โกลด์แมน แซคส์เปิดเผยรายงานล่าสุดระบุว่า กลุ่มเฮดจ์ฟันด์ได้พากันลดการถือครองหุ้น 7 บริษัทเทคโนโลยีที่มีมาร์เก็ตแคปสูงของสหรัฐฯ หรือกลุ่ม Magnificent Seven ในไตรมาส 1 ปีนี้ ขณะเดียวกันก็หันไปเพิ่มการถือครองหุ้นของบริษัทจีนที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ แม้สถานการณ์ตึงเครียดด้านการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ทวีความรุนแรงมากขึ้นก็ตาม
การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงความน่าดึงดูดที่เพิ่มขึ้นของหุ้นบริษัทเทคโนโลยีจีน ซึ่งหุ้นกลุ่มดังกล่าวได้รับความสนใจจากนักลงทุนต่างชาติหลังมีสัญญาณบ่งชี้ว่าบริษัทเทคโนโลยีจีนมีส่วนสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ ของประเทศ โดยในช่วงต้นปีนี้ ความก้าวหน้าของสตาร์ตอัป AI อย่างดีปซีค (DeepSeek) ได้สร้างแรงกระเพื่อมในตลาดโลกและส่งผลให้เกิดแรงเทขายในหุ้นกลุ่ม Magnificent Seven จนนำไปสู่จุดเปลี่ยนสำคัญในมุมมองของนักลงทุนทั่วโลกที่มีต่อภาคเทคโนโลยีของจีน
ทั้งนี้ รายงานของโกลด์แมน แซคส์ระบุว่า กลุ่มเฮดจ์ฟันด์เพิ่มการลงทุนในตราสารหนี้ American depositary receipts (ADR) ของบริษัทจีน โดยตราสาร ADR ที่ได้รับความนิยมในหมู่เฮดจ์ฟันด์นั้น รวมถึง ADR ของบริษัทอาลีบาบา กรุ๊ป โฮลดิง (Alibaba Group Holding), พีดีดี โฮลดิงส์ (PDD Holdings) และไป่ตู้ (Baidu)
อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์ของโกลด์แมน แซคส์ระบุว่า แม้ว่าหุ้นในกลุ่ม Magnificent Seven ได้ถูกเทขายออกมาอย่างหนัก แต่หุ้นในกลุ่มนี้ เช่น อะเมซอนดอทคอม (Amazon.com), เมตา แพลตฟอร์มส์ (Meta Platforms), ไมโครซอฟท์ (Microsoft), อินวิเดีย (Nvidia) และอัลฟาเบท (Alphabet) ยังคงเป็นหุ้นสถานะซื้อ (long position) ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดของเฮดจ์ฟันด์
นอกจากนี้ โกลด์แมน แซคส์แสดงความเห็นว่า การโยกย้ายการลงทุนนี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ไม่เหมาะสม โดยหุ้นในกลุ่ม Magnificent Seven ให้ผลตอบแทนมากกว่า 10% แล้วในไตรมาส 2 จนถึงขณะนี้ ในขณะที่ความตึงเครียดด้านการค้าได้สร้างแรงกดดันต่อตราสาร ADR ของบริษัทจีน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 พ.ค. 68)
Tags: หุ้นเทคโนโลยี, เฮดจ์ฟันด์