นายชยานนท์ หอพัตราภรณ์ หัวหน้าคณะสายงานบัญชีและการเงิน บมจ.แอสเสท เวิรด์ คอร์ป [AWC] กล่าวถึงทิศทางการดำเนินงานในปี 68 ยังมั่นใจว่าจะเติบโตต่อเนื่อง จากการเติบโตในสินทรัพย์เดิมของบริษัท และสินทรัพย์ใหม่ที่เข้ามา โดยเฉพาะโครงการ Jubilee รัชดา ซึ่งปรับปรุงอาคารเลอ คองคอร์ด ที่ซื้อกิจการมา โดยจะเริ่มเห็นสัดส่วนรายได้เพิ่มมาตั้งแต่ไตรมาส 2/68 เป็นต้นไป และโครงการอื่น ๆ ที่เตรียมเปิดตัวในช่วงที่เหลือของปีจะหนุนรายได้เพิ่มขึ้น โดยตั้งเป้ารายได้เฉลี่ยต่อวัน (ADR) โต Double Digit
แม้เศรษฐกิจไทยช่วงต้นปีจะมีความผันผวน รวมทั้งเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เป็นผลกระทบระยะสั้น ขณะการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จ่อปรับลดเป้าจำนวนนักท่องเที่ยวปีนี้ลงตามแนวโน้มนักท่องเที่ยวจีนที่ลดลง แต่บริษัทเชื่อว่าจะได้รับผลกระทบเพียงเล็กน้อย เนื่องจากสัดส่วนนักท่องเที่ยวจีนไม่ได้สูงมาก นอกจากนี้ยังมีนักท่องเที่ยวจากสหรัฐและยุโรปเข้ามาเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งนักท่องเที่ยวคุณภาพ (High-to-Luxury) ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าเป้าหมายหลักของบริษัทยังมีการเติบโต ทำให้ปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ มีผลกระทบต่อ AWC ค่อนข้างจำกัด นอกจากนี้หากเทียบสถานการณ์ในอดีตที่เกิดวิกฤติต่าง ๆ จะเห็นได้ว่าโรงแรมของ AWC ที่อยู่ในพื้นที่ Destination ADR ยังคงปรับตัวสูงขึ้นมาต่อเนื่อง
ขณะที่ ADR ในเดือนเม.ย. ยังสูงขึ้นในระดับ Single Digit และรายได้เฉลี่ยต่อห้องพัก (RevPAR) ยังใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งแนวโน้มไตรมาส 2/68 คาดว่า ADR ยังเติบโตต่อเนื่อง ขณะที่รายได้ภาพรวมคาดว่าอาจจะทรงตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) เนื่องจากภาพรวมจำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลง ขณะที่การจองล่วงหน้า (Booking) ในช่วงที่เหลือของปีคาดยังเติบโต แต่อาจชะลอลง
นายไพฑูรย์ วงศาสุทธิกุล หัวหน้าคณะสายงานกลยุทธ์การลงทุน AWC กล่าวว่า AWC ยังมีแผนในการเติบโต และยังเดินหน้าลงทุนตามแผน โดยจะเร่งพัฒนาทรัพย์สินที่มีอยู่ในพอร์ต ซึ่งปีนี้เตรียมเปิดโครงการ อาทิ โรงแรม พัทยา แมริออท รีสอร์ต แอนด์ สปา ที่จะเปิดตัวในไตรมาส 2/68 โรงแรม แฟร์มอนท์ แบงคอก สุขุมวิท เปิดโครงการช่วงปลายปี
และการเปิดตัวโครงการ Jurassic World: The Experience บนพื้นที่เอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์ เดสติเนชั่น ซึ่งคาดว่าจะเปิดตัวช่วงเดือน ก.ค. ตั้งเป้าดึงดูดนักท่องเที่ยว 2,000 คนต่อวัน ซึ่งจะเพิ่ม Traffic ให้เอเชียทีคได้ประมาณ 10%
นอกจากนี้ ในปีถัดไป AWC ยังมีโครงการที่กำลังพัฒนาและเตรียมเปิดตัวต่อเนื่อง และยังมองหาโอกาสลงทุนในตลาดอยู่เสมอ ซึ่งบริษัทได้เตรียมวงเงินพร้อมสำหรับการลงทุนเป็น 3 เท่าของงบลงทุนในแผน 5 ปี (ปี 68-72) ที่ตั้งไว้เบื้องต้นประมาณ 1 แสนล้านบาท ทำให้บริษัทมั่นใจได้ว่าเมื่อมีโอกาสในการลงทุนก็จะสามารถปรับเปลี่ยนแผนกลยุทธ์การลงทุนได้ทันที
