“แผงโซลาร์เซลล์” กระอัก! สหรัฐเก็บภาษี AD/CVD สูงเกือบ 1,000% หวั่นฉุดส่งออกปี 69 หดตัวแตะศูนย์

มาตรการภาษีตอบโต้ทุ่มตลาดและการอุดหนุน (AD/CVD) ของสหรัฐฯ ที่กำหนดอัตราภาษีรวมสูงถึง 375 – 972% สำหรับสินค้า “แผงโซลาร์เซลล์และชิ้นส่วน” จากไทย ถือเป็นหนึ่งในกำแพงการค้าที่รุนแรงสุดในรอบหลายปี และมีแนวโน้มให้การส่งออกสินค้ากลุ่มนี้จากไทยไปสหรัฐฯ หดตัวเกือบทั้งหมดภายในปี 69 ทั้งนี้ แม้มาตรการของสหรัฐฯ ครั้งนี้อาจ “ปิดประตู” ในตลาดหนึ่ง แต่ในอีกมุมหนึ่งก็ “เปิดทาง” ให้ไทยต้องเริ่มต้นใหม่อย่างรอบคอบและยั่งยืนมากขึ้นในเวทีโลก

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ระบุว่า เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2568 สหรัฐฯ ประกาศอัตราภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) และการอุดหนุน (CVD) ขั้นสุดท้าย ต่อสินค้าแผงโซลาร์เซลล์และชิ้นส่วนจากไทย การส่งออกแผงโซลาร์เซลล์และชิ้นส่วนของไทยไปสหรัฐฯ ที่เติบโตกว่า 47 เท่าในช่วงปี 2558-2566 เป็นผลพวงมาจากการย้ายฐานการผลิตของผู้ประกอบการจีนมายังไทย ส่งผลให้สหรัฐฯ ตั้งข้อสังเกตว่าจีนใช้ไทยเป็นฐานการผลิต เพื่อหลบเลี่ยงภาษีในการส่งออกไปยังสหรัฐฯ และนำมาสู่การไต่สวนข้อร้องเรียนการทุ่มตลาดและการอุดหนุนของไทยมาตั้งแต่เดือนเมษายน 2567

จนกระทั่งในช่วง ตุลาคม – พฤศจิกายน 2567 ได้มีการประกาศอัตราภาษี AD/CVD ขั้นต้น ก่อนที่จะประกาศภาษี AD/CVD ขั้นสุดท้ายในวันที่ 21 เมษายน 2568 โดยภาษี AD/CVD ขั้นสุดท้ายที่ไทยถูกเรียกเก็บมีอัตรารวมสูงถึง 375.19 – 972.23% ซึ่งสูงกว่าอัตราภาษีที่ประกาศขั้นต้นอย่างมีนัยสำคัญ ตัวอย่างเช่น บริษัทซันไชน์ อิเลคทริคอล และไท่ฮั้ว นิว เอ็นเนอร์ยี ถูกเรียกเก็บภาษีขั้นสุดท้ายในอัตราสูงสุดถึง 972.23% จากขั้นต้นที่ถูกเรียกเก็บที่ 189.20% ขณะที่บริษัทอื่น ๆ ของไทยถูกเรียกเก็บในอัตรา 375.19% จากขั้นต้นที่ถูกเรียกเก็บที่ 80.72%

การถูกเรียกเก็บ AD/CVD จากสหรัฐฯ ในอัตราที่สูงดังกล่าว จะกระทบต่ออุตสาหกรรมส่งออกโซลาร์เซลล์ของไทยอย่างรุนแรง เนื่องจากสหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกแผงโซลาร์เซลล์และชิ้นส่วนที่สำคัญของไทย โดยไทยพึ่งพาตลาดสหรัฐฯ ราว 90% ของมูลค่าการส่งออกแผงโซลาร์เซลล์และชิ้นส่วนทั้งหมด

SCB EIC ประเมินว่า การส่งออกแผงโซลาร์เซลล์และชิ้นส่วนจากไทยไปสหรัฐฯ มีแนวโน้มหดตัวใกล้ศูนย์ ในช่วงปี 2529 จากปัจจัยสำคัญ 2 ด้าน คือ

1. ไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขันด้านราคา เมื่อเทียบกับประเทศผู้ผลิตในเอเชียที่ไม่ได้ถูกเก็บภาษีจากการที่ไม่โดนข้อกล่าวหาว่ามีการอุดหนุนการผลิตและประกอบชิ้นส่วนจากจีนเพื่อส่งออก เช่น ลาว, อินโดนีเซีย, อินเดีย และเกาหลีใต้ รวมถึงเสียเปรียบด้านอัตราภาษีเมื่อเทียบกับมาเลเซีย และเวียดนาม ซึ่งถูกเก็บภาษีขั้นต่ำเพียง 14.64% และ 120.69% ขณะที่ไทยอยู่ที่ 375.19% แม้แต่บริษัททั่วไปยังต้องเผชิญภาษีสูงกว่ามาเลเซียถึงกว่า 10 เท่า

