GULF ท็อปฟอร์ม Q1/68 Core Profit ทำ All Time High รับธุรกิจพลังงาน-ส่วนแบ่งกำไรจาก INTUCH

บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ [GULF] เปิดเผนส่ ผลการดำเนินงานไตรมาส 1/68 บริษัทฯ มีรายได้รวม (total revenue) อยู่ที่ 32,343 ล้านบาท ซึ่งอยู่ในระดับใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรจากการดำเนินงาน (core profit) อยู่ที่ 5,335 ล้านบาท สูงสุดเป็นประวัติการณ์ เพิ่มขึ้น 28% จาก 4,152 ล้านบาทในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

โดยบริษัทฯ รับรู้ส่วนแบ่งกำไร core profit จากการลงทุนในบมจ.อินทัช โฮลดิ้ง [INTUCH] จำนวน 1,927 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 22% จาก 1,575 ล้านบาท ในไตรมาส 1/67 โดยมีสาเหตุหลักมาจากผลประกอบการของบมจ.แอดวาน์ อินโฟร์ เซอร์วิส [ADVANC] ที่ดีขึ้น ซึ่งเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของ ARPU ซึ่งมุ่งเน้นจำหน่ายแพ็กเกจที่มีมูลค่าสูงขึ้น การส่งเสริมการใช้งานเครือข่าย 5G ประกอบกับการบริหารต้นทุนและค่าใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ

กำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ในไตรมาส 1/68 จำนวน 11,445 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21% เมื่อเทียบกับ 9,427 ล้านบาท ในไตรมาส 1/67 ในขณะที่กำไรสุทธิ (net profit) ส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่ (รวมผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยน) ในไตรมาส 1/68 เท่ากับ 5,395 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 54% จาก 3,499 ล้านบาท

โรงไฟฟ้ากลุ่ม GPD เดินเต็มสูบ

ผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นของกลุ่มบริษัทฯ มีสาเหตุหลักมาจากการเติบโตของธุรกิจโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ โดยไตรมาส 1/68 เป็นไตรมาสแรกที่บริษัทฯ รับรู้ผลกำไรเต็มไตรมาสครบทั้ง 4 หน่วย (2,650 เมกะวัตต์) ของโครงการโรงไฟฟ้ากัลฟ์ ปลวกแดง (GPD) ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้า IPP ภายใต้กลุ่ม IPD ซึ่งทยอยเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ตั้งแต่ปี 2566 ถึงปี 2567 นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังรับรู้ผลกำไรเต็มไตรมาสของโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติหินกอง (HKP) ซึ่งได้เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ครบทั้ง 2 หน่วย (1,540 เมกะวัตต์) โดยหน่วยที่ 2 ได้เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ไปเป็นที่เรียบร้อยในเดือนมกราคม 2568

นอกจากนี้ ในไตรมาส 1/68 บริษัทฯ เริ่มรับรู้ผลกำไรจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน (solar farms) และโครงการพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน (solar farms with battery energy storage systems) ในประเทศ จำนวน 5 โครงการ (532 เมกะวัตต์) ซึ่งบริษัทฯ ถือหุ้นในสัดส่วน 100% และได้เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในเดือนธันวาคม 2567 โดยบริษัทฯ รับรู้ผลกำไรจากโครงการดังกล่าวจำนวน 206 ล้านบาท ในไตรมาสนี้ นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังรับรู้ส่วนแบ่งกำไร core profit จากโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมภายใต้กลุ่ม Gulf Gunkul จำนวน 226 ล้านบาท ในไตรมาส 1/68 เพิ่มขึ้น 147% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากความเร็วลมเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้นจาก 4.8 เมตร/วินาที ในไตรมาส 1/67 เป็น 6.6 เมตร/วินาที ในไตรมาสนี้