นางวัลลภา ไตรโสรัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ AWC กล่าวว่า จากสถานการณ์ท่องเที่ยวปัจจุบันที่เริ่มชะลอตัวลง บริษัทมองว่าต้องหาจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวคุณภาพที่อาจต้องสร้างความมั่นใจเป็นอีกกลยุทธ์หนึ่ง ขณะที่กลุ่มท่องเที่ยวเพื่อประชุมสัมนาอาจต้องรอจังหวะในการกระตุ้นต่อ แนะหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องช่วยกันโปรโมท หาโมเดลสร้างความพิเศษในประเทศ เพื่อดึงดูดการท่องเที่ยว รวมทั้งเรียกคืนบรรยากาศความเชื่อมั่นให้กลับมา
*ไตรมาส 1/68 กำไร New High 1,969 ล้านบาท
สำหรับผลประกอบการ AWC ในไตรมาส 1/68 สร้างรายได้รวม 6,191 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) และมีกำไรสุทธิ 1,969 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 23% (YoY) โดยมีกำไรจากการดำเนินงานสูงถึง 3,417 ล้านบาท เติบโต 15.3 (YoY) และมีอัตราผลตอบแทน EBITDA ต่อทรัพย์สินถาวร (EBITDA Yield) อยู่ที่ 10.0% เติบโต 13.6% (YoY) พร้อมประกาศจ่ายเงินปันผลจากผลประกอบการอันแข็งแกร่งของปี 2567 ในวันที่ 28 พฤษภาคม 2568 ด้วยอัตรา 0.075 บาทต่อหุ้น เพิ่มขึ้น 50% จากปีก่อนหน้า สะท้อนความมุ่งมั่นในการสร้างผลตอบแทนที่มั่นคงและยั่งยืนให้แก่ผู้ถือหุ้น
จากความสำเร็จของกลยุทธ์ Growth-Led Strategy ที่มุ่งเน้นการเติบโตอย่างยั่งยืนในทุกกลุ่มธุรกิจ ด้วยการเร่งพัฒนาแปลงทรัพย์สินที่อยู่ระหว่างการพัฒนาให้เป็นทรัพย์สินดำเนินงาน และการเร่งผลักดันศักยภาพของทรัพย์สิน (Asset Stage Movement) เพื่อสร้างกระแสเงินสดที่มั่นคงและยั่งยืน พร้อมขยายพอร์ตทรัพย์สินคุณภาพในกลุ่มโรงแรมและการบริการและกลุ่มธุรกิจคอมเมอร์เชียลอย่างต่อเนื่องในโรงแรม มีเลีย พัทยา โฮเต็ล ประเทศไทย โครงการเวิ้งนครเกษม เยาวราช โครงการ Jubilee Prestige Tower และโครงการ โรงแรม เจดับบลิว แมริออท แบงก์ค็อก รัชดาภิเษก ซึ่งพัฒนาภายใต้แนวคิด AWC’s Lifestyle Destination ที่สามารถสร้างกระแสเงินสดให้กับบริษัทได้อย่างทันที เสริมความแข็งแกร่งของมูลค่าทรัพย์สินรวมให้เติบโตสู่ 209,374 ล้านบาท เพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่า จากปี 2562 โดยมีมูลค่าทรัพย์สินดำเนินงานของบริษัท ณ ไตรมาสนี้อยู่ที่ 161,567 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.0% จากไตรมาสก่อน (QoQ) พร้อมสร้างกระแสเงินสดเติบโตก้าวกระโดด
*กลุ่มธุรกิจโรงแรมเติบโตแข็งแกร่ง สร้างกระแสเงินสดอย่างต่อเนื่อง
แม้เศรษฐกิจไทยช่วงต้นปีเผชิญกับความผันผวนและท้าทาย แต่ AWC ยังคงเดินหน้าตามแผนกลยุทธ์ดึงดูดลูกค้าคุณภาพ โดยกลุ่มธุรกิจโรงแรมและการบริการของ AWC เติบโตต่อเนื่อง ด้วยทรัพย์สินคุณภาพในทำเลท่องเที่ยวสำคัญทั่วประเทศ สร้างรายได้รวมกว่า 3,642 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.4% (YoY) โดยมีรายได้เฉลี่ยต่อวัน (ADR) ทำสถิติสูงสุดใหม่ที่ 6,663 บาทต่อคืน เพิ่มขึ้น 5.8% (YoY)
