เวทีเสวนา ” 3 กองทุนสุขภาพ” ชูโมเดล “ขนมชั้น” สร้างความเป็นธรรม

ปัจจุบันสิทธิสุขภาพภาครัฐของไทย มีการจำแนก เป็น สิทธิหลักประกันสุขภาพ 66.896 ล้านคน สิทธิบัตรทอง 46.934 ล้านคน สิทธิประกันสังคม 12.865 ล้านคน สิทธิข้าราชการ/รัฐวิสาหกิจ 5.321 ล้านคน สิทธิพนักงานส่วนท้องถิ่น 0.681 คน สิทธิครูเอกชน 0.081 ล้านคน แต่ไม่ได้มีมาตรฐานเดียวกัน จึงทำให้เกิดคำถามตามมาว่าทำไมสิทธิประโยชน์ใช้มาตรฐานเดียวกันไม่ได้?

โดยได้มีการหยิบยกตัวอย่าง

  • สิทธิประกันสังคม กรณีการคลอดบุตรจะได้ 15,000 บาทต่อครั้ง ครอบคลุมทุกอย่างตั้งแต่ฝากครรภ์ อีกทั้งในด้านของทันตกรรม
  • สิทธิบัตรทอง เรื่องการขุดหินปูน อุดฟัน ถอนฟันและผ่าฟันคุดไม่จำกัดจำนวนครั้งและจำนวนค่าใช้จ่าย
  • สิทธิประกันสังคมที่จ่ายเองจำกัดค่าใช้จ่ายไม่เกิน 900 บาทต่อปี

ขณะที่การรักษาโรคมะเร็งในส่วนสิทธิข้าราชการ สิทธิบัตรทองรักษาทุกมะเร็งตามการวินิจฉัยและไปรักษาที่ไหนก็ได้ที่สะดวก ส่วนสิทธิประกันสังคม ยังไม่ทราบจะได้รับเมื่อไหร่

ในเวทีเสวนา “ทลายข้อจำกัดสิทธิประโยชน์ 3 กองทุนสุขภาพ สู่มาตรฐานที่เท่าเทียม” ร่วมหาทางออก และเสนอแนวทางปรับปรุงระบบหลักประกันสุขภาพให้เท่าเทียมและเป็นธรรมยิ่งขึ้น

นายสิทธิชัย งามเกียรติขจร ผู้อำนวยการกองสวัสดิการรักษาพยาบาล กรมบัญชีกลาง กล่าวว่า ต้องเข้าใจก่อนว่าสิทธิแต่ละกองทุนไม่ได้เกิดขึ้นพร้อมกัน แหล่งที่มาของกองทุน แหล่งงบของกองทุนแตกต่าง ทำให้กลไกการเบิกจ่ายไม่เหมือนกัน แต่หากการบริการของหน่วยบริการ โรงพยาบาลเหมือนกันหมด มีมาตรฐานการรักษาเหมือนกัน แต่ละกองทุนแทบจะไม่ต้องมาเถียงกันว่า สิทธิไหนดีกว่ากันเลย

ดังนั้นหากระบบบริการของรัฐดี หน่วยบริการปฐมภูมิดูแลคนไทยใกล้บ้านใกล้ใจอย่างดี มีการส่งต่อไปยังหน่วยบริการตามความเหมาะสม หากกลไกสอดประสานกันหมด กลไกการจ่ายยอมตามจ่ายได้ ก็จะไม่มีปัญหา แต่ปัญหาคือวันนี้ตามไปจ่ายไม่ได้

“ในเรื่องการควบคุมค่ารักษาพยาบาลให้เหมาะสมแต่ละกองทุนนั้น ขณะนี้รัฐบาลได้แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาค่ารักษาพยาบาลของสวัสดิการรักษาพยาบาลของประเทศไทย ซึ่งมีการประชุมและออกแนวทางมาดำเนินการแล้ว” นายสิทธิชัย กล่าว

