นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรมว.ต่างประเทศ กล่าวปาฐกถาในงาน “Thailand- U.S. Trade and Investment Summit 2025” โดยกล่าวในตอนหนึ่งว่า ประเทศไทยตั้งอยู่ในยุทธศาสตร์สำคัญ มีความคล่องตัวด้านการทูต และเศรษฐกิจที่ทันสมัย ในวันนี้ที่โลกเข้าสู่จุดเปลี่ยนนั้น ประเทศไทยสามารถเป็นได้มากกว่าผู้สังเกตการณ์ โดยสามารถเป็นหมุดหมายที่มีเสถียรภาพ ภายใต้สถานการณ์โลกที่มีความไม่แน่นอนได้
ทั้งนี้ เห็นว่ามี 4 ด้านที่ไทยและสหรัฐฯ สามารถเดินหน้าไปด้วยกันได้ มีดังนี้
1. พลังงานสีเขียว และการเติบโตอย่างยั่งยืน ประเทศไทยที่ตั้งเป้าเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2050 ต้องใช้การการลงทุนเพื่อการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงาน ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างพื้นฐานรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid) และอื่น ๆ ที่สหรัฐฯเป็นผู้นำเทคโนโลยี ดังนั้น ขอเชิญชวนให้มาร่วมเดินหน้าไปด้วยกัน ไม่ใช่แค่ในฐานะนักลงทุนเท่านั้น แต่ในฐานะพาร์ทเนอร์
2. ความมั่นคงทางอาหารและสุขภาพ เรากำลังอยู่ในโลกที่ประชากรที่สูงวัยมากขึ้น และประเทศไทยที่เป็นผู้ส่งออกอาหารรายใหญ่ของโลก เรามีจุดแข็ง และสหรัฐฯ การวิจัยและพัฒนา มีนวัตกรรม และมีเงินทุน ให้ลองจินตนาการถึงโลกที่มีไทยเป็นศูนย์รวมด้านสุขภาพในเอเชีย โดยมีวิทยาศาสตร์และมาตรฐานที่ดีจากสหรัฐอเมริกา
3. ด้านดิจิทัล และการเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุค AI (ปัญญาประดิษฐ์) ประเทศไทยกำลังผลักดันนโยบายการพัฒนา AI ในภาคการเงิน การผลิต และการทำงานทั้งหลาย รวมถึงจรรยาบรรณในการใช้ AI และความปลอดภัยทางไซเบอร์ แต่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่นี้ ไม่สามารถสำเร็จได้หากไม่มีความร่วมมือระหว่างประเทศ และต้นแบบที่มีความผิดชอบ ซึ่งสหรัฐฯ เป็นตัวอย่างให้เห็นมาตลอด
4. การแลกเปลี่ยนบุคลากร และการศึกษา เพราะความสัมพันธ์ของเราไม่สามารถพี่งพาแค่การค้าได้เพียงอย่างเดียว แต่ต้องร่วมกันผลิตบุคลากร ซึ่งเป็นผู้ที่จะมาสร้างการเปลี่ยนแปลงในอนาคต ซึ่งเราจำเป็นต้องร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดกับสถาบันการศึกษา และบริษัทในสหรัฐฯ
พร้อมกันนี้ นายสุรเกียรติ ยังได้เสนอให้มีการร่วมกันสร้างกลยุทธ์ทางเศรษฐกิจที่สำคัญระหว่างไทย-สหรัฐ ในระยะ 10 ปีข้างหน้า ดังนี้
1. ร่วมกันสร้างบุคลากรที่สามารถรับมือกับความผันผวนของโลก และตลาดเสรีที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
2. ร่วมกันสร้างนวัตกรรมในด้านพลังงาน อาหาร สุขภาพ และเทคโนโลยี AI
3. สร้างความยั่นยืนทางเศรษฐกิจที่สืบทอดไปหลายยังรุ่น และการสื่อสารที่มากขึ้นระหว่างสองประเทศ
4. สร้างความเชื่อใจระหว่างกัน
5. การเข้าถึงและเชื่อมโยงกัน
“เป็นสิ่งสำคัญ ที่ 2 ประเทศจะสามารถแลกเปลี่ยนความรู้ ความถนัดในการค้า และการบริการได้ เพื่อการพัฒนา AI พลังงานสีเขียว ท่ามกลางความตึงเครียดทางด้านภูมิรัฐศาสตร์” นายสุรเกียรติ์ กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 พ.ค. 68)
Tags: การศึกษา, ดิจิทัล, พลังงานสะอาด, สุรเกียรติ์ เสถียรไทย, อาหาร