อย่างไรก็ตาม ในไตรมาส 1/68 บริษัทฯ รับรู้ส่วนแบ่งกำไร core profit จากกลุ่ม GJP น้อยลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยลดลง 68% จาก 542 ล้านบาท ในไตรมาส 1/67 เป็น 175 ล้านบาท ในไตรมาสนี้ เนื่องจากโครงการ IPP ทั้ง 2 โครงการภายใต้กลุ่ม GJP ได้แก่ โรงไฟฟ้ากัลฟ์ หนองแซง (GNS) และโรงไฟฟ้ากัลฟ์ อุทัย (GUT) มีการปิดซ่อมบำรุงตามแผนงาน C- inspection และ A-inspection ตามลำดับ ในไตรมาสนี้ ขณะเดียวกัน กลุ่มโรงไฟฟ้า SPP จำนวน 7 โครงการภายใต้กลุ่ม GJP มีอัตรากำไรขั้นต้นจากการขายไฟฟ้าให้กลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมที่ลดลงเล็กน้อย จากราคาค่า Ft เฉลี่ยที่ลดลง โดยค่า Ft เฉลี่ยลดลงจาก 0.40 บาท/กิโลวัตต์-ชั่วโมง ในไตรมาส 1/67 เป็น 0.37 บาท/กิโลวัตต์-ชั่วโมง ในไตรมาส 1/68 ในขณะที่ราคาก๊าซธรรมชาติเฉลี่ยลดลงจาก 334.54 บาท/ล้านบีทียู ในไตรมาส 1/67 เป็น 331.16 บาท/ล้านบีทียู ประกอบกับปริมาณการขายไฟฟ้าให้ลูกค้าอุตสาหกรรมที่ลดลง โดยมี load factor เฉลี่ยลดลงจาก 60% ในไตรมาส 1/67 เป็น 56% ในไตรมาสนี้ เนื่องมาจากความต้องการใช้ไฟที่ลดลงในกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมสิ่งทอและปิโตรเคมีภัณฑ์

นอกจากนี้ กลุ่มโรงไฟฟ้า SPP จำนวน 12 โครงการภายใต้กลุ่ม GMP มีกำไรที่ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี จากปริมาณการขายไฟฟ้าให้ กฟผ. ที่ลดลง โดยมีสาเหตุหลักมาจากโรงไฟฟ้า SPP จำนวน 3 โครงการภายใต้กลุ่ม GMP มีการหยุดซ่อมบำรุงใหญ่ (C-inspection) ตามแผนงานในไตรมาส 1/68 ประกอบกับ Ft ที่ลดลงตามที่กล่าวมาข้างต้น อย่างไรก็ตาม สัดส่วนของปริมาณการขายไฟฟ้าให้แก่ลูกค้าอุตสาหกรรมในกลุ่มบริษัทฯ มีเพียง 6% ของปริมาณการขายไฟฟ้าทั้งหมด บริษัทฯ จึงได้รับผลกระทบเพียงเล็กน้อย สำหรับโครงการโรงไฟฟ้ากัลฟ์ ศรีราชา (GSRC) ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้า IPP ภายใต้กลุ่ม IPD มีกำไรที่ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการรับรู้ค่าใช้จ่ายบำรุงรักษา (maintenance expense) ที่เพิ่มขึ้นภายใต้สัญญาให้บริการซ่อมบำรุง (Long- term Service Agreement) เนื่องมาจากการซ่อมบำรุงตามแผนงานของทั้ง 4 หน่วยผลิต

ในส่วนของธุรกิจก๊าซ บริษัทฯ รับรู้ส่วนแบ่งกำไร core profit จากโครงการ PTT NGD จำนวน 242 ล้านบาท ในไตรมาส 1/68 เพิ่มขึ้น 14% จาก 211 ล้านบาท ในไตรมาส 1/67 เนื่องจากราคาน้ำมันเตาสูงขึ้นในอัตราที่สูงกว่าต้นทุนก๊าซธรรมชาติ ซึ่งราคาขายส่วนใหญ่ของโครงการ PTT NGD จะอิงกับราคาน้ำมันเตา ในขณะที่ต้นทุนจะขึ้นอยู่กับราคาก๊าซธรรมชาติ นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังเริ่มรับรู้ core profit จากธุรกิจจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (LNG Shipper) ภายใต้ GLNG สำหรับการนำเข้า LNG เพื่อรองรับการผลิตไฟฟ้าของโครงการโรงไฟฟ้า GSRC GPD และ SPP 19 โครงการ ในส่วนของลูกค้าอุตสาหกรรม และรับรู้กำไร core profit จาก HKH ในการนำเข้า LNG สำหรับโรงไฟฟ้า HKP โดยบริษัทฯ รับรู้ผลกำไรรวมทั้งสิ้นจำนวน 93 ล้านบาท ในไตรมาส 1/68

สำหรับธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน บริษัทฯ รับรู้กำไรค่าก่อสร้างตามสัญญาสัมปทาน สำหรับงานถมทะเลของโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 จำนวน 48 ล้านบาท ในไตรมาส 1/68 ซึ่งลดลง 60% จาก 119 ล้านบาท ในไตรมาส 1/2567 เนื่องจากมีการบันทึกรายได้และกำไรตามความคืบหน้าในการก่อสร้าง โดยงานถมทะเลสำหรับโครงการ MTP3 ได้ดำเนินการแล้วเสร็จเป็นที่เรียบร้อยในระหว่างไตรมาส 1/68

ณ วันที่ 31 มีนาคม 2568 บริษัทฯ มีสินทรัพย์รวม 522,478 ล้านบาท หนี้สินรวม 376,802 ล้านบาท และส่วนของผู้ถือหุ้น 145,676 ล้านบาท โดยมีอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (net interest-bearing debt to equity) อยู่ที่ 1.96 เท่า เพิ่มขึ้นจาก 1.80 เท่า ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2567 จากหนี้สินระยะยาวที่เพิ่มขึ้นจากการออกและจำหน่ายหุ้นกู้จำนวน 30,000 ล้านบาท ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

ปลายปีนี้ COD 7 โครงการรวม 597MW

นางสาวยุพาพิน วังวิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน เปิดเผยว่า “การควบรวมกิจการระหว่างบริษัทฯ และ INTUCH ได้เสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และได้จัดตั้งบริษัทใหม่ภายใต้ชื่อ บมจ. กัลฟ์ ดีเวลลอปเมนท์ [GULF] ซึ่งได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2568 ทั้งนี้ บริษัทใหม่ภายหลังการควบรวมมีฐานธุรกิจที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้น ทั้งในด้านธุรกิจพลังงานและธุรกิจดิจิทัล พร้อมด้วยฐานะทางการเงินที่มั่นคงมากขึ้น โดยภายหลังการควบรวม บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้ปรับเพิ่มอันดับเครดิตองค์กรของ GULF จากระดับ “A+” เป็น “AA-”

พร้อมทั้งปรับเพิ่มอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน เป็นระดับ “AA-” โดยในปี 2568 คาดว่ารายได้จะเติบโตขึ้นประมาณ 25% จากการทยอยเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ของโรงไฟฟ้าใหม่ประมาณ 1,500 เมกะวัตต์ ได้แก่ โครงการ HKP หน่วยผลิตที่ 2 กำลังการผลิตติดตั้ง 770 เมกะวัตต์ ที่ได้เริ่มจำหน่ายไฟฟ้าเรียบร้อยตามกำหนดในเดือนมกราคมที่ผ่านมา โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน (solar farms) และโครงการพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน (solar farms with battery energy storage systems) ภายในประเทศ ที่มีแผนเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์เพิ่มอีก 7 โครงการ ในช่วงปลายปีนี้ โดยมีกำลังการผลิตติดตั้งรวม 597 เมกะวัตต์

ในขณะที่โครงการ solar rooftop ภายใต้ GULF1 คาดว่าจะดำเนินการจ่ายไฟฟ้าให้กับลูกค้าเพิ่มอีกประมาณ 100 เมกะวัตต์ อีกทั้ง GULF1 ยังได้เปิดตัวโครงการ “วันอาทิตย์” ซึ่งมุ่งขยายธุรกิจไปสู่กลุ่มลูกค้าครัวเรือนและที่อยู่อาศัย โดยนำเสนอบริการติดตั้ง solar rooftop แบบครบวงจร ภายใต้แนวคิดประหยัดพลังงาน และส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดอย่างยั่งยืน