สปสช.แจงข้อจำกัดสิทธิบัตรทอง

ภญ.ยุพดี ศิริสินสุข รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ข้อจำกัดของสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือสิทธิบัตรทอง ที่เห็นชัดคือ ตัวระบบบริการ โดยเฉพาะพื้นที่กรุงเทพมหานคร สะท้อนปัญหาได้ชัดเจน ยิ่งเมืองใหญ่ ๆที่กระทรวงสาธารณสุขไม่ได้ครอบคลุมดูแล รวมถึงค่าตอบแทนเป็นตัวชี้นำว่าจะดูแลผู้ป่วยอย่างไร ก็ถือว่าเป็นจุดอ่อน ตั้งแต่ปฐมภูมิ ส่วนทุติยภูมิก็ไม่เพียงพอ เพราะหน่วยบริการปฐมภูมิ เมื่อจำเป็นต้องส่งต่อจะข้ามไประดับมหาวิทยาลัย หรือตติยภูมิทันที ทำให้ค่าใช้จ่ายสูง แม้จะเน้นการเข้าถึงได้จริง แต่ไม่ได้สร้างระบบบริการที่เชื่อมโยงกัน นี่คือ ความเจ็บปวดของคนกทม.มาตลอด

“ประเด็นการไม่ส่งต่อของหน่วยบริการปฐมภูมิ ต้องบอกว่าหลายแห่งมีการพัฒนาระบบบริการ หลายแห่งดูแลผู้ป่วยได้ แต่ประชาชนยังไม่ค่อยเชื่อมั่น นี่เป็นอีกจุดที่เราต้องกลับมาฟื้นฟูระบบแพทย์ใกล้บ้านใกล้ใจให้มากขึ้น” ภญ.ยุพดี กล่าว

ภญ.ยุพดี กล่าวอีกว่า เรื่องการกำหนดชุดสิทธิประโยชน์แต่ละกองไม่เท่ากัน จนกลายเป็นดราม่า อย่างประกันสังคมไม่เท่าบัตรทอง แต่จริง ๆ เป็นเพราะบัตรทองเดินหน้าไปก่อน แต่ประกันสังคมกำลังพัฒนาตาม จริง ๆ บัตรทองมีอำนาจการต่อรอง สามารถช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้ ประเด็นสำคัญ คือ จะทำอย่างไรให้ 3 กองทุนมาร่วมกันในกระบวนการจัดซื้อจัดหาตรงนี้

“วันนี้หน่วยบริการมองว่า บัตรทองจ่ายให้น้อย ก็ต้องมาดูว่าต้นทุนจริง ๆ เท่าไหร่ ซึ่งข้อมูลที่สปสช.ได้มาจากการคำนวณ มาจากคำนวณปีที่ผ่านมาเพื่อของบขาขึ้น ก็อาจเป็นจุดอ่อนที่เราไม่สามารถคำนวณแบบเรียลไทม์ได้ ทำให้ต้องใช้ข้อมูลของเก่าบวก 2 ปีที่ผ่านมา ดังนั้น หากสามกองทุนบวก 1 กองทุนคืนสิทธิ มาคุยกันเรื่องฐานงบประมาณ ต้นทุนจริงๆ เป็นเท่าไหร่ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับหน่วยบริการมากขึ้น” รองเลขาฯ กล่าว

สปส. ชี้การเข้าถึง-มีส่วนร่วมยาก

นพ.ณัฐ ศิริรัตน์บุญขจร ภาคประชาชนจากฝั่งประกันสังคม ทีมประกันสังคมก้าวหน้า กล่าวว่า ก่อนอื่นหลายคนอาจสงสัยว่าเงินสมทบของผู้ประกันตนที่จ่าย 750 บาทต่อเดือน แบ่งสัดส่วนอย่างไรบ้าง โดยเงิน 750 บาทต่อเดือน แบ่งเป็นว่างงาน 75 บาท คุ้มครอง 4 กรณีเจ็บป่วย 225 บาท และสงเคราะห์บุตรและชราภาพ 450 บาท ส่วนเรื่องสิทธิประโยชน์ทางการแพทย์จะเป็นอำนาจของคณะกรรมการการแพทย์ (บอร์ดแพทย์) แต่งตั้งโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ซึ่งมีอำนาจเทียบเท่าคณะกรรมการประกันสังคมชุดใหญ่ แต่ปัญหาของบอร์ดแพทย์ที่ผ่านมาคือ เข้าถึงยาก แทบไม่สามารถเข้าร่วมหรือเสนอข้อคิดเห็นผ่านช่องทางปกติใดๆได้ การจะมีการปรับเปลี่ยนสิทธิใด ๆ กลายเป็นว่าต้องร้องเรียน ต้องออกสื่อ

