ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือน มี.ค.68 ชะลอลงจากเดือนก่อนจากภาคบริการ การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน ขณะที่การผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับดีขึ้น
ทั้งนี้ ภาคท่องเที่ยวลดลงตามจำนวนนักท่องเที่ยวกลุ่มมุสลิมเป็นสำคัญ จากการเข้าสู่เดือนรอมฎอนเร็วกว่าปีก่อน ขณะที่นักท่องเที่ยวจีนยังหดตัว แต่น้อยลงกว่าเดือนก่อน
ขณะที่การผลิตและการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ปรับดีขึ้น ตามการฟื้นตัวของวัฏจักรสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และการเร่งส่งออกก่อนการประกาศนโยบายภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ
– เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลงจากเดือนก่อน โดยหมวดบริการลดลงจากหมวดโรงแรม และภัตตาคาร เป็นสำคัญ สอดคล้องกับจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติที่ลดลง หมวดสินค้าไม่คงทนลดลงจากยอดจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค ขณะที่ปริมาณการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น หมวดสินค้าคงทนลดลงจากทุกองค์ประกอบ โดยเฉพาะยอดจำหน่ายรถยนต์นั่งส่วนบุคคล หลังจากที่เร่งไปในช่วงต้นปี หมวดสินค้ากึ่งคงทนลดลงตามปริมาณการนำเข้าสิ่งทอ และเครื่องนุ่งห่ม และยอดขายสินค้ากึ่งคงทน สำหรับความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลงต่อเนื่อง จากความกังวลเรื่องผลกระทบนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ และค่าครองชีพที่ยังอยู่ในระดับสูง
– เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลงจากเดือนก่อน จากการลงทุนในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ ตามการนำเข้าสินค้าทุนสุทธิที่ลดลง โดยเฉพาะคอมพิวเตอร์ และสินค้ากลุ่มวิทยุ โทรทัศน์ และอุปกรณ์ที่ใช้ในการสื่อสาร ขณะที่ยอดจำหน่ายเครื่องจักรในประเทศทรงตัว และหมวดยานพาหนะที่ลดลง สะท้อนจากยอดจดทะเบียนรถยนต์นั่ง และรถกระบะเป็นสำคัญ สำหรับหมวดก่อสร้างทรงตัวจากเดือนก่อน โดยพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างหมวดที่มิใช่ที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น ขณะที่หมวดที่อยู่อาศัยลดลงจากบ้านเดี่ยว และทาวน์เฮ้าส์ สอดคล้องกับภาวะตลาดอสังหาริมทรัพย์โดยรวมที่ยังซบเซา
– จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลงจากเดือนก่อนในหลายสัญชาติโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวมาเลเซียและกลุ่มตะวันออกกลางจากการเข้าสู่เดือนรอมฎอนเร็วกว่าปีก่อน ประกอบกับนักท่องเที่ยวจีนยังหดตัว แต่น้อยลงกว่าเดือนก่อน สำหรับรายรับจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้ว ทรงตัวจากเดือนก่อน ตามค่าใช้จ่ายต่อคนต่อทริปที่เพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งจากนักท่องเที่ยวระยะไกล (long-haul) ในบางสัญชาติที่เพิ่มขึ้น อาทิ รัสเซีย และออสเตรเลีย
– มูลค่าการส่งออกสินค้าไม่รวมทองคำที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลงจากเดือนก่อน ตามการส่งออก (1) หมวดโลหะมีค่า จากการส่งออกทองคำขาวไปอินเดีย หลังศุลกากรอินเดียปรับเงื่อนไขการนำเข้าให้เข้มงวดมากขึ้น (2) หมวดเกษตรแปรรูป ตามการส่งออกน้ำตาลไปอินโดนีเซีย หลังเร่งไปแล้วในเดือนก่อน และ (3) หมวดเครื่องใช้ไฟฟ้า ตามการส่งออกเครื่องปรับอากาศไปสหรัฐฯ และออสเตรเลีย อย่างไรก็ดี การส่งออกในบางหมวดปรับเพิ่มขึ้นมาก อาทิ หมวดอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะอุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคม คอมพิวเตอร์ และฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ ตามการเร่งส่งออกไปสหรัฐฯ จากความกังวลต่อการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ และหมวดโลหะ ตามการส่งออกโลหะอื่น ๆ ไปนอร์เวย์
