สำนักงานสถิติแห่งชาติออสเตรเลีย (ABS) เปิดเผยข้อมูลในวันนี้ (30 เม.ย.) ว่า อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานของออสเตรเลียชะลอตัวลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 3 ปีในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ เนื่องจากต้นทุนภาคบริการปรับตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญ นับเป็นการเพิ่มน้ำหนักให้กับกระแสคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) อาจตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งในไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า
ขณะนี้นักลงทุนให้น้ำหนักอย่างเต็มที่ว่า RBA จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ในการประชุมวันที่ 20 พ.ค.นี้ ท่ามกลางแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ดูมืดมนลง ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากมาตรการกำแพงภาษีของสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม ตัวเลขเงินเฟ้อทั่วไปที่ออกมาสูงกว่าคาดเล็กน้อยก็ทำให้นักลงทุนบางส่วนลดทอนการคาดการณ์ที่เคยมองว่า RBA อาจลดดอกเบี้ยถึง 5 ครั้งในปีนี้
ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) หรือเงินเฟ้อทั่วไปในไตรมาสแรก ขยับขึ้น 0.9% เมื่อเทียบรายไตรมาส ซึ่งสูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ที่ 0.8% เล็กน้อย โดยมีปัจจัยหลักจากการพุ่งขึ้นของค่าไฟถึง 16.3% หลังมาตรการคืนเงินช่วยเหลือค่าไฟของรัฐบาลบางส่วนได้สิ้นสุดลง
เมื่อเทียบรายปี ดัชนี CPI ไตรมาสแรกยังคงทรงตัวอยู่ที่ 2.4%
ในส่วนของอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Trimmed Mean CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดที่ RBA ให้ความสำคัญ เพิ่มขึ้น 0.7% ในไตรมาสแรก เมื่อเทียบรายไตรมาส สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ 0.6% เช่นกัน แต่เมื่อเทียบรายปี อัตราดังกล่าวชะลอตัวลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 3 ปีที่ 2.9% จากเดิม 3.3% นับเป็นการกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ 2-3% ของ RBA ได้เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ช่วงปลายปี 2564
อีกสัญญาณบวกคือ อัตราเงินเฟ้อในภาคบริการชะลอตัวลงเหลือ 3.7% ในไตรมาสแรก ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ไตรมาสที่สองของปี 2565
ข้อมูลล่าสุดยังชี้ให้เห็นรายละเอียดปลีกย่อยว่า ต้นทุนด้านการศึกษาพุ่งขึ้น 5.7% ในไตรมาสแรก ขณะที่ค่าใช้จ่ายในหมวดประกันภัยโตช้าลงอย่างเห็นได้ชัด มาอยู่ที่ 7.6% จากที่เคยเติบโตระดับเลขสองหลักในไตรมาสก่อน ๆ ส่วนต้นทุนการก่อสร้างที่อยู่อาศัยใหม่เพิ่มขึ้น 1.4% ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นน้อยที่สุดนับตั้งแต่ไตรมาสสองของปี 2564
ก่อนหน้านี้ RBA ตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนเม.ย. แต่ก็ได้ส่งสัญญาณว่าอาจลดดอกเบี้ยในเดือนหน้า โดยระบุว่าการประชุมเดือนพ.ค.จะเป็นโอกาสในการทบทวนนโยบายการเงินอีกครั้ง
RBA ยังได้ตั้งข้อสังเกตว่า ผลกระทบจากกำแพงภาษีของสหรัฐฯ ต่อภาวะเงินเฟ้อในออสเตรเลียยังไม่เป็นที่แน่ชัดนัก โดยปัจจัยด้านอุปทานอาจดันราคาให้สูงขึ้น แต่ขณะเดียวกัน การเบี่ยงเบนทางการค้าก็อาจสร้างแรงกดดันให้เงินเฟ้อลดต่ำลงได้
นอกจากนี้ RBA ยังคงมีความกังวลต่อความแข็งแกร่งของตลาดแรงงาน ซึ่งอาจกระตุ้นแรงกดดันด้านเงินเฟ้อได้ แต่การเติบโตของค่าจ้างซึ่งเป็นมาตรวัดสำคัญ กลับชะลอตัวลง แม้การจ้างงานจะยังคงแข็งแกร่ง และอัตราว่างงานทรงตัวอยู่ในระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 4.1%
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 เม.ย. 68)
Tags: ออสเตรเลีย, เงินเฟ้อ