เปิดตัวเลขส่งออกสินค้าเกษตรตลาดอาเซียนและตลาดโลก มูลค่าการค้าโตต่อเนื่อง

นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เผยสถานการณ์การค้าสินค้าเกษตรของไทยในตลาดโลกยังมีมูลค่าการค้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และยังสามารถรักษาตลาดส่งออกได้ สะท้อนจากราคาสินค้าเกษตรของไทยในปี 2567 มีมูลค่า 2,528,839 ล้านบาท จำแนกเป็น มูลค่าส่งออก 1,801,548 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 137,822 ล้านบาท หรือ 8.28% จากปี 2566 ขณะที่มีมูลค่านำเข้า 727,291 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15,912 ล้านบาท หรือ 2.24% โดยไทยมีมูลค่าการค้ากับอาเซียน (23%) มากเป็นอันดับ 1 รองลงมา คือ จีน (21%) สหรัฐฯ (9%) สหภาพยุโรป (9%) และญี่ปุ่น (7%)

สำหรับสถานการณ์การค้าสินค้าเกษตรของไทยในตลาดอาเซียน 9 ประเทศ (บรูไน อินโดนีเซีย กัมพูชา ลาว เมียนมา มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และ เวียดนาม) ในปี 2567 มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2566 ยังคงเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้ากับอาเซียนมูลค่า 229,687 ล้านบาท โดยมีมูลค่าส่งออก 410,830 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.60% จากปี 2566 ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 181,143 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.49% จากปี 2566

*สินค้าส่งออกสำคัญ 5 อันดับแรก ได้แก่

1.ข้าว อาทิ ข้าวเหนียว ข้าวหอมมะลิ มูลค่า 46,065 ล้านบาท

2.น้ำตาลที่ได้จากอ้อยหรือหัวบีตอื่น ๆ อาทิ น้ำตาลทรายบริสุทธิ์ มูลค่า 38,211 ล้านบาท

3.น้ำ รวมถึงน้ำแร่ และน้ำอัดลมที่เติมน้ำตาลหรือสารทำให้หวานอื่นๆ หรือที่ปรุงกลิ่นรส มูลค่า 27,577 ล้านบาท

4.น้ำตาลดิบที่ได้จากอ้อยอื่น ๆ มูลค่า 22,434 ล้านบาท

5.เครื่องดื่มอื่น ๆ ที่ไม่มีแอลกอฮอล์ อาทิ นมยูเอสที นมถั่วเหลือง มูลค่า 19,022 ล้านบาท

*สินค้าเกษตรนำเข้าสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่

1.มันสำปะหลังฝานหรือทำเป็นเพลเลต มูลค่า 21,622 ล้านบาท

2.ข้าวโพด ไม่ใช้สำหรับเพาะปลูก มูลค่า 19,430 ล้านบาท

3.อาหารปรุงแต่งอื่น ๆ อาทิ เต้าหู้ แอลกอฮอล์ผง ครีมเทียม มูลค่า 18,764 ล้านบาท

4.เมล็ดกาแฟ (ไม่คั่ว) ไม่แยกคาเฟอีน มูลค่า 8,614 ล้านบาท

5.ผลไม้และลูกนัตอื่น ๆ ที่ดิบหรือสุก โดยการนึ่งหรือต้ม แช่แข็ง หรือทำให้หวาน อาทิ สับปะรด ทุเรียน ลำไย มูลค่า 7,382 ล้านบาท

*ตลาดส่งออกสินค้าเกษตรที่สำคัญของไทย 3 อันดับแรก ได้แก่

– มาเลเซีย มีมูลค่าการส่งออก 77,321 ล้านบาท หรือ 18.82% ของมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรในอาเซียน สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ น้ำยางธรรมชาติ ชิ้นเนื้อและเครื่องในที่บริโภคได้ของไก่แช่แข็ง อาหารสุนัขหรือแมว / ข้าว อาทิ ข้าวเจ้าขาวอื่น 5% ข้าวเจ้าขาว 25% ข้าวเจ้าขาวหอมมะลิไทย 100% / น้ำมันปาล์มดิบไม่ดัดแปลงทางเคมี

