“ESG” ทำไมใคร ๆ ก็เน้นไปที่ตัว E … นี่ S กับ G ยังสำคัญอยู่ไหม ?!
ถ้าพูดถึง ESG ภาพในหัวของใครหลายคนต้องคิดถึงเรื่องรักษ์โลก รักสิ่งแวดล้อม ธุรกิจสีเขียว แต่จริง ๆ แล้ว ESG มันไม่ได้มีแค่เรื่อง E : Environment แต่ยังมีมิติอื่น ๆ ซ่อนอยู่อีก ทั้ง S : Social และ G : Governance ที่สำคัญไม่แพ้กัน !
แล้วถ้าเรามุ่งทำแต่ E ธุรกิจเราจะยังไปต่อได้มั้ย หรือถ้าจะบาลานซ์ทั้ง 3 มิติให้ไปด้วยกันมันทำได้จริงไหม !?
“All About ESG” EP.นี้ จะพาไปพูดคุยกับ นายวีรณัฐ โรจนประภา ที่ปรึกษา ESG Strategy ที่จะมาเฉลย How To ทำ ESG ของแท้แบบยั่งยืน ต้องทำยังไง ?
บริษัทต่าง ๆ ตื่นตัวและให้ความสนใจเรื่อง ESG (Environment, Social, Governance) กันอย่างมาก และพบว่าหลายองค์กรให้ความสำคัญไปที่ Environment (E) มากที่สุด เนื่องจากช่วงนี้มีการรณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อมกันอย่างต่อเนื่อง รวมถึงกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ที่ออกมาก็จะเน้นเรื่องคาร์บอนก่อน อาทิ Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) เป็นต้น จึงไม่แปลกที่หลาย ๆ องค์กรจะมุ่งเน้นไปที่ Environment
แต่แท้จริงแล้ว ต้นกำเนิดของ ESG นั้น เริ่มมาจาก Governance (G) ก่อน โดยเกิดจากการที่แต่ละบริษัทแข่งขันกัน อย่างในช่วงแรกก็แข่งกันที่สายงานการผลิต จากนั้นมาแข่งที่ทรัพยากรบุคคล โลจิสติกส์ หรือโปรโมชัน และสุดท้ายก็มาแข่งกันที่เรื่อง Good Governance
ต่อมาเมื่อภายในองค์กรไม่มีอะไรให้แข่งขันแล้ว ก็ขยับมาแข่งขันด้านนอกองค์กร หรือก็คือ Social (S) ซึ่งในช่วงหนึ่งก็ทำให้เกิด Corporate Social Responsibility (CSR) ขึ้นมา จนสุดท้ายก็มาแข่งขันกันในเรื่อง Environment (E) จึงทำให้เกิดโมเดล BCG : Bio-Circular-Green Economy ตามมา
“ถ้าเราเห็นแผนที่ความยั่งยืน จะเห็นว่า คาร์บอนเป็นเพียงแค่เสี้ยวหนึ่งของ Green ซึ่ง Green ก็เป็นแค่ส่วนหนึ่งของ BCG และ BCG ก็อยู่ในตัวอักษร E เท่านั้น ยังขาด S และ G ดังนั้นการสนใจแค่ E เป็นเรื่องดี แต่ไม่มีทางเพียงพอหากต้องการค้าขายในระดับ Global ที่เขาเน้นเรื่อง S และ G เยอะมาก” นายวีรณัฐ ระบุ
การที่บริษัทหนึ่งจะสามารถบาลานซ์ระหว่าง ESG ได้นั้น ก่อนอื่นต้องรู้ก่อนว่า เราคือใคร บริษัทของเราอยู่ Sector ไหน และ Sector นั้นให้น้ำหนักกับเรื่องอะไร ซึ่งมาตรฐานที่กำหนดเรื่องดังกล่าว ปัจจุบันทั่วโลกนิยมใช้มาตรฐาน การจัดทำรายงาน Global Reporting Initiative (GRI) เป็นหลัก อย่างไรก็ดี ยังมีอีกหลายมาตรฐานแล้วแต่องค์กรเลือกใช้