ขณะที่ RevPAR อยู่ที่ 4,992 บาท เพิ่มขึ้น 6.0% (YoY) และเมื่อเปรียบเทียบกับพอร์ตโรงแรมเดิมในปี 67 จะมี RevPAR อยู่ที่ 5,072 บาท เติบโต 7.7% (YoY) สูงกว่าตลาด 4 เท่า และเพิ่มขึ้นมากกว่า 27% จากปี 62 สะท้อนถึงการเติบโตอย่างแข็งแกร่ง
กำไรจากการดำเนินงาน (EBITDA) ของกลุ่มธุรกิจโรงแรมและการบริการอยู่ที่ 1,497 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) จากการเติบโตในทุกเซ็กเมนต์ โดยเฉพาะกลุ่มรีสอร์ทระดับลักชัวรีในจุดหมายปลายทางยอดนิยม ทั้งเกาะสมุย และกระบี่ ที่มี RevPAR เติบโตถึง 10.5% (YoY) ในขณะที่โรงแรมในกรุงเทพฯ และโรงแรมกลุ่มประชุมสัมมนา (MICE) ยังสามารถเติบโตได้ดีเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเช่นกัน
พอร์ตโฟลิโอโรงแรมของ AWC ยังคงแข็งแกร่งด้วยดัชนีการสร้างรายได้ (Revenue Generation Index หรือ RGI) เฉลี่ยอยู่ที่ 103 โดยเฉพาะกลุ่มรีสอร์ทระดับลักชัวรีและโรงแรมในกรุงเทพฯ ที่มี RGI สูงถึง 119 และ 117 ตามลำดับ นอกจากนี้รายได้จากธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มยังคงเติบโตโดดเด่น โดย “เอ-ญ่า” รูฟทอป แอท ดิ เอ็มไพร์ เป็นหนึ่งในร้านอาหารที่สร้างรายได้สูงสุด ยืนยันถึงศักยภาพของการบริหารทรัพย์สินคุณภาพ และการร่วมมือกับเครือข่ายพันธมิตรระดับโลกที่สามารถเข้าถึงกลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพ High-to-Luxury ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
*กลุ่มธุรกิจคอมเมอร์เชียลแข็งแกร่ง ด้วยโมเดล AWC’s Lifestyle Destination
AWC ร่วมดูแลและสร้างความเชื่อมั่นให้กับพันธมิตรผู้เช่า ทำให้ไตรมาสที่ผ่านมามีอัตราการรักษาผู้เช่า (Retention Rate) สูงเป็นประวัติการณ์ถึง 99% แม้ภาพรวมในตลาดมีอัตราการโยกย้ายสูงก็ตาม โดยเฉพาะกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ระดับโลกยังคงเชื่อมั่นในโมเดลอันเป็นเอกลักษณ์ของ AWC อาทิ โมเดลพื้นที่ Co-living และไลฟ์สไตล์ภายในอาคารสำนักงาน รวมถึงสิทธิประโยชน์อื่นๆ สำหรับพันธมิตรจากกลุ่มโรงแรมในเครือ รวมถึงการให้ความสำคัญกับการพัฒนาอาคารภายใต้มาตรฐานอาคารสีเขียว และมาตรฐานความปลอดภัยและความแข็งแกร่งของอาคาร เพื่อดูแลผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย
ด้วยความมุ่งมั่นของการพัฒนาอาคารคุณภาพระดับโลกอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้กลุ่มธุรกิจคอมเมอร์เชียลของ AWC เติบโตแข็งแกร่ง ด้วยการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพและการพัฒนาภายใต้แนวคิด AWC’s Lifestyle Destination ครอบคลุมทั้งธุรกิจศูนย์การค้าและอาคารสำนักงาน โดยได้รับแรงสนับสนุนเพิ่มเติมจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐช่วงต้นปี โดยในส่วนของธุรกิจศูนย์การค้า ภายหลังการปรับกลยุทธ์ให้ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของกลุ่มเป้าหมาย อาทิ ศูนย์การค้าพันธุ์ทิพย์ ไลฟ์สไตล์ ฮับ เชียงใหม่ และพันธุ์ทิพย์ แอท งามวงศ์วาน ส่งผลให้ผลการดำเนินงานดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านอัตราการเช่าพื้นที่และอัตราค่าเช่าที่เติบโตได้ดีเมื่อเทียบกับปีก่อน
