In Focus: ข้อตกลงสันติภาพรัสเซีย-ยูเครน แสงริบหรี่ในอุโมงค์มืด

ในระหว่างการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อปีที่แล้ว โดนัลด์ ทรัมป์ ให้คำมั่นอย่างหนักแน่นหลายครั้งหลายหนว่า เขา “จะยุติสงครามรัสเซีย-ยูเครนภายใน 24 ชั่วโมง” หลังเข้ารับตำแหน่ง ทว่าในความเป็นจริง ตลอดระยะเวลาห้าเดือนนับตั้งแต่ที่กลับมาครองบังลังก์ทำเนียบขาว ทรัมป์ได้ประจักษ์แล้วว่า “พูดง่าย ทำยาก” ข้อตกลงสันติภาพที่เคยเป็นความหวังกลับยังไปไม่ถึงไหน ซ้ำร้ายยังดูเหมือนจะถอยหลังลงอีกด้วย

เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (19 พ.ค.) ประธานาธิบดีทรัมป์ได้ต่อสายตรงคุยกับประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย เป็นเวลานานถึงสองชั่วโมง นับเป็นการสนทนาทางโทรศัพท์ครั้งที่สามอย่างเป็นทางการระหว่างผู้นำทั้งสองตั้งแต่เดือนมกราคมปีนี้

หลังวางสายปูติน ทรัมป์ได้โทรคุยกับประธานาธิบดี โวโลดีเมียร์ เซเลนสกี แห่งยูเครน ซึ่งทรัมป์ระบุว่าเป็นการสนทนาที่ยอดเยี่ยม อีกทั้งยังได้หารือกับผู้นำจากสหภาพยุโรป ฝรั่งเศส อิตาลี เยอรมนี และฟินแลนด์ ถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นร่วมกับผู้นำยูเครนด้วย

อย่างไรก็ดี ผลลัพธ์ที่ได้จากการพูดคุยครั้งล่าสุดไม่ใช่คำยืนยันว่าข้อตกลงหยุดยิงจะเกิดขึ้นในเร็ววัน กลับเป็นเพียงคำบอกกล่าวของทรัมป์บนทรูธโซเชียลว่า ทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะเจรจาหยุดยิงทันที แต่ยังไม่มีการกำหนดเงื่อนไขหรือกรอบเวลาที่ชัดเจน

ด้านปูตินกล่าวถึงการหารือกับทรัมป์ว่ามีประสิทธิภาพ และขอบคุณสหรัฐฯ ที่พยายามผลักดันให้เกิดการเจรจาโดยตรงระหว่างรัสเซียกับยูเครนอีกครั้ง แต่ขณะเดียวกัน ผู้นำรัสเซียยังคงยืนกรานว่า การหยุดยิงจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ “ต้นตอของวิกฤต” ได้รับการแก้ไข ซึ่งรวมถึงการที่ยูเครนต้องยุติความพยายามเข้าร่วมองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) และถอนทหารออกจากดินแดนที่รัสเซียได้เข้ายึดครอง

ฝั่งเซเลนสกีย้ำจุดยืนของตนว่า ยูเครนพร้อมสำหรับ “การหยุดยิงโดยสมบูรณ์และไม่มีเงื่อนไข” รวมทั้งกล่าวเสริมด้วยว่า หากรัสเซียไม่พร้อมหยุดยิง ชาติพันธมิตรก็ควรเพิ่มการคว่ำบาตรกดดันรัสเซียเพื่อผลักดันให้เกิด “สันติภาพที่แท้จริง”

สองขั้วความต้องการที่ห่างกันคนละโยชน์

การเจรจาสันติภาพระหว่างรัสเซียกับยูเครนไม่ใช่เพิ่งจะมาเริ่มต้นขึ้นเมื่อทรัมป์เข้ารับตำแหน่ง แต่จริง ๆ แล้ว นับตั้งแต่สงครามเปิดฉากขึ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 นานาประเทศก็พยายามมาโดยตลอดที่จะโน้มน้าวให้ทั้งสองฝ่ายหันหน้าเข้าหากันผ่านโต๊ะเจรจา โดยในช่วงแรกของการรุกราน รัสเซียและยูเครนได้หารือกันหลายครั้งในประเทศที่สาม เช่น เบลารุส และตุรกี ซึ่งการประชุมเหล่านี้มุ่งเน้นไปที่การหยุดยิงทันที การจัดตั้งระเบียงมนุษยธรรมเพื่ออพยพพลเรือน และการแลกเปลี่ยนนักโทษสงคราม