“GRI จะสำรวจประเภทของธุรกิจทั่วโลกว่า ในแนวคิด ESG ของธุรกิจลักษณะนี้ควรต้องใส่ใจเรื่องอะไร เช่น ถ้าอยู่ Sector ที่เป็นเหมืองแร่ จะต้องใส่ใจ E ประเด็นไหน S เรื่องอะไร และ G ในหัวข้ออะไรบ้าง” นายวีรณัฐ กล่าว
ESG และ SDGs เป็นคำในกลุ่ม Sustainable เหมือนกัน แต่แตกต่างกันตรงที่ ESG คือ “อุดมการณ์” SDGs คือ “วิธีการ-แนวทางปฏิบัติ”
“ถ้าเรามีอุดมการณ์ว่าอยากเป็นคนดี อันนั้นคือ ESG แต่การจะเป็นคนดีเป็นอย่างไร ในศาสนาพุทธมีศีล 5 ข้อ ซึ่งเปรียบแล้วศีลทั้ง 5 ก็คือ SDGs นั่นเอง” นายวีรณัฐ ระบุ
แต่แม้ว่าโลกจะมี SDGs เป็นแนวทางตั้งแต่ปี 2558 แต่การประเมินในปี 2563 พบว่า ผลลัพธ์ไม่คุ้มค่ากับทรัพยากรมหาศาลที่หลายประเทศลงทุนไป สาเหตุสำคัญคือผู้บริหารขาด “Inner” หรือแรงขับเคลื่อนจากภายใน จึงเป็นที่มาของ Framework ตัวใหม่ นั่นก็คือ เป้าหมายการพัฒนาด้านใน (Inner Development Goals: IDGs) ที่จะมาใช้ควบคู่กับ SDGs ซึ่งกรอบ IDGs ประกอบด้วย 5 มิติ และ 23 ทักษะ
ทั้งนี้ ในมิติที่ 1 สิ่งแรกที่ต้องมีคือ Inner Compass หรือการปรับเข็มทิศจากภายในที่ว่า การมีอยู่ขององค์กรสอดคล้องกับ ESG หรือไม่ อย่างไร เพราะถ้าองค์กรไม่ได้เกี่ยวข้องกับ ESG เลย สุดท้ายก็จะขายสินค้าไม่ได้ เพราะทั่วโลกเขาไม่เอา ดังนั้น การจะทำ ESG ให้ยั่งยืน อาจต้องย้อนกลับไปดูว่า สิ่งที่ทำอยู่เป็นแค่เปลือก หรือทำจาก Inner
วิธีการทำ ESG จะต้องเริ่มต้นจากการตอบคำถามให้ได้ว่า การมีอยู่ขององค์กรสอดคล้องกับ ESG หรือไม่ อย่างไร จากนั้นต้องมาระบุผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเราว่ามีใครบ้าง ไม่ว่าจะเป็นลูกค้า, ผู้ถือหุ้น, พนักงาน, ชุมชน ฯลฯ และนำ 169 เป้าหมายย่อย (SDGs Targets) ไปเซอร์เวย์กับเขาว่าผู้มีส่วนได้ส่วนเสียให้ความสำคัญกับปัญหาใดบ้าง
เมื่อเซอร์เวย์เรียบร้อยแล้ว ถัดมาคือขั้นตอนการจัดอันดับ (Materiality) ว่าปัญหาไหนที่สำคัญมาก-น้อย , ส่งผลกระทบมาก-น้อย เพียงใด เพื่อนำมาวิเคราะห์กับจุดแข็งขององค์กร และต่อยอดด้วยการศึกษานวัตกรรมต่าง ๆ ที่จะนำมาปรับใช้ได้ จนสุดท้ายออกแบบมาเป็น “ESG Strategy” ที่สมบูรณ์
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (07 พ.ค. 68)
Tags: ESG, วีรณัฐ โรจนประภา