ขณะที่โครงการเอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์ เดสติเนชั่น ยังคงเติบโตอย่างแข็งแกร่งจากจำนวนผู้ใช้บริการที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับอัตราการเช่าพื้นที่และอัตราค่าเช่าที่ฟื้นตัวต่อเนื่องหลังสถานการณ์โควิด ด้านอาคารสำนักงาน AWC มุ่งพัฒนาแนว Lifestyle Workplace เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้เช่าคุณภาพสูงในยุคใหม่ ส่งผลให้ในไตรมาสนี้ กลุ่มธุรกิจคอมเมอร์เชียลมีรายได้รวม 2,386 ล้านบาท เติบโต 16.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) และมีกำไรจากการดำเนินงาน (EBITDA) ที่ 2,055 ล้านบาท เติบโต 17.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) ช่วยสร้างกระแสเงินสดที่มั่นคงให้แก่บริษัทได้อย่างต่อเนื่อง
*ขยายพอร์ตทรัพย์สินคุณภาพ เสริมศักยภาพการท่องเที่ยวไทยสู่ระดับโลก
AWC เดินหน้าขยายพอร์ตทรัพย์สินคุณภาพเพื่อสนับสนุนประเทศไทยสู่การเป็นจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวยั่งยืนระดับโลก โดยมีไฮไลท์สำคัญ อาทิ การเปิดตัวโรงแรม มีเลีย พัทยา โฮเต็ล ประเทศไทย ซึ่งเป็นโรงแรมแห่งแรกของบริษัทในพัทยา ภายใต้โครงการ The Aquatique Destinations Pattaya การเปิด คลับอินเตอร์คอนติเนนตัล และ เดอะ ไอ สปา ที่ โรงแรม อินเตอร์คอนติเนนตัล เชียงใหม่ แม่ปิง โฮเทล โดดเด่นด้วยเอกลักษณ์ศิลปวัฒนธรรมล้านนา ดึงกลุ่มสมาชิกคุณภาพจากเครือ IHG สู่ประเทศไทย และการเปิดโซน Food Lounge ใหม่ที่ศูนย์การค้าเกทเวย์ เอกมัย สร้างจำนวนผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นก้าวกระโดดตอบโจทย์ลูกค้าย่านเอกมัยที่มีอัตราการใช้จ่ายในระดับกลางถึงสูง
และ AWC ยังเดินหน้าขยายพอร์ตในกลุ่มธุรกิจโรงแรมและคอมเมอร์เชียลด้วยโครงการ Jubilee Prestige Tower จุดหมายปลายทางพื้นที่สันทนาการครบวงจรใหญ่ที่สุดแห่งแรกสำหรับ Leisure MICE ช่วยสร้างกระแสเงินสดได้ทันที โดยมีทั้งอาคารสำนักงาน และอาคารโรงแรมที่จะพัฒนาเป็นโรงแรม เจดับบลิว แมริออท แบงก์ค็อก รัชดาภิเษก พร้อมทั้งเริ่มก่อสร้าง เวิ้งนครเกษม เยาวราช โครงการมิกซ์ยูสระดับแลนด์มาร์กขนาดใหญ่สุดของ AWC และพื้นที่จอดรถขนาดใหญ่ เชื่อมต่อใจกลางย่านเยาวราชด้วยบริการรถแทรมไฟฟ้า เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวยั่งยืน
นอกจากนี้ AWC ยังเตรียมสร้างความตื่นเต้นต่อเนื่องในไตรมาส 2 สำหรับกลุ่มลูกค้าครอบครัว ด้วยแผนเปิดตัว โรงแรม พัทยา แมริออท รีสอร์ต แอนด์ สปา และการเปิดตัวโครงการ Jurassic World: The Experience ที่จะร่วมสร้างความประทับใจและคุณค่าระยะยาวบนพื้นที่เอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์ เดสติเนชั่น โดยการเติบโตเหล่านี้ไม่เพียงสะท้อนถึงมูลค่าทางธุรกิจที่เพิ่มขึ้นของพอร์ตทรัพย์สินคุณภาพของ AWC แต่ยังตอกย้ำศักยภาพในการสร้างกระแสเงินสดอย่างมั่นคงและยั่งยืนในระยะยาว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 พ.ค. 68)
Tags: AWC, ชยานนท์ หอพัตราภรณ์, ธุรกิจโรงแรม, แอสเสท เวิรด์ คอร์ป