นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง กล่าวเปิดงาน “Thailand-U.S. Trade and Investment Summit 2025” ในตอนหนึ่งว่า รัฐบาลไทยให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับความร่วมมือ และพันธมิตรทางยุทธศาสตร์กับสหรัฐฯ โดยรัฐบาลไทยมีความมุ่งมั่นในการสร้างความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ ที่ยั่งยืน ยุติธรรม และสมดุลในระยะยาว โดยขณะนี้ เรากำลังดำเนินการในกรอบความร่วมมือที่มีเป้าหมายเพื่อลดความไม่สมดุลทางการค้า และเสริมสร้างความร่วมมือที่ก่อให้เกิดประโยชน์ร่วมกันในระยะยาว
ตามที่รัฐมนตรีต่างประเทศ เจ้าหน้าที่ด้านการคลัง และผู้แทนจากสภาคองเกรสของสหรัฐฯ ได้กล่าวไว้ ไทยยื่นข้อเสนอที่มีรายละเอียดชัดเจน ซึ่งประเมินว่า แผนนี้อาจช่วยลดตัวเลขขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ ได้ประมาณ 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
“เราได้จัดทำข้อเสนออย่างละเอียด และเราพร้อมที่จะเดินหน้า เราคาดว่าแนวทางนี้ จะสามารถลดการขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ ได้ถึง 50,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงแนวทางที่เป็นรูปธรรม ชัดเจน และสามารถนำไปสู่ผลลัพธ์ที่จับต้องได้” นายพิชัย ระบุ
ย้ำบทบาทพันธมิตรไทย-สหรัฐ พร้อมปรับตัวรับมือโลกผันผวน
รองนายกฯ และรมว.คลัง กล่าวว่า ท่ามกลางความไม่แน่นอนที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก เราจำเป็นต้องยกระดับความร่วมมือ และสร้างพันธมิตรทางเศรษฐกิจที่สามารถผลักดันโอกาสทางการค้า การลงทุน และการเติบโตอย่างยั่งยืน ที่จะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ ภาคธุรกิจ และประชาชนของทั้ง 2 ประเทศ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว ประเทศไทยกำลังเดินหน้าสร้างระบบเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม พร้อมเร่งผลักดันนโยบายเศรษฐกิจที่เน้นความมั่งคั่ง สะดวกต่อการทำธุรกิจ และตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก
ทั้งนี้ รัฐบาลมีความมุ่งมั่นที่จะเร่งรัดกระบวนการอนุมัติด้านต่าง ๆ ผลิตบุคลากรรุ่นใหม่ที่มีทักษะสูง ดำเนินการเปลี่ยนผ่านบริการภาครัฐสู่ระบบดิจิทัล และผลักดันการเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) เพื่อให้ประเทศไทยพร้อมเปิดรับนักลงทุน เป็นประเทศที่ยืดหยุ่น และพร้อมเป็นจุดหมายหลักของการทำธุรกิจ และการเชื่อมโยงสู่ตลาดในภูมิภาค
นายพิชัย กล่าวว่า ในปีนี้ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับให้อยู่ที่อันดับ 10 ในกลุ่ม 25 ประเทศตลาดเกิดใหม่ที่น่าลงทุนมากที่สุด จากดัชนีความเชื่อมั่นด้านการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI Confidence Index 2025) โดยบริษัท Kearney จากแบบสำรวจเดียวกัน ยังระบุว่า ประเทศไทย อยู่ในอันดับ 5 ด้านความเชื่อมั่นของนักลงทุน ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดี และโอกาสที่ไม่ควรมองข้าม
ปัจจุบัน การลงทุนของบริษัทไทยในสหรัฐฯ มีมูลค่าสูงถึง 70,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ครอบคลุมมากกว่า 20 อุตสาหกรรม ซึ่งรัฐบาลขอเชิญชวนให้ทุกฝ่ายร่วมกันสำรวจโอกาสการลงทุนระหว่างกันให้มากยิ่งขึ้น แผนการต่าง ๆ ของเราจะเปิดโอกาสที่กว้างขึ้น พร้อมส่งเสริมความยั่งยืนในหลายมิติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคพลังงาน ซึ่งตนคาดหวังว่าจะได้เห็นความร่วมมือเพิ่มมากขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม
เพิ่มบทบาทไทย-สหรัฐฯ พันธมิตรภาคพลังงาน-ดิจิทัล-ไบโอเทคฯ
นายพิชัย กล่าวว่า ในอดีตที่ผ่านมา ประเทศไทยเคยพึ่งพาทรัพยากรด้านพลังงานในประเทศได้ถึง 100% แต่ในปัจจุบัน ความสามารถในการพึ่งพาทรัพยากรในประเทศลดลงเหลือเพียง 40% เท่านั้น อีก 60% เราจำเป็นต้องพึ่งการนำเข้า ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความต้องการใหม่ในด้านการพัฒนาและการลงทุน ซึ่งยังมีพื้นที่อีกหลายแห่งในฝั่งตะวันตก และตอนใต้ โดยเฉพาะในทะเลลึก ที่ในอดีตอาจไม่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจในการสำรวจหรือพัฒนา แต่ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ในปัจจุบัน เราเชื่อว่าพื้นที่เหล่านี้อาจมีศักยภาพมากพอ ๆ กับพื้นที่อ่าวไทย
“โอกาสยังเปิดอยู่ และเราควรหารือกันอย่างจริงจัง เพื่อเปิดประตูสู่การพัฒนาในพื้นที่เหล่านี้ เชื่อว่าโอกาสนี้กำลังจะมาถึงในเร็ว ๆ นี้ และบุคลากรหรือผู้เชี่ยวชาญหลายท่าน ก็มีข้อมูลเชิงลึกในประเด็นนี้อยู่แล้ว” รองนายกฯ และรมว.คลัง กล่าว
พร้อมระบุว่า เมื่อมองไปข้างหน้า ภาคเอกชนของไทย พร้อมจะขยายความร่วมมือกับสหรัฐฯ ในหลากหลายสาขาหลัก เช่น ด้านดิจิทัล ซึ่งบริษัทชั้นนำของสหรัฐฯ เช่น Amazon Web Services, Google และ Microsoft ได้เข้ามาลงทุนในประเทศไทยแล้ว ซึ่งเป็นความร่วมมืออย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่มั่นคง และการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลของไทย ขณะเดียวกัน ประเทศไทยก็พร้อมเปิดรับองค์ความรู้ และเทคโนโลยีจากสหรัฐฯ เพื่อสนับสนุนพันธกิจระดับชาติด้านพลังงานสะอาด
“วิสัยทัศน์ของเรา คือ การยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในทุกภาคส่วน เพื่อเสริมความแข็งแกร่งในบทบาทของประเทศไทยในฐานะครัวของโลก” รองนายกฯ และรมว.คลัง กล่าว
ขณะเดียวกัน ไทยพร้อมร่วมมือกับบริษัทสหรัฐฯ ในสาขาเทคโนโลยีชีวภาพขั้นสูง เกษตรกรรม และกระบวนการแปรรูปอาหาร ซึ่งประเทศไทยยังมีจุดแข็งด้านบริการสุขภาพแบบครอบคลุม เรามีความตั้งใจที่จะขยายความร่วมมือกับสหรัฐฯ ในด้านนโยบายสุขภาพ และบริการทางการแพทย์ขั้นสูง
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 พ.ค. 68)

Tags: พิชัย ชุณหวชิร, ภาษีทรัมป์, เจรจาภาษี