2. ผลกระทบจากภาษีขั้นต้น ได้เริ่มส่งผลอย่างชัดเจนแล้ว โดยตั้งแต่เดือนตุลาคม – พฤศจิกายน 2567 ที่เริ่มบังคับใช้ภาษี AD/CVD ไทยสูญเสียส่วนแบ่งตลาดในสหรัฐฯ อย่างรุนแรง จาก 28% ในช่วง 2 เดือนแรก (มกราคม-กุมภาพันธ์) ของปี 2567 ลงมาเหลือเพียง 6% ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2568 ขณะที่คู่แข่งอย่างอินโดนีเซีย ขยับขึ้นจาก 2% เป็น 16% ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกของไทยในไตรมาสแรกของปี 2568หดตัว 52%YOY เหลือเพียง 12,623 ล้านบาท ซึ่งอัตราภาษีขั้นสุดท้ายที่สูงกว่าขั้นต้นมาก จะทำให้การส่งออกไปสหรัฐฯ มีแนวโน้มหายไปเกือบทั้งหมดภายในปี 2569

SCB EIC มองว่าผู้ผลิตแผงโซลาร์เซลล์และชิ้นส่วน สามารถดำเนินการเพื่อบรรเทาผลกระทบจากมาตรการภาษีของสหรัฐฯ ผ่าน 3 แนวทาง ดังนี้

1. การเข้าไปเป็น Supplier สินค้าขั้นกลางให้กับโรงงานผลิตโซลาร์เซลล์ในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าของสหรัฐฯ ในระดับต่ำ ตัวอย่างเช่น ผู้ประกอบการที่แต่เดิมส่งแผงโซลาร์เซลล์ไปสหรัฐฯ โดยใช้วัตถุดิบจากจีน อาจปรับเป็นการส่งออกชิ้นส่วนโซลาร์เซลล์ ที่ผลิตจากวัตถุดิบในไทยหรือนำเข้าวัตถุดิบจากประเทศที่ไม่มีปัญหาด้านการค้ากับสหรัฐฯ ไปยังประเทศอินเดีย ซึ่งยังขาดชิ้นส่วนประกอบกลางน้ำเพื่อประกอบเป็นแผงโซลาร์เซลล์ เป็นต้น

2. การเร่งขยายตลาดส่งออกไปยังประเทศที่มีศักยภาพการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่โดดเด่น อาทิ อินเดีย ประเทศในกลุ่มตะวันออกกลาง กลุ่มทวีปยุโรป และออสเตรเลีย ที่ภาครัฐให้การสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศ

3. การขยายรายได้ไปในธุรกิจผลิตพลังงานสะอาด ทั้งในไทยและต่างประเทศ โดยอาศัยความได้เปรียบเชิงต้นทุน และประสบการณ์ในกลุ่มธุรกิจพลังงานสะอาด เพื่อขยายรายได้จากการผลิตไฟฟ้าสะอาดที่มีแนวโน้มเติบโตในอนาคต อาทิ ธุรกิจผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ทั้งแบบติดตั้งบนพื้น และแบบรูฟท็อป (Solar rooftop)

ขณะเดียวกัน ภาครัฐควรพิจารณาปรับเกณฑ์ในการส่งเสริมการลงทุนใหม่ โดยให้ความสำคัญกับการป้องกันความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นจากการส่งเสริมการลงทุนด้วย เนื่องจากการที่ไทยถูกสหรัฐฯ ตั้งกำแพงภาษีโซลาร์เซลล์ในระดับสูง เป็นตัวอย่างชัดเจนที่สะท้อนให้เห็นว่าการมุ่งส่งเสริมการลงทุนอย่างเดียว โดยที่ไม่ได้มีการเตรียมมาตรการป้องกันความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นจากการส่งเสริมการลงทุน จะส่งผลเสียต่อไทย

ดังนั้น ภาครัฐจึงต้องมีการทบทวนแนวทางการให้สิทธิประโยชน์การลงทุน และกระบวนการตรวจสอบโรงงานที่เข้ามาดำเนินธุรกิจในไทยให้ดำเนินการตามกฎระเบียบการส่งเสริมการลงทุนของไทย กฎระเบียบการค้าของโลกและประเทศคู่ค้า เช่น ต้องมีการใช้ปัจจัยการผลิต วัตถุดิบและห่วงโซ่อุปทานการผลิตของไทย เป็นต้น เพื่อให้เท่าทันบริบทการค้าระหว่างประเทศที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต้องคำนึงถึงความเสี่ยงจากการเป็นฐานผลิตทางอ้อมให้กับประเทศคู่ขัดแย้งทางการค้า เช่น การติดตามโครงการที่อาจถูกมองว่าเป็น “ฐานการผลิตทางอ้อม” ของประเทศคู่ขัดแย้ง เช่น จีน เพื่อให้สามารถตรวจสอบการผลิตสินค้าให้ถูกต้องตามกฎเกณฑ์การส่งเสริมการลงทุนของไทย และกฎระเบียบการค้าของประเทศคู่ขัดแย้ง ซึ่งจะช่วยป้องกันการนำไปสู่การตกเป็นเป้าของมาตรการกีดกันทางการค้าในอนาคต และจะช่วยให้ไทยไม่ตกเป็นเป้าของมาตรการทางการค้าในลักษณะนี้อีก

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (02 พ.ค. 68)

Tags: , ,