– อินโดนีเซีย มีมูลค่าการส่งออก 68,428 ล้านบาท หรือ 16.66% ของมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรในอาเซียน สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ ข้าว อาทิ ข้าวเจ้าขาวอื่น 5% ข้าวเจ้าขาวหอมมะลิไทย 100% ข้าวเจ้าขาวหอมมะลิไทย 5% น้ำตาลดิบที่ได้จากอ้อยอื่น ๆ สตาร์ชทำจากมันสำปะหลัง ผลไม้สด อาทิ ลำไย มะขาม ลิ้นจี่ อาหารสุนัขหรือแมว

– กัมพูชา มีมูลค่าการส่งออก 62,826 ล้านบาท หรือ 15.29% ของมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรในอาเซียน สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ น้ำตาลที่ได้จากอ้อยหรือหัวบีตอื่น ๆ อาทิ น้ำตาลทรายบริสุทธิ์ น้ำตาลทรายขาว น้ำตาลละเอียด เครื่องดื่มอื่น ๆ ที่ไม่มีแอลกอฮอล์ อาทิ นมยูเอสที เครื่องดื่มอื่น ๆ ที่ไม่อัดลม นมถั่วเหลือง น้ำรวมถึงน้ำแร่และน้ำอัดลมที่เติมน้ำตาลหรือสารทำให้หวานอื่น ๆ หรือที่ปรุงกลิ่นรส อาหารปรุงแต่งอื่น ๆ อาทิ ครีมเทียม กะทิสำเร็จรูป / ยางธรรมชาติ

*ส่งออกตลาดอาเซียน ม.ค.-มี.ค.68

สำหรับสถานการณ์การค้าสินค้าเกษตรและยางพาราธรรมชาติของไทยในตลาดอาเซียนช่วงเดือน ม.ค.-มี.ค.68 มีมูลค่าการค้าเท่ากับ 160,067 ล้านบาท จำแนกเป็น มูลค่าส่งออก 100,491 ล้านบาท มูลค่านำเข้า 59,576 ล้านบาท ไทยยังคงเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้า 40,915 ล้านบาท

สินค้าส่งออกสำคัญ 5 อันดับแรก ได้แก่ (1) น้ำตาลดิบที่ได้จากอ้อยอื่นๆ มูลค่า 11,656 ล้านบาท (2) น้ำตาลที่ได้จากอ้อยหรือหัวบีตอื่นๆ อาทิ น้ำตาลทรายบริสุทธิ์ มูลค่า 9,910 ล้านบาท (3) น้ำ รวมถึงน้ำแร่และน้ำอัดลมที่เติมน้ำตาลหรือสารทำให้หวานอื่นๆ หรือที่ปรุงกลิ่นรส มูลค่า 6,355 ล้านบาท (4) เครื่องดื่มอื่นๆ ที่ไม่มีแอลกอฮอล์ อาทิ นมยูเอสที นมถั่วเหลือง มูลค่า 4,785 ล้านบาท และ (5) อาหารปรุงแต่งอื่น ๆ อาทิ เต้าหู้ แอลกอฮอล์ผง ครีมเทียม มูลค่า 4,309 ล้านบาท

สินค้านำเข้าสำคัญ 5 อันดับแรก ได้แก่ (1) มันสำปะหลังฝานหรือทำเป็นเพลเลต มูลค่า 15,466 ล้านบาท (2) ข้าวโพด ไม่ใช้สำหรับเพาะปลูก มูลค่า 6,557 ล้านบาท (3) อาหารปรุงแต่งอื่นๆ อาทิ เต้าหู้ แอลกอฮอล์ผง ครีมเทียม มูลค่า 4,683 ล้านบาท (4) สิ่งสกัด หัวเชื้อและสิ่งเข้มข้น อาทิ กาแฟสำเร็จรูป มูลค่า 2,744 ล้านบาท และ (5) มะพร้าวอื่นๆ อาทิ มะพร้าวอ่อน มูลค่า 2,230 ล้านบาท