แต่ขณะเดียวกัน ตลอดเส้นทางการเจรจา ต่างฝ่ายต่างก็ยื่นข้อเรียกร้องของตนด้วย โดยรัสเซียยืนกรานว่า ยูเครนต้องไม่เข้าร่วมนาโต ยอมรับการผนวกไครเมียของรัสเซีย รับรองเอกราชของสาธารณรัฐประชาชนโดเนตสก์และลูฮันสก์ ตลอดจนถอนทหารออกจากดินแดนที่รัสเซียอ้างสิทธิ์ ซึ่งปูตินชี้ว่าสิ่งเหล่านี้เป็น “ต้นตอของวิกฤตความขัดแย้ง” ที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขจึงจะเกิดสันติภาพ ด้านยูเครนยืนยันในอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนอย่างสมบูรณ์ เรียกร้องให้รัสเซียถอนทหารออกจากทุกพื้นที่ที่ยึดครอง และเรียกร้องค่าปฏิกรรมสงคราม เซเลนสกีระบุว่า การเจรจาในปี 2565 ล้มเหลว เนื่องจากรัสเซียเรียกร้องให้ยูเครนแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อประกาศความเป็นกลาง และยอมยกดินแดนที่รัสเซียยึดครองไป

ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าหนึ่งในประเด็นหลักที่เป็นชนวนของความขัดแย้งและเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเจรจาคือ ความต้องการของรัสเซียที่จะให้ยูเครนยุติความพยายามในการเข้าร่วมนาโต รัสเซียมองว่าการขยายตัวของนาโต ไปยังภูมิภาคยุโรปตะวันออกเป็นการคุกคามความมั่นคงของตนเอง และเรียกร้องให้มีการรับประกันทางกฎหมายว่ายูเครนจะไม่เข้าร่วมนาโตในอนาคต ในทางกลับกัน ยูเครนและพันธมิตรตะวันตกมองว่าการตัดสินใจเข้าร่วมนาโตนั้นเป็นสิทธิอธิปไตยของยูเครน และเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อป้องกันการรุกรานจากรัสเซียในอนาคต

ความแตกต่างอย่างสิ้นเชิงในข้อเรียกร้องเหล่านี้ทำให้การหาจุดร่วมเป็นไปได้ยากยิ่ง โดยเฉพาะเมื่อทรัมป์เองก็เคยตั้งคำถามถึงความจำเป็นและประสิทธิภาพของนาโต ความหวังที่จะมีการบรรลุข้อตกลงสันติภาพจึงยิ่งลางเลือน และสงครามยังคงดำเนินต่อไป

คว่ำบาตร: อาวุธที่ไร้ผล (?)

ย้อนกลับไปในช่วงแรกที่รัสเซียเข้ารุกรานยูเครน ชาติพันธมิตรยุโรปและสหรัฐฯ ซึ่งโจ ไบเดน เป็นประธานาธิบดีอยู่ในขณะนั้น ได้ร่วมกันออกมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่และครอบคลุมต่อรัสเซีย เพื่อกดดันให้ยุติการสู้รบและลงนามในข้อตกลงสันติภาพ มาตรการเหล่านี้ครอบคลุมตั้งแต่การจำกัดการเข้าถึงระบบการเงินระหว่างประเทศ (SWIFT) การห้ามนำเข้าน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากรัสเซีย การจำกัดการส่งออกเทคโนโลยีขั้นสูง ไปจนถึงการอายัดทรัพย์สินของบุคคลสำคัญและสถาบันการเงินของรัสเซีย

อย่างไรก็ตาม หลังจากทรัมป์เข้ามารับตำแหน่งต่อจากไบเดน นโยบายของสหรัฐฯ ต่อรัสเซียและยูเครนกลับเปลี่ยนแปลงไปแบบหน้ามือเป็นหลังมือ เมื่อทรัมป์เริ่มถอยห่างจากยูเครนและหันไปเข้าข้างรัสเซีย โดยหนึ่งวันก่อนการคุยโทรศัพท์หารือกับปูตินรอบล่าสุด ทรัมป์ยังคงวิพากษ์วิจารณ์นโยบายของอดีตประธานาธิบดีไบเดนที่ได้จัดส่งอาวุธและความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมหลายพันล้านดอลลาร์ให้ยูเครน ซึ่งบางส่วนถูกรัฐบาลทรัมป์ลดทอนลงไปแล้ว

