AAI ขอตรึงเป้าปี 68 ไว้ก่อนหวังรับปัจจัยบวกดีมานด์สูง เกาะติดมาตรการภาษีสหรัฐก่อนทบทวน

นางสาววรัญรัชต์ อัสสานุพงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่สายการเงิน บมจ.เอเชี่ยน อะไลอันซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล [AAI] เปิดเผยว่า บริษัทยังคงเป้ารายได้เดิมปี 68 โดยอุปสงค์อาหารสัตว์เลี้ยงยังสูงอยู่ แต่บริษัทจะติดตามมาตรการภาษีสหรัฐที่ยังไม่แน่ไม่นอน และพร้อมปรับเปลี่ยนเป้าหมายหากทุกอย่างชัดเจนแล้ว

ในไตรมาส 1/68 AAI สามารถทำรายได้เป็น record high ของบริษัทฯ อยู่ที่ 1,653 ล้านบาท โดย 64% ของรายได้จากการขายอาหารสัตว์เลี้ยงนั้น มาจากการขายในประเทศสหรัฐอเมริกาและแคนาดา ดังนั้นมาตรการเรียกเก็บภาษีนำเข้าของสหรัฐ จะกระทบต่อยอดขายและอัตราการทำกำไรของ AAI แน่นอน โดยบริษัทฯ จะติดตามสถานการณ์และร่วมมือกับลูกค้าอย่างใกล้ชิด

เมื่อเทียบกับคู่แข่งในประเทศเวียดนามหรืออินเดีย AAI เชื่อมั่นว่ายังคงแข่งขันได้ เพราะลูกค้ายังคงต้องการวัตถุดิบทูน่าและไก่ที่มีคุณภาพและศักยภาพในปริมาณที่เพียงพอ ซึ่งบริษัทฯ ที่ตั้งอยู่ในประเทศไทยสามารถรองรับตรงนี้ได้ดีกว่า และยังมีราคาต้นทุนของทูน่าก็ได้ย่อตัวลงไปด้วยในไตรมาส สวนทางกับการประเมินในช่วงต้นปี รวมกับความเชี่ยวชาญของ AAI ที่รักษาคุณภาพการผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงไว้ได้ดี จนได้รับความไว้วางใจทั่วโลก

“เราเชื่อว่าในระยะสั้น เราไม่ได้รับผลกระทบจากการที่ลูกค้าหนีไปหาประเทศคู่แข่งหรือผู้ผลิตในประเทศอื่น แต่ในระยะยาว แน่นอน ถ้าเรามีข้อเสียเปรียบแบบนี้ในระยะยาว ๆ ทุกประเทศก็สามารถมาเป็นคู่แข่งเราได้หมด” นางสาววรัญรัชต์ กล่าว

ความไม่แน่นอนของนโยบายสหรัฐฯ ทำให้ลูกค้าไม่กล้าตัดสินล่วงหน้า แต่บริษัทก็ได้หารือกับลูกค้าด้วยกันมาตลอด โดยเห็นว่า หลังจากพ้นช่วงระงับการเก็บภาษี 90 วันไป ก็ไม่ได้หมายความว่าอัตราภาษีจะถูกปรับขึ้นสูงเท่าอัตราที่ระบุว่าจะเรียกเก็บก็ได้ ทำให้ในไตรมาส 2/68 ไม่ได้มีคำสั่งซื้อที่มากกว่าปกติ

ทั้งนี้ AAI ได้พยายามปรับสัดส่วนออกจากผลิตภัณฑ์ราคาไม่แพง ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการโยกย้ายฐานผลิตสำหรับลูกค้า OEM พอสมควร มาสักพักแล้ว เข้าสู่สินค้าพรีเมี่ยมมากขึ้น โดยเฉพาะสินค้ามีความเฉพาะเจาะจงสำหรับความต้องการของลูกค้า จะเข้ามาช่วยลดความเสี่ยงในตรงนี้ได้ ไปพร้อม ๆ กับการเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุนในการผลิต

นางสาววรัญรัชต์ กล่าวว่า ถ้าหากมีการใช้มาตรการภาษีนำเข้าในอัตราที่สูงจริง จะไม่ใช่แค่ลูกค้าที่ต้องแบกรับส่วนต่างเพียงฝ่ายเดียว เพราะบริษัทฯ จะถูกกดดันจากต้นทุนที่สูงขึ้นของลูกค้า ดังนั้น การเจรจาราคาสำหรับแต่ล่ะผลิตภัณฑ์ จึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อร่วมกันแบกรับภาระ ระหว่างลูกค้า ผู้ผลิต และผู้บริโภคปลายทางทุกฝ่าย

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 13 พ.ค. บริษัทฯ ก็ได้มีมติอนุมัติโครงการซื้อหุ้นคืน เพื่อบริหารทางการเงินจำนวน ผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยจะซื้อคืนในจำนวนไม่เกิน 65 ล้านหุ้น คิดเป็นไม่เกิน 3.06% ของหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด วงเงินที่ใช้ในการซื้อหุ้นคืนไม่เกิน 312 ล้านบาท ภายในระยะเวลาซื้อหุ้นคืน 6 เดือน นับแต่วันที่ 28 พ.ค. – 28 พ.ย. 68

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 พ.ค. 68)

Tags: , , ,