– มูลค่าการนำเข้าสินค้าไม่รวมทองคำที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน จากหมวดเชื้อเพลิงตามปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติเป็นสำคัญ หมวดสินค้าทุนไม่รวมเครื่องบินตามการนำเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์ไฟฟ้า และหมวดวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางไม่รวมเชื้อเพลิง ตามการนำเข้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์จากอาเซียน สอดคล้องกับการผลิตและการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่เพิ่มขึ้นมาก อย่างไรก็ดี หมวดสินค้าอุปโภคและบริโภคลดลงตามการนำเข้าเครื่องประดับ หลังเร่งไปมากในเดือนก่อนที่มีงานจัดแสดงสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับในต่างประเทศ
– ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าที่ผลิตเพื่อส่งออกในสัดส่วนร้อยละ 30-60 จากหมวดยานยนต์ ตามการผลิตรถยนต์นั่ง โดยเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้า จากการผลิตเพื่อชดเชยตามเงื่อนไขมาตรการสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้า และกลุ่มสินค้าที่ผลิตเพื่อส่งออกมากกว่า 60% ปรับดีขึ้นจากหมวดฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ และหมวดแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วน สอดคล้องกับการส่งออกที่เร่งขึ้น ประกอบกับกลุ่มสินค้าที่ผลิตเพื่อส่งออกน้อยกว่า 30% ปรับดีขึ้นเล็กน้อยจากหมวดเคมีภัณฑ์ขั้นมูลฐานเป็นสำคัญ ขณะที่การผลิตในบางหมวดยังปรับลดลง ได้แก่ หมวดสิ่งทอและเครื่องนุ่มห่ม ตามการส่งออกไปประเทศคู่ค้าที่ลดลง และหมวดวัสดุก่อสร้าง จากอุปสงค์ในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ยังซบเซา
– เครื่องชี้ภาคบริการที่ไม่รวมการซื้อขายทองคำและขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลงจากเดือนก่อน โดยเฉพาะกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวทั้งธุรกิจโรงแรมและภัตตาคาร และการขนส่งผู้โดยสาร สอดคล้องกับจำนวนนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติที่ลดลง ประกอบกับการค้าและการขนส่งสินค้าลดลง ตามยอดจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคและสินค้าอุตสาหกรรมเพื่อใช้ในประเทศ หลังมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐสิ้นสุดลง
– รายได้เกษตรกรขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อน จากด้านผลผลิตเป็นสำคัญ โดยผลผลิตข้าว อ้อย และยางพาราขยายตัวตามสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย ขณะที่ด้านราคาหดตัวตามราคาข้าวขาว และยางพารา จากปริมาณผลผลิตที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการกลับมาส่งออกข้าวของอินเดีย ประกอบกับราคามันสำปะหลังหดตัวตามความต้องการมันเส้นจากจีนที่ลดลง
– การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนขยายตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน จากทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุนของรัฐบาลกลาง โดยรายจ่ายประจำขยายตัวตามการเบิกจ่ายของหน่วยงานด้านการศึกษาที่เหลื่อมมาในเดือนนี้ รวมถึงเงินบำนาญ ค่าตอบแทนบุคลากร และค่ารักษาพยาบาลข้าราชการ สำหรับรายจ่ายลงทุนขยายตัวตามการเบิกจ่ายของหน่วยงานด้านสาธารณูปโภคและคมนาคม ขณะที่รายจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจหดตัวจากการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งทางราง และสาธารณูปโภค
– อัตราเงินเฟ้อทั่วไปชะลอลงจากเดือนก่อนตามหมวดพลังงานเป็นสำคัญ จากราคาน้ำมันขายปลีกกลุ่มเบนซินที่ลดลงตามราคาน้ำมันในตลาดโลก และค่าไฟฟ้าที่ลดลงตามมาตรการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางของภาครัฐ ด้านอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานชะลอลงตามราคาอาหารสำเร็จรูป รวมถึงค่าของใช้ส่วนตัวและอุปกรณ์ซักล้าง ขณะที่ราคาเครื่องประกอบอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ปรับเพิ่มขึ้นตามต้นทุนวัตถุดิบที่ยังอยู่ในระดับสูง
สำหรับภาวะตลาดแรงงานโดยรวมปรับดีขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อน ตามจำนวนผู้ประกันตนตามมาตรการ 33 ที่เพิ่มขึ้นทั้งในภาคการผลิตและภาคบริการ ประกอบกับสัดส่วนผู้ขอรับสิทธิว่างงานรวมและรายใหม่ต่อผู้ประกันตนรวมลดลง โดยเฉพาะในธุรกิจการค้า ขนส่งพัสดุ การผลิตอาหาร ยานยนต์ รวมถึงยางและพลาสติก ด้านดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลลดลงจากเดือนก่อน จากดุลบริการ รายได้ และเงินโอนที่กลับมาขาดดุลตามการส่งกลับกำไรที่เพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ ประกอบกับดุลการค้าเกินดุลลดลง ตามการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นมาก
– ภาวะการเงิน การระดมทุนของภาคธุรกิจโดยรวมปรับดีขึ้นจากเดือนก่อนจากการระดมทุนผ่านสินเชื่อเป็นสำคัญ โดยการระดมทุนผ่านสินเชื่อเพิ่มขึ้นสุทธิจากธุรกิจโฮลดิ้งและการผลิตอาหารและเครื่องดื่มเป็นหลัก ด้านการระดมทุนผ่านตลาดตราสารหนี้ปรับเพิ่มขึ้นในธุรกิจพลังงาน อสังหาริมทรัพย์ และการเงินเป็นสำคัญ โดยส่วนใหญ่เป็นการกู้ยืมเพื่อการต่ออายุ (rollover) หุ้นกู้ที่ครบกำหนดสำหรับต้นทุนการระดมทุนผ่านตราสารหนี้ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2568 อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยระยะสั้นและระยะยาว ปรับลดลงจากการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบายในระยะข้างหน้าของนักลงทุน
– อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ เดือนมีนาคม 2568เงินบาทเฉลี่ยทรงตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อน หลังธนาคารกลางสหรัฐฯ มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ประกอบกับนโยบายการค้าของสหรัฐฯ เป็นไปตามที่ตลาดคาด อย่างไรก็ดี ในเดือนเมษายน 2568 (ข้อมูลถึง 25เมษายน 2568) เงินบาทเคลื่อนไหวผันผวน โดยช่วงแรกเงินบาทปรับอ่อนค่าหลังสหรัฐฯ ประกาศจัดเก็บอัตราภาษีนำเข้าจากประเทศต่างๆ สูงกว่าที่ตลาดคาด
อย่างไรก็ดี เงินบาทปรับแข็งค่าขึ้นหลังสหรัฐฯ ประกาศเลื่อนการจัดเก็บภาษีฯ ในอัตราสูงสุดกับประเทศต่าง ๆ ออกไป 90 วัน ประกอบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่า ตามความกังวลต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ด้านดัชนีค่าเงินบาท (NEER) เฉลี่ยปรับอ่อนลงตามเงินบาทที่เคลื่อนไหวอ่อนค่านำสกุลเงินภูมิภาค ส่วนหนึ่งจากการที่ไทยมีแนวโน้มได้รับผลกระทบจากนโยบายจัดเก็บภาษีนำเข้าตอบโต้ของสหรัฐฯ ค่อนข้างมาก
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 เม.ย. 68)
Tags: ธนาคารแห่งประเทศไทย, ภาวะเศรษฐกิจ