นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน เผยสถิติการแจ้งขึ้นทะเบียน และแจ้งการสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน ไม่เป็นไปตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 ของสถานประกอบการในระบบประกันสังคม ตั้งแต่เดือนต.ค.-ธ.ค.67 พบสถานประกอบการทั่วประเทศ ที่แจ้งขึ้นทะเบียน และแจ้งการสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตนล่าช้าเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด 32,604 แห่ง มีผู้ประกันตน 140,071 ราย
ทั้งนี้ การแจ้งขึ้นทะเบียน และแจ้งการสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน ไม่เป็นไปตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 หรือล่าช้าเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดนั้น จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ประกันตน ให้ได้รับสิทธิประโยชน์ทดแทนในกรณีต่าง ๆ ล่าช้า และในบางกรณียังทำให้สำนักงานประกันสังคม จ่ายสิทธิประโยชน์เกินสิทธิ รวมถึงการจ่ายค่ารักษาพยาบาลเกินจากความเป็นจริง
โดยกระทรวงแรงงาน ได้สั่งการให้สำนักงานประกันสังคมทั่วประเทศ ทั้ง 138 แห่ง ดำเนินการออกหนังสือเชิญให้นายจ้างทั้ง 32,604 แห่ง เพื่อมาชี้แจง พบสาเหตุการขึ้นทะเบียน และแจ้งการสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตนล่าช้าเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดหลายกรณี เช่น ผู้ประกันตนลาออกจากงานโดยไม่ได้แจ้งนายจ้าง รวมถึงการที่นายจ้างส่งเงินสมทบ แต่ไม่ได้แจ้งขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนให้ลูกจ้าง ในการนี้ สำนักงานประกันสังคม ได้ดำเนินการเปรียบเทียบปรับนายจ้างทั้งหมด 17 แห่ง ปรับรวมกว่า 2 แสนบาท
“การขึ้นทะเบียน และแจ้งการสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน ภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด โดยให้นายจ้าง แจ้งขึ้นทะเบียนลูกจ้างทุกครั้งที่ลูกจ้างมีการเข้าทำงานภายใน 30 วัน และแจ้งออกจากงาน ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป” นายคารม กล่าว
ทั้งนี้ สำนักงานประกันสังคม ได้อำนวยความสะดวกแก่นายจ้าง โดยการเพิ่มช่องทางให้สามารถส่งข้อมูลผ่านระบบ e-Service ของสำนักงานประกันสังคม ที่เว็บไซต์ www.sso.go.th สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานประกันสังคมทั่วประเทศ สายด่วน 1506 ให้บริการทุกวัน ตลอด 24 ชั่วโมง
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (05 พ.ค. 68)
Tags: กระทรวงแรงงาน, คารม พลพรกลาง, นายจ้าง, ลูกจ้าง, สำนักงานประกันสังคม