ตลาดส่งออกสินค้าเกษตรที่สำคัญของไทย 3 อันดับแรก ได้แก่

– มาเลเซีย มีมูลค่าการส่งออก 17,442 ล้านบาท หรือ 17.34% ของมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรในอาเซียน สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ น้ำยางธรรมชาติ ชิ้นเนื้อและเครื่องในที่บริโภคได้ของไก่แช่แข็ง อาหารสุนัขหรือแมว สตาร์ชทำจากมันสำปะหลัง น้ำตาลที่ได้จากอ้อยหรือหัวบีตอื่นๆ อาทิ น้ำตาลทรายบริสุทธิ์ น้ำตาลทรายขาว

– อินโดนีเซีย มีมูลค่าการส่งออก 16,435 ล้านบาท หรือ 16.35% ของมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรในอาเซียน สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ น้ำตาลดิบที่ได้จากอ้อยอื่นๆ สตาร์ชทำจากมันสำปะหลัง ผลไม้สด อาทิ ลำไย น้อยหน่า ชมพู่ ทับทิม อาหารปรุงแต่งอื่นๆ อาทิ ครีมเทียม อาหารปรุงแต่งสำหรับทารกหรือเด็กเล็ก อาหารสุนัขหรือแมว

– กัมพูชา มีมูลค่าการส่งออก 16,237 ล้านบาท หรือ 16.16% ของมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรในอาเซียน สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ น้ำตาลที่ได้จากอ้อยหรือหัวบีตอื่นๆ อาทิ น้ำตาลทรายบริสุทธิ์ น้ำตาลทรายขาว เครื่องดื่มอื่นๆ ที่ไม่มีแอลกอฮอล์ อาทิ นมยูเอสที เครื่องดื่มอื่นๆ ที่ไม่อัดลม นมถั่วเหลือง น้ำรวมถึงน้ำแร่และน้ำอัดลมที่เติมน้ำตาลหรือสารทำให้หวานอื่นๆ หรือที่ปรุงกลิ่นรส อาหารปรุงแต่งอื่นๆ อาทิ ครีมเทียม กะทิสำเร็จรูป ซอสและของปรุงรสอื่นๆ อาทิ กะปิ น้ำมันหอย ซอสพริก

*จับตาคู่ค้าสำคัญ

อย่างไรก็ตาม สศก.ได้ติดตามสถานการณ์การค้าระหว่างไทยกับคู่ค้าสำคัญ ได้แก่ จีน สหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น พบว่ายังมีแนวโน้มเป็นบวก ผู้บริโภคมีความต้องการสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ และอาเซียนยังคงเป็นประเทศคู่ค้าหลักของไทย แต่มีปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าเกษตรของไทยในอนาคต อาทิ การดำเนินนโยบาย Make America Great Again ของสหรัฐฯ ที่ประกาศขึ้นภาษีศุลกากรสินค้านำเข้าจากประเทศคู่ค้าที่ได้ดุลการค้ากับสหรัฐฯ รวมถึงไทย ทำให้สินค้าไทยในตลาดสหรัฐฯ มีราคาสูงขึ้นเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งของไทยอาจส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันของไทย

นอกจากนี้สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนอาจทำให้ไทยมีโอกาสส่งออกได้เพิ่มขึ้น โดยเข้าไปครองส่วนแบ่งตลาดแทนที่จีน ขณะเดียวกันต้องเฝ้าระวังสินค้าจากจีนที่อาจระบายมายังไทยมากขึ้น หรืออาจระบายไปตลาดอื่นที่เป็นคู่ค้าของไทยส่งผลให้การแข่งขันกับสินค้าจีนในตลาดนั้นสูงขึ้น ทำให้ไทยอาจสูญเสียตลาดบางส่วนให้จีนได้

ดังนั้นไทยจึงต้องรักษาและพัฒนามาตรฐานการผลิตสินค้าในระดับสากล เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันในตลาดสหรัฐฯ ควบคุมการนำเข้าให้เป็นไปตามกฎระเบียบข้อบังคับด้านคุณภาพและมาตรฐานเพื่อป้องกันการลักลอบการนำเข้าสินค้า รวมถึงปรับกลยุทธ์ทางการค้าและการส่งออก โดยให้ความสำคัญกับการหาพันธมิตรทางการค้าใหม่ๆ เพื่อลดความเสี่ยงจากการตั้งกำแพงภาษีหรือการประกาศใช้นโยบายใหม่ ๆ ของสหรัฐฯ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (15 พ.ค. 68)

Tags: , , ,