธรรมในจิตใจของตนเอง” สว.เทวฤทธิ์ กล่าว
ส่วนกรณีที่ น.ส.นันทนา นันทวโรภาส สว. เตรียมรวบรวมรายชื่อ สว. 20 คน ส่งประธานวุฒิสภา เพื่อยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้มีคำสั่งให้ สว.หยุดปฏิบัติหน้าที่นั้น นายเทวฤทธิ์ กล่าวว่า จริงอยู่ที่ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 อาจให้บทบาทของศาลรัฐธรรมนูญ ในการยับยั้ง หรือสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ระหว่างมีการสอบสวน แต่ส่วนตัวมองว่าเป็นเรื่องที่ไม่สมดุลกับระบอบประชาธิปไตย เพราะควรจะเป็นเพียงแค่การวินิจฉัยข้อกฎหมายต่าง ๆ แต่ไม่ควรจะมีบทบาทในการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
“วันนี้ครบรอบ 11 ปีของการรัฐประหารปี 2557 ซึ่งเริ่มมีกระแสดังแว่วขึ้นมา ด้วยความขัดแย้งทางการเมือง ทั้งแดง และน้ำเงิน ทำให้ประชาชนอาจตั้งคำถามกับฝ่ายบริหาร และฝ่ายนิติบัญญัติ โดยเฉพาะ สว. ว่ามีความชอบธรรมหรือไม่ แต่ไม่ได้หมายความว่า เราจะใช้ช่องทางอื่น หรือใช้บริการอื่น เช่น การเกิดกระแสคิดถึงลุงตู่ เป็นต้น” นายเทวฤทธิ์ ระบุ
อย่างไรก็ดี หากญัตติที่ตนเสนอนี้ ประธานวุฒิสภาไม่บรรจุเข้าสู่วาระการประชุม ก็จะเสนอเป็นญัตติด่วนด้วยวาจา เพื่อขอให้วุฒิสภาชะลอการดำเนินการดังกล่าว ทั้งนี้ มั่นใจว่าจะไม่กระทบกับกรอบเวลาการให้ความเห็นชอบกรรมการในองค์กรอิสระ รวมถึงการทำหน้าที่ของกรรมการองค์กรอิสระ เพราะตามกฎหมายยังสามารถให้รักษาการต่อได้
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 พ.ค. 68)
Tags: สมาชิกวุฒิสภา, เทวฤทธิ์ มณีฉาย, แต่งตั้งองค์กรอิสระ