นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ปัญหาสินค้าและธุรกิจต่างประเทศที่ผิดกฎหมาย เป็นปัญหาใหญ่ระดับประเทศ และสถานการณ์การค้าของโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง และรวดเร็ว ซึ่งในวันนี้ต้องยอมรับว่า การใช้วิธีการเดิม ๆ ไม่ทันต่อการปราบปรามและแก้ไขปัญหาสินค้าและธุรกิจต่างประเทศที่ฝ่าฝืนกฎหมาย
ปัจจุบัน กระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ปราบปรามการผลิต นำเข้า และจำหน่ายสินค้าผิดกฎหมายที่ไม่ผ่านมาตรฐาน มอก. อย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง โดยเฉพาะการจำหน่ายสินค้าผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ กำหนดรายการสินค้าที่ต้องเฝ้าระวังการลักลอบสวมสิทธิ์เป็นสินค้าไทยเพิ่มเติม เร่งปิดช่องโหว่ทางกฎหมายที่เอื้อต่อการสวมสิทธิ์ เพิ่มบทลงโทษแก่ผู้กระทำความผิด ตรวจสอบโรงงานต่างชาติฝ่าฝืนกฎหมาย ตรวจสอบแหล่งที่มาของเงินทุนจดทะเบียน ทบทวนเงื่อนไขการส่งเสริมการลงทุนให้มีการจ้างแรงงานไทย และการใช้ปัจจัยการผลิตในประเทศ และยกระดับการติดตามตรวจสอบให้เป็นไปตามเงื่อนไขอย่างเคร่งครัด
โดยช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา (ต.ค.67-มี.ค.68) “ชุดตรวจการสุดซอย” ของกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ปราบปรามอุตสาหกรรมศูนย์เหรียญ ซึ่งเป็นการกระทำความผิดหลากหลายรูปแบบ อาทิ โรงงานต่างชาติที่มีลักษณะเข้าข่ายเป็นนอมินี ซึ่งอยู่ในระหว่างการขยายผลร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ การลักลอบนำเข้าสินค้าที่ไม่ผ่านมาตรฐาน โดยพฤติกรรมผู้กระทำความผิดมีการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ และไม่มีตัวตนในประเทศไทย การลักลอบสวมสิทธิ์ผลิตสินค้าที่กำหนดให้ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน และส่งออกโดยอ้างว่าเป็นสินค้าไทย การจำหน่ายสินค้าไม่ได้มาตรฐาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแพลตฟอร์มออนไลน์ เชื่อมโยงกับกลุ่มทุนศูนย์เหรียญ โดยยึดอายัดสินค้าไม่ได้มาตรฐานกว่า 692.14 ล้านบาท
ด้าน นายบรรจง สุกรีฑา รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (กมอ.) ที่ตนเป็นประธาน ได้ประชุมกันเมื่อวันที่ 15 พ.ค.68 เพื่อพิจารณาแต่งตั้งคณะอนุกรรมการศึกษาการเพิ่มประสิทธิภาพในการกำกับดูแลมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เพื่อทำหน้าที่ในการศึกษาการดำเนินการเพิ่มประสิทธิภาพในการกำกับดูแลมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมด้วยการพัฒนากระบวนการทั้งระบบ ตั้งแต่การกำหนดมาตรฐาน การตรวจสอบรับรอง และการกำกับดูแล เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลและรองรับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว รวมทั้งจัดทำข้อเสนอแนะ และแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพในการกำกับดูแลผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมไทย และคุ้มครองความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมีมติเห็นชอบร่างมาตรฐานจำนวน 46 มาตรฐาน แบ่งเป็น สินค้าควบคุม 2 มาตรฐาน ได้แก่ เคเบิลเส้นใยนำแสงโทรคมนาคมภายนอกอาคาร ชนิดแขวนในอากาศรับน้ำหนักตัวเองได้ และเคเบิลเส้นใยนำแสงชนิด ADSS แขวนตามแนวสายไฟฟ้า และมาตรฐานทั่วไป จำนวน 44 มาตรฐาน เช่น ถุงพลาสติกบรรจุอาหาร, ถุงพลาสติกบรรจุอาหารสำหรับอุ่นในไมโครเวฟ, ยานยนต์ที่ใช้บนถนน-ส่วนควบและเครื่องอุปกรณ์ระบบการใช้ก๊าซธรรมชาติอัดเป็นเชื้อเพลิง, อนุภาคนาโนกักเก็บสารสกัดใบกระท่อม, รหัสอักษรเบรลล์คอมพิวเตอร์สำหรับประเทศไทย เป็นต้น
พร้อมทั้งเห็นชอบรายชื่อมาตรฐานที่ สมอ. จะจัดทำเพิ่มเติมในปี 2568 อีก 160 มาตรฐาน ครอบคลุมกลุ่มอุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ, อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร, อุตสาหกรรมหุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ และอุตสาหกรรมส่งเสริมผู้ประกอบการ จากเดิมที่บอร์ดอนุมัติรายชื่อมาตรฐานไปแล้ว 611 มาตรฐาน รวมเป็น 771 มาตรฐาน
ด้านนายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวเพิ่มเติมว่า คณะอนุกรรมการฯ ชุดดังกล่าว จะประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ความสามารถจากหลายหน่วยงาน เช่น กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.), การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) และกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นต้น โดยจะเร่งเสนอรายชื่อคณะอนุกรรมการฯ เพื่อให้บอร์ดให้ความเห็นชอบในการประชุมครั้งต่อไป นำร่องใน 5 กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ต้องควบคุมกำกับดูแลเป็นพิเศษก่อน เนื่องจากมีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมภายในประเทศ และความปลอดภัยของประชาชนในวงกว้าง ได้แก่ กลุ่มสายไฟ เหล็ก และเหล็กโครงสร้าง (Prefabrication) ยางล้อ และกลุ่มพลาสติก เพื่อเป็นต้นแบบในการขยายผลไปยังกลุ่มผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ต่อไป
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 พ.ค. 68)
Tags: มอก., อุตสาหกรรม, เอกนัฏ พร้อมพันธุ์