ในส่วนของธุรกิจก๊าซ ในปีนี้ กลุ่มบริษัทฯ มีแผนขยายการนำเข้า LNG เพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 70 ลำ หรือประมาณ 4-5 ล้านตัน เพื่อรองรับการผลิตไฟฟ้าของโครงการโรงไฟฟ้า GSRC GPD HKP และ SPP 19 โครงการ ในส่วนของลูกค้าอุตสาหกรรม ซึ่งจะสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจก๊าซอย่างต่อเนื่อง และทำให้บริษัทฯ รับรู้รายได้จาก shipper fee เพิ่มขึ้น โดยในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2568 มีการนำเข้า LNG ไปแล้วจำนวน 19 ลำ หรือประมาณ 1.3 ล้านตัน

สำหรับธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภค โครงการต่าง ๆ ที่อยู่ระหว่างการพัฒนายังคงเป็นไปตามแผน โดยโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายบางใหญ่-กาญจนบุรี (M81) มีกำหนดจะเปิดดำเนินการในปี 2568 ขณะที่สายบางปะอิน-นครราชสีมา (M6) มีกำหนดจะเปิดดำเนินการในปี 2569 ในส่วนของโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดเฟส 3 ณ ปัจจุบัน ได้ดำเนินการถมทะเลเสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อย และมีแผนที่จะเริ่มก่อสร้างสถานีรับ-จ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG terminal) ในไตรมาส 4/68 อีกทั้งโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 มีกำหนดรับมอบพื้นที่จากการท่าเรือแห่งประเทศไทยเพื่อเริ่มก่อสร้างท่าเทียบเรือในช่วงปลายปีนี้

ในขณะที่ธุรกิจดิจิทัลยังเป็นอีกหนึ่งกลุ่มธุรกิจที่ช่วยผลักดันการเติบโตของบริษัทฯ โดยธุรกิจศูนย์ข้อมูล (data center) มีแผนที่จะทยอยเปิดให้บริการเฟสแรกขนาด 25 เมกะวัตต์ ในเดือนพฤษภาคมปีนี้ โดยบริษัทฯ วางแผนที่จะขยายขนาดการให้บริการเพิ่มขึ้นเป็น 100-200 เมกะวัตต์ ภายใน 3 ปีข้างหน้า ในขณะที่ธุรกิจ cloud ซึ่งบริษัทฯ ได้ร่วมมือกับ Google เพื่อให้บริการ Google Distributed Cloud air-gapped มีแผนเปิดให้บริการในช่วงครึ่งปีหลังของ 2568 เพื่อรองรับความต้องการในการประมวลผลและจัดเก็บข้อมูลที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพสำหรับทั้งภาครัฐและภาคองค์กร

Q4/68 เตรียมออกหุ้นกู้ 2-3 หมื่นลบ.

นอกจากนี้ เพื่อรองรับการเติบโตของกลุ่มบริษัทฯ และเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการโครงสร้างทางการเงิน บริษัทฯ มีแผนการออกหุ้นกู้เพิ่มเติมในปีนี้ ซึ่งก่อนการควบรวมกิจการ บริษัทฯ เคยได้รับมติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นให้สามารถออกและเสนอขายหุ้นกู้ได้ในวงเงินไม่เกิน 210,000 ล้านบาท โดยภายหลังการควบรวมแล้วเสร็จ มติดังกล่าวได้สิ้นผลบังคับลงตามกฎหมาย

ดังนั้น GULF จึงกำหนดจัดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นขึ้นในวันที่ 30 พฤษภาคม 2568 เพื่อขออนุมัติวงเงินออกและเสนอขายหุ้นกู้ใหม่จำนวนไม่เกิน 300,000 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันบริษัทฯ มียอดหุ้นกู้ที่ยังไม่ครบกำหนดไถ่ถอนอยู่จำนวน 185,550 ล้านบาท โดยคาดว่าจะทยอยออกหุ้นกู้เพิ่มเติมในช่วง 5-10 ปีข้างหน้า ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อรองรับการขยายธุรกิจในอนาคต และชำระคืนเงินกู้และหุ้นกู้ที่ยังไม่ครบกำหนดไถ่ถอนตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น ทั้งนี้ GULF มีแผนจะออกหุ้นกู้เพิ่มเติมอีกประมาณ 20,000 – 30,000 ล้านบาทในไตรมาส 4 ปี 2568

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 พ.ค. 68)

Tags: , , ,