นพ.ณัฐ กล่าวอีกว่า กำแพงที่รอการพัฒนาของประกันสังคม คือ การมีส่วนร่วมของผู้ประกันตนค่อนข้างยากมาก ไม่มีช่องทางให้เสนอแนะ หรือเพิ่มเติมสิทธิประโยชน์ใด ๆ การมีส่วนร่วมของนักวิชาการก็ยาก อย่างต้องการทำข้อมูลวิชาการ ข้อมูลวิจัย หลายครั้งถูกปฏิเสธ และเมื่อไม่มีข้อมูลทางวิชาการก็จะส่งผลต่อการดีไซน์ระบบที่เหมาะสมได้ รวมถึงบุคลากรของสำนักงานประกันสังคมก็จำกัด ขาดแคลนบุคลากรอีกมาก ในเรื่องการบูรณาการร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข และกองทุนอื่น ๆ ยังไม่เต็มที่ อย่างกระทรวงสาธารณสุข ไม่ค่อยเห็นภาพความร่วมมือกับกองทุนอื่น ๆ มีแต่บัตรทอง รวมถึงเรื่องหลักเกณฑ์การพิจารณาสิทธิประโยชน์ต้องชัดเจน โปร่งใส

ชูโมเดล “ขนมชั้น” สร้างความเป็นธรรม

นพ.ถาวร สกุลพาณิชย์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า สิ่งที่กำลังมานั่งเถียงกันอยู่ในเขาวงกต คือ เราควรเป็นกองทุนเดียว หรือหลายกองทุน จริง ๆ ควรก้าวข้ามเรื่องนี้ เพราะไม่ว่าแบบใด ไม่มีอะไรการันตีว่า จะลดความเหลื่อมล้ำได้จริง

สิ่งสำคัญต้องทำอย่างไรตามข้อกฎหมายที่มีอยู่ในเกิดความเป็นธรรมจริง ๆ หลัก ๆ คือ ต้องมีแพคเกจเหมือนกัน วิธีจ่ายเหมือนกัน โรงพยาบาลถึงจะรักษาเหมือนกัน

นพ.ถาวร กล่าวอีกว่า ข้อเสนอหนึ่งที่สำคัญ คือ เมื่อครั้งทำหน้าที่ในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ มีการศึกษาเรื่องโมเดลขนมชั้น โดยการจำแนกชุดสิทธิประโยชน์ออกเป็นส่วน ๆ ได้แก่

  • ชั้นที่ 1 สิทธิประโยชน์พื้นฐานด้านการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันควบคุมโรค รักษาพยาบาล และฟื้นฟูสภาพ ที่จำเป็นและคุ้มค่า เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ สอดคล้องกับมาตรา 5 ของพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545
  • ชั้นที่ 2 บริการทางการแพทย์อื่น ๆ ที่เป็นส่วนเสริมที่กองทุนแต่ละกองทุนสามารถเลือกนำมาเสริมให้แก่กลุ่มเป้าหมายของตนได้ตามความเหมาะสม ซึ่งสอดคล้องกับมาตรา 9 และ 10 ของพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพฯ
  • ชั้นที่ 3 บริการอื่น ๆ ที่เป็นส่วนเสริมตามความต้องการของคน รวมถึงความสะดวกสบายฯลฯ อาทิ การขอใช้ห้องพิเศษ อุปกรณ์ทางการแพทย์ หรือยาที่เกินกว่ากลุ่มที่กำหนดว่าจำเป็นและคุ้มค่า ซึ่งสอดคล้องกับมาตรา 9 และ 10 ของพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพฯ

“เราต้องก้าวข้ามกองทุนเดียวหรือหลายกองทุน แต่ต้องมาคุยกันให้ชัดว่า จะทำให้เกิดความเป็นธรรมอย่างไร ซึ่งโมเดลขนมชั้น เป็นอีกแนวทางในการสร้างความเป็นธรรม และต้องมาร่วมกันสร้างสิทธิประโยชน์กลางของทุกกองทุนภายใต้มาตรา 5 (ชั้นที่หนึ่งของโมเดลขนมชั้น) ที่มีราคาที่เหมาะสมตามมาตรา 45 และสร้างกลไกการปรับปรุงสิทธิประโยชน์กลางและราคาต่อเนื่องทุกปี ที่สำคัญต้องพัฒนากลไกกำกับ อภิบาลให้ดี” นพ.ถาวร กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 พ.ค. 68)

Tags: , , , , , ,