น.ส.วงศ์อะเคื้อ บุญศล โฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ฝ่ายการเมือง เปิดเผยว่า ในช่วงวันที่ 28 เม.ย.-4 พ.ค.68 ศูนย์ AOC 1441 (Anti Online Scam Operation Center) ได้มีรายงานเคสตัวอย่างอาชญากรรมออนไลน์ที่ประชาชนได้รับผลกระทบจากการถูกหลอกลวง จำนวน 5 เคส รวมมูลค่าความเสียหาย 11,597,627 บาท ประกอบด้วย
คดีที่ 1 คดีหลอกลวงให้โอนเงินเพื่อรับรางวัล หรือวัตถุประสงค์อื่น ๆ มูลค่าความเสียหาย 2,805,000 บาท โดยผู้เสียหายได้รับการติดต่อจากมิจฉาชีพผ่านช่องทาง Tiktok ชักชวนลงทุนเกี่ยวกับการกุศล ByteDance จากนั้นเพิ่มเพื่อนทาง Line และทำการสมัครสมาชิก แล้วให้โอนเงินเพื่อทำการลงทุน รอบแรกที่ทำการกุศลได้เงินคืน หลังจากนั้นให้เพิ่มจำนวนเงินลงทุนมากขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อผู้เสียหายสอบถามถึงยอดเงินการกุศล พบว่าไม่มีการตอบกลับ และไม่สามารถถอนเงินออกหรือคืนเงินได้ ผู้เสียหายเชื่อว่าตนถูกมิจฉาชีพหลอก
คดีที่ 2 คดีหลอกลวงให้โอนเงินเพื่อทำงานหารายได้พิเศษ มูลค่าความเสียหาย 570,000 บาท โดยผู้เสียหายได้รับการติดต่อจากมิจฉาชีพผ่านช่องทาง Line ชักชวนทำงานหารายได้พิเศษ โดยการให้โอนเงินบริจาคกับคนยากไร้ เพื่อรับผลตอบแทน ผู้เสียหายสนใจจึงโอนเงินไป ระยะแรกได้รับผลตอบแทนจริง ต่อมาผู้เสียหายต้องการได้รับผลตอบแทนเพิ่ม จึงได้โอนเงินไปเรื่อย ๆ เพื่อเลื่อนระดับขั้นให้สูงขึ้น เมื่อผู้เสียหายต้องการถอนเงิน มิจฉาชีพแจ้งว่าไม่สามารถถอนได้ ต้องโอนเงินเข้าไปเพิ่มขึ้นอีก ผู้เสียหายเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก
คดีที่ 3 คดีหลอกลวงให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ มูลค่าความเสียหาย 5,943,210 บาท โดยผู้เสียหายได้รับการติดต่อจากมิจฉาชีพผ่านทาง Facebook ชักชวนให้โอนเงินลงทุนเกี่ยวกับการเทรดหุ้นตลาดหลักทรัพย์ ช่วงแรกเป็นการลงทุนแบบตามงบประมาณ หลังจากนั้นให้คุยกับเลขาฯ เนื่องจากจะมีการแนะนำให้ซื้อหุ้นในการลงทุนเพิ่ม เมื่อจะทำการถอนเงินออกจากระบบ มิจฉาชีพแจ้งว่าจะต้องชำระค่าส่วนแบ่งกำไร 13% ผู้เสียหายหลงเชื่อโอนเงินไป แต่ไม่สามารถถอนเงินออกมาได้ แจ้งว่าผู้เสียหายทำผิดขั้นตอน จะต้องโอนเงินเพื่อแก้ไขข้อมูลและให้โอนเงินเพื่อจ่ายค่าภาษี ผู้เสียหายเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก
คดีที่ 4 คดีหลอกลวงให้กู้เงิน มูลค่าความเสียหาย 1,031,417 บาท ทั้งนี้ ผู้เสียหายได้พบโฆษณาสินเชื่อบุคคล แคช ทู โก สินเชื่อ ธุรกิจ TTB SME ผ่านช่องทาง Facebook ผู้เสียหายสนใจจึงทักไปสอบถามรายละเอียดและเพิ่มเพื่อนทาง Line ได้สอบถามข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ธุรการ จากนั้นแจ้งให้ผู้เสียหายโอนเงินไปก่อน จึงจะได้รับยอดเงินกู้ ผู้เสียหายหลงเชื่อโอนเงินไป จากนั้นอ้างว่าหมายเลขบัญชีธนาคารผิด ให้โอนเงินเข้าไปเพื่อแก้ไข และให้โอนเงินเพิ่มอีกหลายครั้งเป็นค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เช่น ค่ารับ OTP ค่าแก้ไขข้อมูล ค่ายกเลิกสัญญาเงินกู้ ผู้เสียหายเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก
คดีที่ 5 คดีหลอกลวงเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล มูลค่าความเสียหาย 1,248,000 บาท โดยผู้เสียหายพบโฆษณาเทรดเงินดิจิทัลผ่านช่องทาง Facebook ผู้เสียหายสนใจจึงเพิ่มเพื่อนทาง Line ที่แสดงหน้าเพจเพื่อสอบถามรายละเอียด จากนั้นมิจฉาชีพจึงชักชวนให้โอนเงินเพื่อลงทุนเทรดเงินดิจิทัล ผู้เสียหายหลงเชื่อจึงโอนเงินไป ในช่วงแรกได้รับผลตอบแทนเล็กน้อยสามารถถอนเงินได้ ภายหลังโอนเงินเพิ่มขึ้น แต่ไม่สามารถถอนเงินคืนได้ ผู้เสียหายเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก
สำหรับผลการดำเนินงานของ ศูนย์ AOC 1441 ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.66 ถึง 2 พ.ค.68 มีสถิติผลการดำเนินงาน ดังนี้
1. สายโทรเข้า 1441 จำนวน 1,681,929 สาย เฉลี่ยต่อวัน 3,064 สาย
2. ระงับบัญชีธนาคาร จำนวน 633,201 บัญชี เฉลี่ยต่อวัน 1,249 บัญชี
3. ระงับบัญชีตามประเภทคดีสูงสุด 5 ประเภท ได้แก่
(1) หลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ 201,562 บัญชี คิดเป็น 31.83%
(2) หลอกลวงหารายได้พิเศษ 149,037 บัญชี คิดเป็น 23.53%
(3) หลอกลวงลงทุน 92,013 บัญชี คิดเป็น 14.53%
(4) หลอกลวงให้โอนเงินเพื่อรับรางวัล 76,855 บัญชี คิดเป็น 12.14%
(5) หลอกลวงให้กู้เงิน 45,500 บัญชี คิดเป็น 7.19%
(6) คดีอื่นๆ 68,234 บัญชี คิดเป็น 10.78%)
โฆษกกระทรวงดีอี กล่าวว่า จากเคสตัวอย่างจะเห็นได้ว่า มิจฉาชีพใช้วิธีการหลอกลวงผู้เสียหาย โดยชักชวนให้บริจาคการกุศล โอนเงินบริจาคคนยากไร้ ซึ่งถือเป็นวิธีการที่ปรับเปลี่ยนรูปแบบใหม่ การหลอกลงทุนเทรดหุ้น หลอกให้กู้เงิน โดยอ้างเป็นสินเชื่อ ธ.ทหารไทยธนชาต ให้โอนจ่ายค่าธรรมเนียมเรื่อย ๆ ซึ่งพบว่ามีมูลค่าความเสียหายรวมกว่า 11 ล้านบาท
ทั้งนี้ ขอย้ำว่าหน่วยงานของรัฐ ข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ จะไม่มีการโทรติดต่อโดยตรง หรือติดต่อผ่านทางโซเชียลมีเดีย และจะไม่มีการให้โอนเงินเพื่อตรวจสอบบัญชีแต่อย่างใด ดังนั้นหากมีการติดต่อเข้ามา ให้ประเมินว่าเป็นการหลอกลวงของมิจฉาชีพ ด้านการลงทุนในธุรกิจที่ไม่มีการรับรองโดยหน่วยงานที่มีความน่าเชื่อถือ เป็นการเสี่ยงต่อการถูกหลอกลวง ขอให้ผู้เสียหายตรวจสอบและติดต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสอบถามรายละเอียดให้แน่ชัด
อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชนยึดหลัก 4 ไม่ คือ 1. ไม่กดลิงก์ 2.ไม่เชื่อ 3.ไม่รีบ และ 4.ไม่โอน ก่อนที่จะทำธุรกรรมใด ๆ อย่ากดเข้าลิงก์เว็บไซต์ หรือดาวน์โหลด และอัปโหลดแพลตฟอร์มที่มีการส่งต่อจากช่องทางที่ไม่แน่ใจ โดยกระทรวงดีอี ได้เร่งดำเนินการปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ทุกรูปแบบ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการเผยแพร่ให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันภัยอาชญากรรมออนไลน์ ผ่านศูนย์ AOC 1441 เพื่อแก้ไขปัญหาที่ส่งผลกับประชาชนอย่างต่อเนื่อง
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (05 พ.ค. 68)
Tags: กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, บริจาคการกุศล, มิจฉาชีพ, วงศ์อะเคื้อ บุญศล, หลอกโอนเงิน, โจรออนไลน์