ไทยขยับขึ้นอันดับ 85 ดัชนีเสรีภาพสื่อโลกปี 2568, อันดับ 1 อาเซียน

องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน (RSF) รายงานดัชนีเสรีภาพสื่อโลก (World Press Freedom Index) ประจำปี 2568 ซึ่งผลปรากฏว่า นอร์เวย์ยังคงครองอันดับ 1 ไว้ได้อย่างเหนียวแน่น รองลงมาคือเอสโตเนีย และเนเธอร์แลนด์ ส่วนสามอันดับรั้งท้าย ได้แก่ จีน เกาหลีเหนือ และเอริเทรียที่อันดับ 180

ทั้งนี้พบว่า 10 อันดับแรกของการจัดอันดับล้วนเป็นประเทศในแถบยุโรปทั้งหมด

สำหรับประเทศไทย ถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 85 (56.72 คะแนน) ของโลก ขยับขึ้นมาจากปีที่แล้วสองอันดับ และเป็นอันดับ 1 ของอาเซียน ซึ่งตามมาด้วยมาเลเซีย (อันดับ 88) บรูไน (อันดับ 97) ฟิลิปปินส์ (อันดับ 116) สิงคโปร์ (อันดับ 123) อินโดนีเซีย (อันดับ 127) ลาว (อันดับ 150) กัมพูชา (อันดับ 161) เมียนมา (อันดับ 169) และเวียดนาม (อันดับ 173)

ดัชนีเสรีภาพสื่อโลกสำรวจเสรีภาพสื่อใน 180 ประเทศทั่วโลก ตามตัวชี้วัดที่สำคัญ ได้แก่ สภาพแวดล้อมทางการเมือง การคุ้มครองทางกฎหมาย ความเป็นอิสระของบรรณาธิการ ความโปร่งใส และความปลอดภัยของนักข่าว

องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนเปิดเผยว่า เสรีภาพสื่อทั่วโลกอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบกว่าสองทศวรรษ เนื่องจากแรงกดดันทางเศรษฐกิจที่สั่นคลอนรากฐานของการสื่อสารมวลชน

“หากไม่มีอิสรภาพทางเศรษฐกิจ สื่อก็ไม่อาจมีเสรีภาพได้” RSF ระบุในแถลงการณ์ “เมื่อสื่อประสบปัญหาทางการเงิน สื่อเหล่านั้นก็จะถูกดึงเข้าสู่การแข่งขันเพื่อดึงดูดผู้ชมโดยไม่คำนึงถึงคุณภาพของการรายงานข่าว และอาจตกเป็นเหยื่อของกลุ่มผู้มีอำนาจและหน่วยงานของรัฐที่แสวงหาประโยชน์จากพวกเขา”

ประเทศต่าง ๆ ถึงหนึ่งในสามของทั้งหมด 180 ประเทศที่รวมอยู่ในดัชนี พบว่าสื่อสำนักต่าง ๆ ทยอยปิดตัวลง แม้แต่สื่อในประเทศที่มีอันดับค่อนข้างสูง เช่น นิวซีแลนด์และแอฟริกาใต้ ก็ยังเผชิญกับความท้าทายทางด้านการเงิน

นอกจากนี้ RSF ระบุด้วยว่า การหวนคืนสู่ทำเนียบขาวเป็นสมัยที่สองของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ยิ่งทำให้สถานการณ์ที่แย่อยู่แล้วเลวร้ายลงอีก ด้วยการที่รัฐบาลสหรัฐฯ ยุติการให้ทุนแก่สื่อสาธารณะ รวมถึง Voice of America และ Radio Free Asia

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (02 พ.ค. 68)

Tags: , ,