ในทางกลับกัน สหภาพยุโรปและสหราชอาณาจักรยังคงจับมือสนับสนุนยูเครนอย่างเหนียวแน่น และล่าสุดในวันอังคาร (20 พ.ค.) หลังจากการหารือระหว่างทรัมป์-ปูตินสิ้นสุดลงโดยไม่มีความคืบหน้าสำคัญ EU-UK ยังได้ประกาศมาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซียเพิ่มขึ้นอีกด้วย

ประธานาธิบดีเซเลนสกีระบุผ่านเทเลแกรมว่า มาตรการคว่ำบาตรล่าสุดนี้มีความสำคัญ และเขารู้สึกขอบคุณทุกฝ่าย พร้อมเพิ่มเติมด้วยว่า หากสหรัฐฯ เข้าร่วมด้วยก็จะเป็นเรื่องที่ดี และเน้นว่าสิ่งสำคัญคืออเมริกาควรมีบทบาทต่อเนื่องในกระบวนการนำสันติภาพกลับคืนมา

อย่างไรก็ตาม แม้ที่ผ่านมา การคว่ำบาตรจะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจรัสเซีย แต่กลับไม่สามารถบีบให้รัสเซียยุติสงคราม และดูเหมือนรัสเซียจะปรับตัวเข้ากับมาตรการเหล่านี้ได้ในระดับหนึ่ง โดยหันไปพึ่งพาการค้ากับประเทศที่ไม่ร่วมคว่ำบาตร เช่น จีน อินเดีย และประเทศในตะวันออกกลาง ทำให้มีรายได้เพียงพอที่จะประคองเศรษฐกิจและบำรุงกองทัพต่อไป และจึงส่งผลให้เกิดการตั้งคำถามว่า มาตรการคว่ำบาตรจะเป็นทางออกไปสู่การยุติสงครามได้อย่างยั่งยืนถาวร จริงหรือ

วาติกันจุดประกายความหวังใหม่

ท่ามกลางความพยายามที่ยากเย็นแสนเข็ญของทรัมป์และนานาประเทศในการผลักดันข้อตกลงสันติภาพรัสเซีย-ยูเครน แสงแห่งความหวังได้ปรากฏขึ้น เมื่อนครวาติกันและสมเด็จพระสันตะปาปาเลโอที่ 14 ซึ่งเพิ่งขึ้นเป็นผู้นำแห่งคริสตจักรโรมันคาทอลิก แสดงความเต็มใจที่จะรับหน้าที่เป็นเจ้าภาพจัดการเจรจาโดยตรงระหว่างสองคู่ขัดแย้ง ด้วยการใช้สถานะความเป็นกลางและอิทธิพลทางจิตวิญญาณอันแข็งแกร่งของวาติกันเป็นตัวช่วย

ในประวัติศาสตร์นั้น วาติกันเคยมีบทบาทสำคัญในการไกล่เกลี่ยความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ครั้งใหญ่มาแล้ว เช่น วิกฤตการณ์ขีปนาวุธคิวบาในปีพ.ศ. 2505 และการฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสหรัฐฯ กับคิวบาในยุคพระสันตะปาปาฟรานซิส รวมถึงกรณีข้อพิพาทดินแดนระหว่างอาร์เจนตินากับชิลีในปี 2527 ความสำเร็จในอดีตเหล่านี้สร้างความหวังว่า วาติกันอาจเป็นกุญแจสำคัญในการปลดล็อกทางตันในครั้งนี้

แม้ริบหรี่ แต่ก็ยังมีหวัง

แม้คำมั่นสัญญายุติสงครามภายใน 24 ชั่วโมงของทรัมป์ไม่มีทางเป็นจริงแล้ว และแม้ ณ วันนี้ ยังไม่มีกรอบเวลาการเจรจาที่ชัดเจน อีกทั้งการยินยอมพร้อมใจที่จะประนีประนอมอย่างแท้จริงจากทั้งรัสเซียและยูเครนยังไม่บังเกิด แต่ถึงกระนั้น โลกก็ยังคงรอคอยด้วยความหวังที่ริบหรี่ว่า การหยุดยิงและสันติภาพที่ยั่งยืนจะมาถึงในสักวันหนึ่ง

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 พ.ค. 68)

Tags: , , , , , , , , ,