อดีตขุนคลัง ติงออก G-Token ไม่ใช่หน้าที่รัฐบาล แนะควรเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเงินดิจิทัลก่อน

หลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) วานนี้ ได้เห็นชอบให้กระทรวงการคลังสามารถออกและเสนอขายโทเคนดิจิทัลของรัฐบาล (Government Token: G-Token) ซึ่งจะเป็นหนึ่งในเครื่องมือการระดมทุนรูปแบบใหม่ เพื่อส่งเสริมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางทางการเงินในระดับภูมิภาคของประเทศ

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ฝ่ายเศรษฐกิจ ในฐานะ อดีตรมว.คลัง ระบุว่า การนำประเทศเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจดิจิทัลให้สำเร็จนั้นมีเรื่องที่ต้องดำเนินการก่อนหลายอย่าง กล่าวคือ (1) ต้องช่วยให้ประชากรเข้าถึงระบบอินเทอร์เนตอย่างกว้างขวาง (2) ต้องให้ความรู้ทั้งในระบบโรงเรียนและในกลุ่มประชาคม (3) ต้องพัฒนาธุรกิจการเงินแบบดิจิทัลให้กว้างขวางมากขึ้น (4) ต้องกระตุ้นคนรุ่นหนุ่มสาวให้ลองทำธุรกิจขนาดย่อมด้านดิจิทัลให้มากขึ้น และ (5) รัฐต้องให้บริการทางออนไลน์มากขึ้นรวมทั้งใช้บล็อกเชนในการบริหารราชการให้โปร่งใส

การทำให้โทเคนเกิดขึ้นในหลักทรัพย์ต่างๆ (tokenization) จะต้องมีโครงสร้างพื้นฐานครบถ้วน ทั้ง stable coin สกุลบาท ทั้ง smart contract ทั้งระบบเคลียริ่ง และมีกฎหมายรองรับเรื่องเหล่านี้ทั้งหมด รวมไปถึงการนำโทเคนไปใช้เป็นหลักประกัน โดยต้องปล่อยให้เป็นหน้าที่ของเอกชนเป็นผู้ริเริ่ม ส่วนรัฐบาลเองไม่ควรมีหน้าที่ไปออกโทเคน ดังเห็นได้ว่าปัจจุบันนี้ยังไม่มีประเทศที่ระบบการเงินล้ำหน้าในระดับที่รัฐบาลเป็นผู้ออกโทเคนเอง

แม้กฎหมายการบริหารหนี้สาธารณะ มาตรา 10 วรรคหนึ่งเปิดให้ใช้วิธีการอื่นใดก็ได้ตามที่ ครม.อนุมัติ แต่ถ้าอ่านตามเนื้อความที่บัญญัติไว้ย่อมจะต้องหมายถึงหลักฐานแห่งหนี้ในทำนองเดียวกับสัญญาหรือตราสารหนี้ อย่างไรก็ดีนิยามโทเคนดิจิทัลในกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลนั้นไม่น่าจะเข้าข่ายเป็นหลักฐานแห่งหนี้ตามข้อบัญญัตินี้

นายธีระชัย กล่าวว่า การออกพันธบัตรรัฐบาลในรูปแบบโทเคนดิจิทัล G-Token จะไม่เป็นประโยชน์ในการพัฒนาประเทศไทยสู่เศรษฐกิจดิจิทัลดังที่รัฐบาลโฆษณาชวนเชื่อ เพราะในปัจจุบันมีช่องทางที่นักลงทุนรายย่อยจะเข้ามาลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลได้อยู่แล้วด้วยกลไกผ่านกองทุนรวมที่ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล

ดังนั้นจึงต้องชี้แจงก่อนว่าการออกพันธบัตรรัฐบาลในรูปแบบ G-Token จะเพิ่มความสะดวกแก่นักลงทุนอย่างไร โดยเฉพาะในเรื่องการขายคืน ซึ่งราคาในกองทุนรวมจะเป็นไปตามกติกา โดยมีสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กำกับดูแล แต่กรณี G-Token ผู้ลงทุนจะต้องไปขายในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลซึ่งราคาอาจจะผันผวนไปแต่ละชั่วโมงตามแรงเก็งกำไรได้

นอกจากนี้ยังมีความจำเป็นต้องมีเงื่อนไขบังคับ เพื่อไม่ให้ผู้ถือ G-Token นำไปใช้เพื่อชำระหนี้ตามกฎหมายแก่บุคคลอื่น เพราะจะเข้าข่ายเป็นเงินตราอย่างหนึ่ง ซึ่งต้องขออนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก่อน

ส่วนกรณีที่นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.คลัง ระบุว่าการออก G-Token จะช่วยลดต้นทุนการดำเนินการ จากเดิมที่ออกพันธบัตรมีค่าธรรมเนียมดำเนินการจากธปท. ในอัตรา 0.03% ของกรอบวงเงินจำหน่ายนั้นก็ขอให้ชี้แจงว่ามีต้นทุนค่าใช้จ่ายจริงเท่าไหร่ และใครจะเป็นผู้ทำหน้าที่เป็นนายทะเบียนโดยมีค่าธรรมเนียมเท่าใด รวมค่าใช้จ่ายทั้งสิ้นแล้วต่ำกว่าอัตราของ ธปท.อย่างไร ซึ่งขอแนะนำอย่าไปกังวลกับเงินที่รัฐบาลต้องจ่ายให้ ธปท. เพราะเป็นองค์กรของรัฐ เงินไม่รั่วไหลไปไหน

“ผมขอแนะนำให้ตรวจสอบให้แน่ใจว่าการออกโทเคนดิจิทัลมีกฎหมายรองรับอย่างแน่นอน การพัฒนาโทเคนนั้นเป็นเพียงเสี้ยวเดียวของงานเศรษฐกิจดิจิทัลทั้งหมด แต่ไม่ใช่เรื่องที่มีความจำเป็นในลำดับต้น การที่กระทรวงการคลังเอามาโปรโมทเป็นด่านหน้านั้นสะท้อนว่าคิดงานเป็นชิ้น ๆ แทนที่จะวางแผนเป็นระบบ ผมขอแนะนำให้ศึกษาแนวการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลให้ถ่องแท้ทะลุปรุโปร่งเสียก่อน มิฉะนั้นก็จะเป็นการวาดฝันสวยหรูแต่ไม่สามารถทำได้จริง ดังที่เกิดขึ้นกรณีโครงการแจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท ที่หาเสียงเอาไว้ใหญ่โตเป็นนโยบายเรือธง แต่เวลาผ่านมาสองปีก็ยังทำไม่ได้” นายธีระชัย กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 พ.ค. 68)

Tags: , , , ,